บทสรุป หลักการพิจารณาธาตุลมและธาตุไฟ

0
91

หมวด : กรรมฐาน – จตุธาตุววัฏฐาน 4
เรื่อง : บทสรุป หลักการพิจารณาธาตุลมและธาตุไฟ
บทความ : 25 ก.ย. 2566
โดย : หลวงปู่พุทธะอิสระ
วัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
รับชมย้อนหลังได้ที่ : https://youtu.be/Ip79_Il1zok
รับชมครบทุกตอนได้ที่ :
Website: https://issaradhamchannel.com/tag/จตุธาตุววัฏฐาน-4
YouTube: https://www.youtube.com/playlist?list=PL6Ru9Ju-iZKqkvGgNYgy2GKPPyzzXBoGG

——————————————–

บทสรุป หลักการพิจารณาธาตุลมและธาตุไฟ
๒๕ กันยายน ๒๕๖๖

เราท่านทั้งหลายได้เรียนรู้ศึกษาถึงบทสรุปของธาตุดิน ๒๐ ธาตุน้ำ ๑๒ ผ่านไปแล้ว โดยมีหลักพิจารณาคือ

โดยสี โดยสัณฐาน(รูปร่าง) โดยที่อยู่ โดยหน้าที่ และโดยความปฏิกูลพึงรังเกียจ

วันนี้เราท่านทั้งหลายมาตามดู เรียนรู้ศึกษา ถึงธาตุลม ๖ กอง และไฟ ๔ กอง กันต่อ

ธาตุลมและไฟในร่างกายไม่ปรากฏสีชัดเจนนัก

มีกลิ่นแต่เฉพาะธาตุลมเท่านั้น ส่วนธาตุไฟหามีกลิ่นไม่

ส่วนสัณฐานหรือรูปร่าง ยิ่งนำมาใช้กับธาตุลมและธาตุไฟหามีไม่

และหากจะว่าโดยที่อยู่ด้วยแล้ว ธาตุลมกับธาตุไฟ ไม่มีที่อยู่ที่แน่นอนในร่างกายนี้ แต่จะชำแรกแทรกอยู่ไปทั่วสรรพางค์กาย ไม่เว้นแม้แต่ผิวหนัง

ส่วนหากจะพิจารณาโดยหน้าที่นั้น ธาตุลมทั้ง ๖ กอง และธาตุไฟทั้ง ๔ กอง มีหน้าที่ทั้งให้คุณและโทษต่อธาตุดินและธาตุน้ำพอๆ กัน

ถ้าพิจารณาโดยปฏิกูลพึงน่ารังเกียจ ธาตุลมไม่ชัดเจนนัก จะมีก็แต่กลิ่นเท่านั้นที่ไม่น่าปรารถนา
ส่วนธาตุไฟนั้นก็มองไม่เห็นความปฏิกูลพึงน่ารังเกียจใดๆ

แม้เป็นเช่นนี้แต่การพิจารณาธาตุลมและธาตุไฟ ก็ยังจำเป็นต้องพิจารณาแยกแยะ แจกแจงในแต่ละขั้นตอนให้ละเอียด รอบคอบ จนกระทั่งสิ้นสงสัย เข้าใจ รู้จักถึงธรรมชาติอันแท้จริงของธาตุลมทั้ง ๖ กอง ธาตุไฟทั้ง ๔ ให้ถ่องแท้

ธาตุลมโดยปกติและธาตุลมที่เป็นทุกข์ โทษ ภัย โรคนั้นเกิดจากเหตุปัจจัยอะไร และจะดับ ก็ดับด้วยเหตุปัจจัยอะไร ไม่เว้นแม้แต่ธาตุไฟ ธาตุดิน และธาตุน้ำ หากยังไม่สามารถรู้เหตุปัจจัยแห่งการเกิดและดับของธาตุทั้ง ๔ ภายในกายนี้ ก็จักมาสรุปลงตรงหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยังไม่ได้ ไม่สมบูรณ์ ถือว่ายังมีเชื้อแห่งเหตุปัจจัยของการเกิดอยู่

แต่การที่จะพิจารณารู้สภาวธรรมที่ปรากฎตามความเป็นจริงของเหตุปัจจัยเช่นนี้ได้นั้น สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มจากกายรวมใจ ใจรวมกาย อย่างตั้งมั่น เหมาะสม แล้วพิจารณาตามกระบวนการดังกล่าวมาอย่างรอบคอบ ละเอียด ถี่ถ้วน ชัดเจน จนสิ้นสงสัย รู้แจ่มแจ้งถึงเหตุปัจจัยของการเกิดและดับทั้งธาตุที่เป็นคุณและธาตุที่เป็นโทษ จนเห็นแจ่มชัดถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีอยู่จริง

