และแล้ว ผู้ที่อ่อนแอ อ่อนด้อย ย่อมตกเป็นเหยื่อของผู้ที่แข็งแกร่งเสมอ

0
100

และแล้ว ผู้ที่อ่อนแอ อ่อนด้อย ย่อมตกเป็นเหยื่อของผู้ที่แข็งแกร่งเสมอ
๔ สิงหาคม ๒๕๖๖

ไม่ว่าจะกี่ปี กี่ชาติ กี่วัน กี่เดือน

ประโยคที่ว่า

ปลาเล็กมักจะตกเป็นเหยื่อของปลาใหญ่

สัตว์ใหญ่ย่อมกินสัตว์เล็ก

คนแข็งแรง ย่อมเอาเปรียบคนอ่อนแอเสมอ (หากคนใหญ่ไม่มีคุณธรรม)

หลักคิดเช่นนี้ มีอยู่ในโลกที่หมักหมม โสมมไปด้วยกลิ่นไอของกามคุณที่เข้าครอบงำ ควบคุมในพฤติกรรม คำที่พูด สูตรที่คิดของหมู่สัตว์ให้แสดงพฤติกรรมเถื่อนถ่อย เบ่งอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อม เข้าข่มขู่ คุกคาม หรือปลอบประโลม เห็นใจ

แต่สุดท้ายก็หันกลับมาทำร้ายหมู่สัตว์ผู้หลงเชื่อให้ตกเป็นเหยื่อ

ดังที่ พระบรมศาสดาได้ทรงตรัสสอนเอาไว้ว่า

ครหิตชาดก – ชาดกว่าด้วยลิงติเตียนมนุษย์

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันเพราะอำนาจกิเลสรูปหนึ่ง ตรัสให้โอวาทว่า ” ภิกษุ ธรรมดากิเลสแม้สัตว์เดรัจฉานก็ติเตียน เธอบวชในศาสนานี้แล้วเหตุไฉนจึงกระสันด้วยอำนาจกิเลสที่แม้สัตว์ก็ติเตียนเล่า ” แล้วทรงนำเรื่องที่มีในอดีตมาสาธยายว่า

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นลิงอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่ง ถูกพรานป่าจับได้แล้วนำไปถวายพระเจ้าเมืองพาราณสี พระราชามิได้สั่งทำร้ายมันกลับสั่งให้เลี้ยงมันอย่างดี ลิงนั้นอยู่ในพระราชวังหลายปีเห็นพฤติกรรมของมนุษย์มากมาย กลายเป็นสัตว์เชื่องเรียบร้อยมิได้ดุร้าย พระราชาทรงพอพระทัยและมีเมตตาต่อมันมาก จึงโปรดให้นายพรานนำกลับไปปล่อยยังป่าหิมพานต์เหมือนเดิม

ฝูงลิงเมื่อทราบว่าลิงโพธิสัตว์กลับมาแล้ว จึงประชุมกันที่ลานหินแห่งหนึ่งพร้อมกับต้อนรับและถามข่าวซักไซ้ไล่เลียงว่า ” เจ้าเพื่อนยาก ท่านหายไปไหนมาเป็นเวลานาน “

ลิงโพธิสัตว์ตอบว่า ” เราไปอยู่ที่เมืองพาราณสีมานะสิ “

” แล้วท่านออกมาได้อย่างไรละ ” ฝูงลิงถามต่อ

” พระราชาเลี้ยงเราไว้ดูเล่น แล้วก็ปล่อยมานี่แหละ ” ลิงโพธิสัตว์นั้นตอบ

ฝูงลิงถามต่อว่า ” ท่านอยู่กับมนุษย์มานาน คงพอจะทราบพฤติกรรมหรือนิสัยของมนุษย์กระมัง ลองเล่าสู่พวกเราฟังสิว่าเป็นอย่างไร “

ลิงโพธิสัตว์ ” พวกท่านอย่าถามเลย เราไม่อยากจะเล่า “

ฝูงลิง ” เล่ามาเถิด พวกเราอยากจะฟัง “

ลิงโพธิสัตว์ทนการอ้อนวอนไม่ไหวจึงพูดว่า ” ท่านทั้งหลายเอ๋ย ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ จะเป็นกษัตริย์ นักปราชญ์ นักการเมือง เศรษฐีหรือยาจก ล้วนแต่พูดคำเดียวกันอยู่เสมอว่า ของเรา ของเรา โดยที่ไม่รับรู้ถึงความไม่เที่ยง ความไม่มีอยู่เลย มีแต่คนพาลละเพื่อนเอ๋ย ” ว่าแล้วก็กล่าวติเตียนมนุษย์เป็นคาถาว่า

