พระสิงคาลมาตาเถรี (ตอนที่ 4)

0
25

พระสิงคาลมาตาเถรี (ตอนที่ ๔)
๓๐ มีนาคม ๒๕๖๗

ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ พระบรมศาสดาทรงประทานโอวาสแก่สิงคาลกคฤหบดีบุตร ถึงหลักการดูผู้ที่ควรเป็นมิตรแท้และทรงชี้ให้เห็นลักษณะอันเป็นโทษของบุคคลที่มีลักษณะเป็นมิตรเทียมแล้ว จึงได้ทรงตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

บัณฑิตรู้แจ้งมิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรปอกลอก ๑ มิตรดีแต่พูด ๑ มิตรหัวประจบ ๑ มิตรชักชวนในทางฉิบหาย ๑ ว่าไม่ใช่มิตรแท้ ดังนี้แล้ว พึงเว้นเสียให้ห่างไกล เหมือนคนเดินทางเว้นทางที่มีภัย ฉะนั้น ฯ

ดูกรคฤหบดีบุตร มิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ มิตรแนะประโยชน์ ๑ มิตรมีความรักใคร่ ๑ ท่านพึงทราบว่า

เป็นมิตรมีจิตใจดี [เป็นมิตรแท้] ฯ

ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรที่มีอุปการะ มีลักษณะเป็นไฉน ดูกรคฤหบดีบุตรท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้มีลักษณะ ๔ จำพวก คือ รักษาเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ รักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้ ๑ เมื่อกิจที่จำต้องทำเกิดขึ้นเพิ่มทรัพย์ให้สองเท่า [เมื่อมีธุระช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก] ๑ ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยลักษณะ ๔ จำพวก ดังกล่าวมานี้แล ฯ

ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะเป็นไฉน ดูกรคฤหบดีบุตร ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้มีลักษณะ ๔ จำพวก คือ บอกความลับ [ของตน] แก่เพื่อน ๑ ปิดความลับของเพื่อน ๑ ไม่ละทิ้งในเหตุอันตราย ๑ แม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ ๑

ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยมีลักษณะ ๔ จำพวก ดังที่กล่าวมานี้แล ฯ

ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรแนะประโยชน์ มีลักษณะเป็นไฉน ดูกรคฤหบดีบุตร ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้มีลักษณะ ๔ จำพวก คือ ห้ามขาดจากความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑ บอกทางสวรรค์ให้ ๑ ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรแนะประโยชน์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยมีลักษณะอันเป็นคุณ ๔ จำพวกดังกล่าวมานี้แล ฯ

ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ มีลักษณะเป็นไฉน ดูกรคฤหบดีบุตร ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้มีลักษณะ ๔ จำพวก คือ ไม่ยินดีด้วยความเสื่อมของเพื่อน ๑ ยินดีด้วยความเจริญของเพื่อน ๑ ห้ามคนที่กล่าวโทษเพื่อน ๑ สรรเสริญคนที่สรรเสริญเพื่อน ๑ ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยลักษณะ ๔ จำพวกดังกล่าวมานี้แล ฯ

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงทรงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

ดูกรคฤหบดีบุตร บัณฑิตทั้งหลายย่อมเป็นผู้รู้แจ้งชัดในมิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ มิตรแนะประโยชน์ ๑ มิตรมีความรักใคร่ ๑ ว่าเป็นมิตรแท้ ฉะนี้แล้ว พึงเข้าไปนั่งใกล้โดยความเคารพเหมือนมารดากับบุตร ฉะนั้น บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมรุ่งเรืองส่องสว่าง ดุจดังดวงประทีป เมื่อบุคคลออมโภคสมบัติอยู่เหมือนดังแมลงผึ้งสร้างรัง โภคสมบัติย่อมถึงความสั่งสมเพิ่มพูนดุจดังจอมปลวกอันตัวปลวกก่อขึ้น ฉะนั้น

เช่นนี้แหละ คฤหัสถ์ในตระกูลผู้มีปัญญาสามารถ ครั้นสะสมโภคสมบัติได้อย่างนี้แล้ว พึงแบ่งโภคสมบัติออกเป็นสี่ส่วน เขาย่อมสมานมิตรไว้ได้ พึงใช้สอยโภคสมบัติด้วยส่วนหนึ่ง พึงประกอบการงานด้วยสองส่วนพึงเก็บส่วนที่สี่ไว้ด้วย เพื่อมีไว้ใช้จ่ายยามเกิดอันตราย และเกิดความจำเป็น ดังนี้ ฯ

ดูกรคฤหบดีบุตร ก็อริยสาวกเป็นผู้ปกปิดทิศทั้ง ๖ อย่างไร (ผู้ไม่สะดุ้งกลัวต่ออำนาจใดๆ จากทิศทั้ง ๖) พึงปฏิบัติตนอยู่ในทิศ ๖ เหล่านี้ อย่างนี้ ว่า

พึงทราบมารดาบิดาว่าเป็นทิศเบื้องหน้า

ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา

บุตรและภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง

มิตรและอำมาตย์เป็นทิศเบื้องซ้าย

ทาสและกรรมกรเป็นทิศเบื้องต่ำ

สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน ฯ

ดูกรคฤหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า อันบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยความตั้งใจไว้ว่าท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ ๑ เราจักรับทำกิจกรรมการงานของท่าน ๑ จักดำรงวงศ์สกุล ๑ จักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก ๑ และเมื่อท่านทำกาลกิริยาละไปแล้ว จักทำบุญอุทิศส่วนกุศลทักษิณาให้แก่ท่าน ๑ ฯ

ดูกรคฤหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าอันบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ เช่นกัน คือ ห้ามจากความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ ให้ศึกษาศิลปวิทยา ๑ หาภรรยาที่สมควรให้ ๑ มอบทรัพย์ให้ในสมัยที่เห็นสมควร ๑ ฯ

ดูกรคฤหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าอันบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องหน้านั้น ชื่อว่า อันบุตรกระทำให้บังเกิดความเกษมสำราญ ไม่มีภัยใดๆ ด้วยประการฉะนี้ ฯ

นี่แค่โลกียธรรม ยังทรงแสดงได้ละเอียด สุขุม ลุ่มลึก ชัดเจนถึงเพียงนี้ ในยุคปัจจุบันจะมีบุคคลใดสามารถน้อมนำมาปฏิบัติตามได้ครบทั้ง ๖ ทิศมั้ยหนอ

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid035uPHW7bY6wEYJzwrYm2GvN76VfutvVw7jh4obxC7oYWZbaU8mVa827hS6h9hcGGgl