เช่นนี้จึงชื่อว่า เป็นผู้วาง ว่าง ดับ เย็น ได้อย่างสมบูรณ์

มีคำถามแทรกเข้ามาขณะที่เขียนว่า
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าธาตุดินเป็นโรค ธาตุน้ำเป็นโรค ธาตุลมเป็นโรค ธาตุไฟเป็นโรค

ตอบได้ว่า ธาตุทั้ง ๔ นอกจากอยู่ได้ด้วยวิบากแห่งกรรมแล้ว ยังดำรงอยู่ได้ด้วยสมดุลทั้ง ๘ อันได้แก่

๑. อาหาร สมดุลคือไม่มากไป ไม่น้อยไป บริโภคให้เหมาะแก่วัย เช่น ขณะเยาว์วัย คือ ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ ๑๕ – ๑๖ ไม่ควรกินอาหารที่มีรสจัดทุกชนิด เพราะจะเป็นเหตุให้ธาตุทั้ง ๔ ที่กำลังเจริญเติบโตเสียสมดุล และถูกเหนี่ยวรั้ง รบกวน ด้วยรสอาหารที่เป็นเหตุให้ธาตุทั้ง ๔ อ่อนแอ
แม้ที่สุดอายุตั้งแต่ ๔๐ ขึ้นไปก็ควรลดอาหารที่ทำลายธาตุทั้ง ๔ เช่นกัน เช่นอาหารที่มีรสจัด เครื่องดื่ม เครื่องเสพติดที่มึนเมาทั้งปวง สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ธาตุทั้ง ๔ พิการ

๒. อิริยาบถที่สมดุล ควรอยู่ในอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้เหมาะแก่วัย พอควรแก่ร่างกาย บริหารการดำรงอยู่ในอิริยาบถให้เกิดสมดุล รวมทั้งการเคลื่อนไหวออกกำลังกายก็ต้องให้เหมาะสมแก่วัย ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งไม่ควรอยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งมากเกินไป จะเป็นเหตุให้ธาตุทั้ง ๔ พิการ

๓. อุตุ คือ อากาศสมดุลควรอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเหมาะสมแก่วัย และเป็นคุณแก่ร่างกาย

๔. มีวินัยในการดำรงชีวิต เช่น ถึงเวลานอนก็ควรได้นอนหลับพักผ่อน ถึงเวลาตื่นก็ควรตื่นขึ้นมา ด้วยความสดชื่นเบิกบาน ถึงเวลากินก็ควรได้กินอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหรือจำเป็นต่อธาตุภายในร่างกาย ถึงเวลาขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ก็ควรต้องได้ถ่ายของเสียออกมา มิเช่นนั้น จักเป็นการทำร้ายธาตุภายในร่างกายให้พิการ

๕. อย่าอดกลั้นการขับถ่ายจนร่างกายมีของเสียตกค้าง แล้วกลายเป็นพิษต่อธาตุทั้ง ๔

๖. บริหารจัดการร่างกายให้เหมาะสมแก่วัย อย่ามากไป อย่าน้อยไป ไม่เว้นแม้แต่การงานที่ทำอยู่

๗. บริหารจัดการอารมณ์ให้อยู่ในสมดุล รู้จักหยิบ แล้วรู้จักวาง วางแล้วให้รู้จักว่าง ดับเย็นอยู่เนืองๆ ต่อเนื่องทุกๆ วัน

๘. รักษาสมดุลของจิตไม่ให้กระเพื่อมตามที่ตาเห็น หูฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นรับรส กายสัมผัส
ข้อควรปฏิบัติทั้ง ๘ ประการดังกล่าวมานี้เป็นการช่วยยืดอายุ ถนอมธาตุทั้ง ๔ ภายในกายนี้ให้อยู่ยาวนานได้ในระดับที่ไม่เกิดทุกข์ โทษ โรค ภัย มากนัก ได้ดีทีเดียวแหละ

คราวหน้าหากมีเวลาจะพยายามนำเอากรรมฐานกองอื่นๆ มาให้ผู้อ่านศึกษา เรียนรู้ แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติได้จริง มาเล่าสู่กันต่อไป

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0Bo7J9VrpBsxT7p2XHQE7FaF4VhiBQ9FL9KU4BczNnkTrMWuCtFsMtZPDyNJTYHsLl