ประวัตินางสิริมา

0
131

ประวัตินางสิริมา
๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

บิดาของนางไม่ปรากฏแน่ชัด มารดาของนางชื่อ สารวดี เป็นหญิงนครโสเภณี ในกรุงราชคฤห์ ได้ให้กำเนิดลูก ๒ คน ชาย ๑ หญิง ๑

คนแรกเป็นชาย จึงจ้างให้คนเอาไปทิ้ง เพราะไม่สามารถสืบต่ออาชีพได้

ต่อมา อภัยราชกุมาร พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จมาพบเข้า และตรัสถามราชบุรุษว่า เด็กคนนี้ยังมีชีวิตอยู่หรือ ราชบุรุษทูลว่า ยังมีชีวิตอยู่พระเจ้าข้า เจ้าชายอภัยราชกุมารจึงทรงสั่งให้ราชบุรุษเก็บเด็กนั้นมาเลี้ยง แล้วประทานนามว่า “ชีวกะ” แปลว่า “ผู้มีชีวิต” ด้วยเพราะเหตุที่เป็นผู้อันเจ้าชายเลี้ยงจึงได้มีสร้อยนามต่อท้ายว่า โกมารภัจจ์ แปลว่า ผู้อันพระราชกุมารเลี้ยง

ส่วนคนที่สองเป็นหญิง นางหญิงนครโสเภณีนั้นได้เลี้ยงเอาไว้สืบอาชีพตามตน ตั้งชื่อลูกว่า “สิริมา” แปลว่า ผู้มีรูปร่างงดงาม

เมื่อกุมารีสิริมาโตขึ้นมา นางเป็นหญิงที่มีความงดงามจนผู้ชายทุกคนที่ได้พบเห็นนาง เกิดอาการหลงใหลดังต้องมนต์ ปรารถนาจะได้ร่วมหลับนอนกับนาง

ต่อมาได้รับตำแหน่งสืบทอดจากสารวดีผู้เป็นแม่ นับแต่นั้นมา บุรุษผู้ใดหากต้องการที่จะนอนกับนางสิริมาจะต้องจ่ายทรัพย์คืนหนึ่งสูงถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ

เนื่องจากนางมีรูปร่างงดงาม และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในศิลปะอันเป็นวิชาชีพ จึงมีพวกบุรุษทั้งหลายรับนางไปบำเรอโดยจ่ายทรัพย์ให้นางเป็นค่าตอบแทนตามราคาที่นางกำหนดไว้ นางสิริมาจึงร่ำรวยด้วยอาชีพเป็นโสเภณี

วันหนึ่ง อุบาสิกานามว่า อุตตรา ซึ่งเป็นธิดาของท่านปุณณเศรษฐี ผู้เป็นภริยาของสุมนเศรษฐีบุตร ต้องไปอธิษฐานอุโบสถเดือนละ ๘ วัน จึงว่าจ้างนางสิริมา หญิงงามเมืองมาบำรุงบำเรอสามีแทนตน ส่วนตนและหญิงบริวารก็จัดหาของเคี้ยวของฉัน เพื่อถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวก

ฝ่ายนางสิริมา เมื่อบำรุงบำเรอสุมนเศรษฐีบุตรนานวันเข้าจึงคิดว่า สุมนเศรษฐีเป็นสามีของตนเอง นางสิริมาจึงเกิดความหึงหวงคิดประทุษร้ายต่ออุตตรา ผู้เป็นภริยาของสุมนเศรษฐีบุตร

วันหนึ่ง นางอุตตราและสามีของนางยืนอยู่ด้านนอกตรงหน้าต่าง นางสิริมายืนดูที่หน้าต่างด้วยความริษยา หึงหวง นางจึงใช้น้ำมันร้อนๆ เทราดไปบนศีรษะของนางอุตตรา ซึ่งนางอุตตราเองมีปกติเจริญมหาสติอยู่เนืองนิตย์ น้ำมันร้อนๆ นั้นก็มิอาจกระทำอันตรายใดๆ แก่นางได้ไม่

ด้วยเหตุที่นางอุตตราเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเข้าฌาน พระบรมศาสดาจึงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในการเพ่งฌาน หรือผู้เข้าฌาน

