ประวัติของพระธรรมทินนาเถรี (ตอนที่ 2)

0
44

ประวัติของพระธรรมทินนาเถรี (ตอนที่ ๒)
๒๔ มกราคม ๒๕๖๗

ตอนที่แล้วจบลงตรงที่ ภิกษุณีธรรมทินนาเถรี ได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว นางจึงเข้าไปในกรุงราชคฤห์ เพื่อเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา และเพื่อจะโปรดหมู่ญาติ

ฝ่ายวิสาขอุบาสกผู้บรรลุพระอนาคามิผล ผู้เป็นอดีตสามีของนางธรรมทินนา ก็คิดว่า ชะรอยนางภิกษุณีธรรมทินนาคงจะทนต่อความทุกข์ยากลำบากขณะไปจาริกอยู่ตามชนบทชายป่ามิได้ จึงรีบกลับมาสู่ละแวกบ้าน เพื่อแสวงหาความสุขสบายทางโลก

สิ่งที่วิสาขอุบาสกคิดได้ล่วงรู้ไปถึงนางภิกษุณีธรรมทินนาเถรี

ขณะที่นางอยู่ในสำนักของพวกนางภิกษุณี วิสาขอุบาสกก็ได้เข้าไปสนทนาเพื่อดูภูมิธรรมของนางภิกษุณี

ภิกษุณีธรรมทินนาเถรี จึงได้แสดงธรรมว่าด้วยเรื่องการถือตัวถือตนเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจอุปาทานทั้ง ๕

ภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ไม่ได้มีความคิดว่าเราจะเข้า ว่าเรากำลังเข้าอยู่ หรือว่าเราเข้าแล้ว ซึ่งสัญญาเวทยิตนิโรธ ก็แต่ความคิดอันนำเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น อันท่านให้เกิดแล้วตั้งแต่แรก

(อธิบายว่า ภิกษุผู้มีความเพียร เพ่งอยู่ ตั้งมั่นปรารถนาที่จักเข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธ โดยมิต้องมาตั้งความปรารถนาในระหว่างทาง และไม่ต้องมีการกำหนด ว่าเรากำลังจักเข้าสมาบัติ นั้นก็เป็นเพราะจิตดวงแรก ที่ตั้งความปรารถนาด้วยอำนาจแห่งสมาธิในชั้นอุปจาระ ย่อมส่งผลให้จิตดวงต่อๆ มา ทำการสืบต่อความปรารถนาของจิตดวงแรก ที่ตั้งความปรารถนาจนสำเร็จประโยชน์ดังมุ่งหวัง)

(สัญญาเวทยิตนิโรธ หมายถึงการเข้าถึงความดับสัญญา (ความจำ) และเวทนา (ความรับอารมณ์) ทั้งหมด ซึ่งสามารถดับได้ถึง 7 วัน เรียกว่าเข้านิโรธสมาบัติ เรียกย่อว่า เข้านิโรธ เรียกเต็มว่า เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ)

โดยเมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ธรรม คือ วจีสังขารจะดับก่อน ต่อจากนั้นกายสังขารจะดับ ส่วนจิตตสังขารจะดับทีหลัง

ภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ไม่ได้มีความคิดว่าเราจะออก ว่าเรากำลังออก หรือว่าเราออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ก็แต่ความคิดอันนำเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น อันท่านให้เกิดแล้วแต่แรก

(อธิบายว่า การจักเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธได้ ก็ต้องมีความเพียร มีการเพ่งจิต จนถึงสมาธิในขั้นอุปจาระ แล้วตั้งความปรารถนา หรือกำหนดว่า เราจักเข้าสมาบัติในขั้นสัญญาเวทยิตนิโรธ ตั้งแต่นี้จนถึงกาลที่เท่าไหร่ หรืออีกจำพวกหนึ่งก็คือ กำหนดว่าจะเข้า แต่ไม่กำหนดว่าจะออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธเมื่อไหร่ ทั้ง ๒ จำพวกต้องขึ้นอยู่กับกำลังสมาบัติด้วยว่า ตั้งมั่น แข็งแรงมากน้องเพียงใด)