ต่อมานางสิริมา แม้จักพยายามหาทุกวิถีทางที่จะกำจัดนางอุตตรา ออกไปจากสุมนเศรษฐี ก็มิอาจทำอันตรายใดๆ แก่นางอุตตราได้ จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา และระลึกถึงความผิดของตนแล้วเข้าไปกราบแทบเท้านางอุตตราขอโทษ และทูลขอขมาโทษพระบรมศาสดา

นางอุตตราและนางสิริมา จึงนิมนต์พระภิกษุสงฆ์โดยมีพระพระบรมศาสดาเป็นประมุขมาฉันภัตตาหาร ทรงทำภัตกิจกับภิกษุสงฆ์เสร็จแล้ว ในเรือนของนางอุตตรา พร้อมทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่นางสิริมาว่า

พึงชำนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ,

พึงชำนะคนไม่ดี ด้วยความดี,

พึงชำนะคนตระหนี่ ด้วยการให้ปัน,

พึงชำนะคนพูดพล่อยๆ ด้วยคำจริง.

นางก็ทำใจหยุดนิ่ง ปล่อยใจไปตามพระกระแสเสียง จนได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันในขณะนั้น

นางสิริมานั้น ครั้นบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว กราบพระบรมศาสดา รุ่งขึ้นถวายทานเป็นอันมาก แล้วได้ตั้งอัฏฐกภัต คือ อาหารที่กำหนดจำนวนพระภิกษุวันละ ๘ รูป เพื่อพระสงฆ์ไว้เป็นประจำ.

ตั้งแต่นั้นมา ภิกษุ ๘ รูปก็มาเรือนนางเป็นประจำเพื่อรับอัฏฐกภัตที่นางถวาย

นางเอ่ยปากว่า “นิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายรับเนยใส รับนมสด” ดังนี้เป็นต้นแล้ว (บรรจุภัต) ให้เต็มบาตรของภิกษุเหล่านั้น. อาหารบิณฑบาตที่ภิกษุรูปหนึ่งได้แล้ว ย่อมเพียงพอแก่ภิกษุ ๓ รูปบ้าง ๔ รูปบ้าง. นางถวายบิณฑบาตด้วยการจับจ่ายทรัพย์ไปเพื่อกาลนี้ถึง ๑๖ กหาปณะทุกวัน.

ภิกษุสงฆ์ที่มาฉันภัตตาหารที่บ้านของนาง บางรูปที่ยังไม่หมดกิเลส เมื่อกลับไปถึงวัด ก็ได้เล่าให้เพื่อนสหธรรมิกฟังว่า

“นางสิริมาทำอาหารถวายประณีตมาก ภัตตาหารที่ภิกษุรูปหนึ่งได้รับนั้น เพียงพอสำหรับภิกษุถึง ๓-๔ รูป แต่การได้เห็นนาง ดียิ่งกว่าไทยธรรมที่นางถวายเสียอีก เพราะนางเป็นหญิงที่สวยงามมาก”

ภิกษุรูปหนึ่งได้ฟังถ้อยคำพรรณนาคุณของนาง เกิดความเสน่หาขึ้นมาจับใจ ปรารถนาจะได้เห็นนางสิริมาบ้าง

วันรุ่งขึ้น ภิกษุใหม่นั้นจึงถึงคิวที่จักต้องไปรับอาหารบิณฑบาตรที่บ้านของนางสิริมา

ขณะที่นางสิริมาเองก็กำลังล้มป่วย แต่นางก็ยังมีจิตศรัทธาปรารถนาบำเพ็ญทานอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยอาการเจ็บป่วยของนาง นางจึงมิอาจเดินออกไปใส่บาตรได้ด้วยตนเองได้แต่ใช้เหล่าทาสีว่า

แม่คุณเอ๋ย พวกเจ้าจงรับบาตรนิมนต์ให้ท่านนั่ง ให้ท่านดื่มข้าวต้ม แล้วถวายของเคี้ยว เวลาอาหารจงบรรจุบาตรให้เต็มแล้วถวาย.

ทาสีเหล่านั้นรับคำว่าดีแล้วแม่นาย แล้วนิมนต์ให้ท่านเข้าไปให้ดื่มข้าวต้มถวายของเคี้ยว เวลาอาหารบรรจุอาหารเต็มบาตรแล้วจึงกลับมาบอกนาง.