โดยเมื่อออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ธรรม คือ จิตตสังขารจะเกิดขึ้นก่อน ต่อ จากนั้นกายสังขารก็เกิดขึ้น ส่วนวจีสังขารจะเกิดขึ้นทีหลัง

ภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ย่อมถูกต้องด้วยผัสสะ ๓ ประการ ได้แก่

ผัสสะชื่อสุญญตะ (รู้สึกว่าว่าง) ผัสสะชื่ออนิมิตตะ (รู้สึกว่าไม่มีนิมิต) และผัสสะชื่ออัปปณิหิตะ (รู้สึกว่าไม่มีที่ตั้ง) และภิกษุนั้นมีจิตน้อมไปในวิเวก โอนไปในวิเวก เอนไปในวิเวก

เวทนามี ๓ ประการก็จักเกิดตามมา คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา

สุขเวทนา คือ ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขสำราญ อันเป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต โดยสุขเวทนา เป็นสุขเพราะตั้งอยู่ เป็นทุกข์เพราะแปรไป

(อธิบายคำว่า เป็นทุกข์ เพราะแปรไปหรือเปลี่ยนไป นั่นก็หมายความว่า เมื่อภิกษุผู้ละเสียซึ่งความเพียรในสมาบัติ เมื่อมาจากสมาบัติแล้ว ย่อมมีอาการดังที่ท่านได้กล่าวมา สุดท้าย ก็ต้องมาตกอยู่ในกระแสเวทนาทั้ง ๓ ประการ ตามลำดับจนเมื่อสุขจางลง ความทุกข์ที่สูญหายไปก็ย่อมเกิดขึ้นแทนที่ แต่มิใช่ทุกที่เกิดจากสังขาร แต่เป็นทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากความสุขนั้นเอง)

ทุกขเวทนา คือ ความเสวยอารมณ์ที่เป็นทุกข์ อันเป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต โดยทุกขเวทนา เป็นทุกข์เพราะตั้งอยู่ เป็นสุขเพราะแปรไป

อทุกขมสุขเวทนา คือ ความเสวยอารมณ์ที่มิใช่ความสำราญ และมิใช่ความไม่สำราญ เป็นส่วนกลางมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ อันเป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต โดยอทุกขมสุขเวทนา เป็นสุขเพราะรู้ชอบ เป็นทุกข์เพราะรู้ผิด

(อธิบายว่า เมื่อจิตเกิดความสูญเสีย ความสุข เป็นความสุขที่เกิดจากสมาบัติ มิใช่ความสุขที่เกิดจากกามคุณทั้ง ๕ เศษเสี้ยวหนึ่งของสติและปัญญา ที่ได้เคยสั่งสมมา ทำให้เห็นทางที่จะออกจากทุกข์นั้น จิตจึงเข้าไปอยู่อทุกขมสุขเวทนา หรือสุขก็มิใช่ ทุกข์ก็มิใช่ เช่นนี้จึงชื่อว่า เป็นสุขเพราะความรู้ชอบ เป็นทุกข์ก็เพราะหลงผิด)

ราคานุสัย เป็นอนุสัยที่ตามนอนอยู่ในสุขเวทนาแต่ไม่ทั้งหมด และเป็นธรรมที่จะพึงละได้ในสุขเวทนาแต่ไม่ทั้งหมด

ปฏิฆานุสัย เป็นอนุสัยที่ตามนอนอยู่ในทุกขเวทนาแต่ไม่ทั้งหมด และเป็นธรรมที่จะพึงละได้ในทุกขเวทนาแต่ไม่ทั้งหมด

อวิชชา เป็นอนุสัยที่ตามนอนอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา และเป็นธรรมที่จะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนาแต่ไม่ทั้งหมด