นางกล่าวว่า พวกเจ้าจงมาช่วยกันพยุงเราไป จักไหว้พระผู้เป็นเจ้า แล้วทาสีเหล่านั้นช่วยกันพยุงนางไปหาภิกษุทั้งหลาย ไหว้ภิกษุทั้งหลายด้วยเรือนร่างที่สั่นเทาอยู่.

ภิกษุนั้นดูนางแล้วก็คิดว่า นางกำลังป่วย รูปยังงามถึงเพียงนี้ เวลานางไม่ป่วย ประดับด้วยอาภรณ์ครบถ้วนจักงามสักเพียงไหน. ขณะนั้นกิเลสที่สะสมไว้หลายโกฏิปีของภิกษุใหม่นั้นก็ฟุ้งขึ้น.

ภิกษุนั้นไม่มีญาณ ไม่อาจฉันอาหาร ได้ถือบาตรกลับวิหารปิดบาตรเก็บไว้ ณ ที่แห่งหนึ่ง คลี่ชายจีวรลงปูนอนแล้วเอาแต่เพ้อฝัน หวนคำนึงระลึกถึงแต่รูปโฉมอันงดงามของนางสิริมา.

ขณะนั้น ภิกษุผู้สหายของภิกษุใหม่รูปหนึ่งจึงมาอ้อนวอนให้ภิกษุใหม่ลุกขึ้นอาบน้ำอาบท่า ฉันภัตตาหาร ไปทำกิจวัตรของสมณสารูป แต่ภิกษุใหม่นั้นก็ไม่อาจที่จะลุกขึ้นฉันอาหารได้. ภิกษุนั้นนอนอดอาหารด้วยความคิดถึงแต่นางสิริมา

และในเวลาเย็นวันนั้นนั่นเอง นางสิริมาก็ตาย.

พระราชาทรงส่งข่าวไปทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางสิริมาน้องสาวของหมอชีวก บัดนี้ได้ตายลงเสียแล้ว พระเจ้าข้า.

พระศาสดาทรงทราบข่าวนั้นแล้ว ทรงส่งข่าวถวายพระราชาว่า อย่าเพิ่งทำฌาปนกิจสิริมา ขอได้โปรดนำไปป่าช้าผีดิบ ให้นอนอยู่บนตั่งแล้ว ให้รักษาไว้โดยไม่ให้คนและสัตว์แม้ฝูงกาเป็นต้นมาทำอันตรายแก่ศพนางได้

พระราชาก็ทรงปฏิบัติตามพระพุทธประสงค์.

ล่วงเวลาไป ๓ วันตามลำดับ วันที่ ๔ ร่างของนางสิริมาก็พองขึ้น.

เหล่าหนอนก็ไหลออกจากปากแผลทั้ง ๙.

ทั่วเรือนร่างก็เป็นเหมือนถาดข้าวสาลีแตก.

พระราชาก็โปรดให้ตีกลองป่าวประกาศไปในพระนครว่า ยกเว้นเด็กเฝ้าบ้านเสีย คนที่ไม่มาดูนางสิริมา ต้องเสียค่าปรับไหม ๘ กหาปณะ ทรงส่งข่าวไปทูลพระศาสดา พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเสด็จมาดูศพของนางสิริมา.

พระศาสดาจึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า พวกเราจักไปดูนางสิริมา.

ภิกษุหนุ่มใหม่รูปนั้นไม่เชื่อฟังคำของใครๆ นอนอดอาหารอยู่ ๔ วัน.

อาหารในบาตรก็บูด บาตรก็ขึ้นสนิม.

ภิกษุรูปนั้นถูกเพื่อนภิกษุเข้าไปหาพูดว่า

ท่าน พระศาสดาจะเสด็จไปดูนางสิริมานะ แม้จะถูกความหิวครอบงำ แต่พอได้ยินเพื่อนภิกษุออกชื่อว่าสิริมา ก็รีบลุกขึ้นถามว่าท่านพูดอะไร ถูกเพื่อนภิกษุกล่าวว่า พระศาสดาจะเสด็จไปดูนางสิริมา ตัวท่านจักไปไหมเล่า.

ก็ตอบว่า ไปสิขอรับ แล้วเทอาหารทิ้ง ล้างบาตรเก็บใส่ถลก ก็ไปพร้อมกับภิกษุสงฆ์.

พระศาสดามีหมู่ภิกษุแวดล้อม ประทับยืนอยู่ข้างหนึ่ง ทั้งภิกษุสงฆ์ ทั้งราชบุรุษ ทั้งอุบาสกบริษัท ทั้งอุบาสิกาบริษัท ก็พากันยืนอยู่แต่ละข้างๆ.

พระศาสดาตรัสถามพระราชาว่า ถวายพระพรมหาบพิตร นั่นใครนอนตายอยู่

พระราชาทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้องสาวของหมอชีวก ชื่อสิริมา พระเจ้าข้า.

ตรัสถามว่า นั่นสิริมาหรือ.

ทูลว่า พระเจ้าข้าขอรับ.

ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น โปรดให้ตีกลองป่าวประกาศไปในพระนครว่า คนทั้งหลายจงให้ทรัพย์พันหนึ่งแล้วรับสิริมาเอาไปยังเรือนของตนได้เลย

พระราชาตรัสสั่งให้ปฏิบัติตามพระพุทธประสงค์.

บรรดาคนเหล่านั้น ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่จะพูดว่าฉันรับ.

พระราชาจึงกราบทูลพระศาสดาว่า ไม่มีคนรับ พระเจ้าข้า.

ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น ก็จงลดราคาลงมาสิ มหาบพิตร.

พระราชาก็ให้ตีกลองป่าวประกาศว่า ใครให้ทรัพย์ ๕๐๐ ก็จงรับสิริมาไป ไม่ทรงเห็นใครๆ ที่จะรับ จึงให้ตีกลองป่าวประกาศลดราคาลง ๒๕๐, ๒๐๐, ๑๐๐, ๕๐, ๒๕, ๒๐, ๑๐, ๕, ๑ กหาปณะ ครึ่งบาท ๑ มาสก ๑ กากณึก, ให้เปล่าๆ [ไม่คิดราคา]

บรรดาชนแม้เหล่านั้น ก็ไม่มีใครพูดว่าฉันรับๆ

พระราชาจึงกราบทูลว่า ให้เปล่าๆ ก็ไม่มีคนรับ พระเจ้าข้า.

พระศาสดาทรงแสดงว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงดูมาตุคามซึ่งเป็นที่รักของมหาชน แต่ก่อน คนทั้งหลายในพระนครนี้ให้ทรัพย์พันหนึ่ง ก็ได้นางไปตลอดวันหนึ่ง บัดนี้ให้เปล่าๆ ก็ไม่มีคนรับ นามรูปเห็นปานนี้ ถึงความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา ทำให้งดงามด้วยเครื่องประดับภายนอกก็ยังมีแผล โดยปากแผลทั้ง ๙ อันกระดูก ๓๐๐ ท่อนสร้างเป็นโครงขึ้น อาดูรเดือดร้อนอยู่เป็นประจำ ชื่อว่ามีความดำริมาก เพราะมหาชนผู้เขลาดำริโดยส่วนมากอย่างเดียว อัตภาพที่ไม่ยั่งยืน ดังนี้.

จึงตรัสพระคาถาว่า

ปสฺส จิตฺตกตํ พิมฺพํ อรุกายํ สมุสฺสิตํ

อาตุรํ พหุสงฺกปฺปํ ยสฺส นตฺถิ ธุวํ ฐิตี.

เธอจงดูรูปกาย ที่ปัจจัยทำให้งดงาม มีแผล กระดูกสร้างเป็นโครงขึ้น มีความเดือดร้อน มีความดำริมาก ซึ่งไม่มีความยืนยงคงที่เลย

เมื่อจบพระธรรมเทศนาลงธรรมาภิสมัย คือการรู้ธรรม ได้เกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลเป็นอันมาก ส่วนภิกษุรูปนั้นสามารถปล่อยจิตไปตามกระแสธรรม ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันในขณะนั้นเอง

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02hfRV6APRa6bQCyJvyr9M1tvAu17MeH6cv33NcTr2ZhDBdQqEWJnzCiwwX1bzwVjMl