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม จากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกมีวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่ ย่อมละราคานุสัยด้วยปฐมฌานนั้น ราคานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในปฐมฌานนั้น

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นอยู่ว่า เมื่อไร เราจะได้บรรลุอายตนะที่พระอริยะทั้งหลายบรรลุแล้วอยู่ในบัดนี้ เมื่อภิกษุนั้นเข้าไปตั้งความปรารถนาในวิโมกข์ทั้งหลายอันเป็นอนุตตรธรรมอย่างนี้ โทมนัสย่อมเกิดขึ้น เพราะความปรารถนาเป็นปัจจัย ท่านละปฏิฆะได้ด้วยความโทมนัสนั้น ปฏิฆานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในความโทมนัสนั้น

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ย่อมละอวิชชาได้ด้วยจตุตถฌานนั้น อวิชชานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในจตุตฌานนั้น จึงได้รู้ชัดว่า

ราคะเป็นส่วนเปรียบแห่งสุขเวทนา

ปฏิฆะเป็นส่วนแห่งเปรียบแห่งทุกขเวทนา

อวิชชาเป็นส่วนเปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา

วิชชาเป็นส่วนเปรียบแห่งอวิชชา

วิมุติเป็นส่วนเปรียบแห่งวิชชา

นิพพานเป็นส่วนเปรียบแห่งวิมุติ

ส่วนนิพพานไม่มีส่วนเปรียบ เพราะพรหมจรรย์หยั่งลงในพระนิพพาน มีพระนิพพานเป็นที่ถึงในเบื้องหน้า มีพระนิพพานเป็นที่สุด

(อธิบายว่า ท่านแสดงว่านิพพานไม่สามารถหยิบยกเอามาเปรียบกับอารมณ์ใดๆ ได้ ทั้งยังไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา หรือสิ่งของ และวัตถุธาตุใดๆ ด้วย แต่เป็นสภาวธรรมที่เมื่อบุคคลใดมีเหตุปัจจัยอันพร้อมมูล ที่เกิดมาจากการวาง ว่าง ดับ และเย็น อันสมบูรณ์ เมื่อนั้นสภาวนิพพานก็ลุถึงได้)

ลำดับนั้น วิสาขอุบาสก ชื่นชม อนุโมทนา ภาษิตของธรรมทินนาภิกษุณี แล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลเรื่องที่ตนสนทนาธรรมกถากับธรรมทินนาภิกษุณี

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ธรรมทินนาภิกษุณีผู้นี้เธอเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก แม้เป็นพระองค์ก็พึงพยากรณ์เนื้อความนั้นเหมือนที่ธรรมทินนาภิกษุณีพยากรณ์แล้ว

วิสาขอุบาสกกราบทูลนัยแห่งคำถามและคำตอบทั้งหมดแด่พระศาสดา พระศาสดาทรงสรรเสริญพระเถรีนั้นด้วยพระพุทธพจน์ว่า วิสาขะ ภิกษุณีธัมมทินนาเป็นบัณฑิตเป็นต้น ได้ประกาศการพยากรณ์ปัญหาเทียบกับพระสัพพัญญุตญาณ ทรงทำจูฬเวทัลลสูตรนั้นแลให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่อง ทรงตั้งพระธัมมทินนาเถรีนั้นไว้ในตำแหน่งเลิศของภิกษุณีผู้เป็นธรรมกถึก

แล้วทรงตรัสแสดงอดีตชาติของภิกษุณีธรรมทินนาเถรีให้แก่วิสาขอุบาสกและหมู่ภิกษุทั้งหลายได้สดับความว่า

จบก่อนนะจ๊ะ นั่งสะอึกอยู่นานแล้ว จนไปหาน้ำฉัน

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0MyMCSLo1Rp4oFyvtBmA4gYGBiDDVa8ZN57j6XkjMmwTqKScxHisMHr4c26ooM7AKl