” มนุษย์ทั้งหลายผู้มีปัญญาเขลา ไม่เห็นอริยธรรม พูดกันแต่ว่า เงินของเรา ทองของเรา สรรพชีวิต สรรพวัตถุล้วนเป็นของเราเช่นนี้ทั้งคืนทั้งวัน แม้ในเรือนหลังหนึ่ง มีเจ้าเรือนอยู่ ๒ คน ใน ๒ คนนั้น คนหนึ่ง ไม่มีหนวด นมยาน เกล้าผมมวย และเจาะหู ถูกซื้อมาด้วยทรัพย์เป็นจำนวนมาก ชายเจ้าของเรือนนั้น พูดเสียดแทง ดุด่า ตบตีหญิงผู้นั้นตั้งแต่วันที่มาถึง “

จวบจนถึงวันที่เราจากมา ด้วยเพราะชายเจ้าของเมืองเอาแต่คิดว่า ชีวิตของหญิงทาสผู้นี้ เป็นของเราทั้งที่หญิงผู้นั้นก็คลอดลูกสืบสกุลให้แก่ชายเจ้าของเรือนนั้น

พวกลิงได้ฟังลิงโพธิสัตว์กล่าวติเตียนชาวมนุษย์อย่างนี้ก็ทนฟังไม่ได้ พากันเอามือปิดหูแล้วพูดว่า ” พอเถิด..พอละ..หยุดกล่าววาจาอันเป็นเสนียดหูให้เราฟังได้แล้ว ท่านหยุดพูดสิ่งที่เป็นอัปมงคล เดี๋ยวนี้เลย พวกเราไม่อยากฟังสิ่งที่ไม่ควรจะฟัง ” แล้วหันมาชวนเพื่อนลิงด้วยกันว่า
มาเถิดเพื่อนเอ๋ย พวกเราพากันไปล้างหูในสระอโนดาตกันเถิด

ว่าแล้วก็พากันวิ่งหนีเข้าป่าไป

ชาดกเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์ที่มักมาก หมกมุ่นอยู่ในกามคุณ และกิเลสตัณหา ย่อมไม่แยกแยะดีชั่ว ถูกผิด จักทำ พูด คิด ด้วยอำนาจของกามคุณ และตัณหาอยู่เนื่องนิจ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรวางใจดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ทรงตรัสสอนเอาไว้ว่า

– วิสฺสาสา ภยมนฺเวติ : เพราะความไว้ใจภัยจึงตามมา

– น วิสฺสเส อวิสฺสฏฺเฐ วิสฺสฏฺเฐปิ น วิสฺสเส.
“ไม่ควรไว้ใจในคนไม่คุ้นเคย แม้ในคนคุ้นเคย ก็ไม่ควรไว้ใจ”

– สงฺเกเถว อมิตฺตสฺมึ มิตฺตสฺมิมฺปิ น วิสฺสเส
ควรระแวงในศัตรู แม้ในมิตรก็ไม่ควรไว้ใจ

– ยาวเทวสฺสหู กิญฺจิ ตาวเทว อขาทิสํ
ตราบใดยังมีชิ้นเนื้อคาบไว้นิดหน่อย (หมายถึงผลประโยชน์แม้น้อยนิด) ตราบนั้นก็ยังถูกกลุ้มรุมยื้อแย่ง

– นาสฺมเส กตปาปมฺหิ. : ไม่ควรไว้ใจคนทำบาป .

– นาสฺมเส อลิกวาทิเน. : ไม่ควรไว้ใจคนพูดพล่อย ๆ .

– นาสฺมเส อตฺตตฺถปญฺญมฺหิ : ไม่ควรไว้ใจคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว .

– อติสนฺเตปิ นาสฺมเส. : ไม่ควรไว้ใจคนที่แสร้งทำสงบเสงี่ยม .

– อเปตจิตฺเตน น สมฺภเชยฺย. : ไม่ควรคบกับคนสิ้นคิด .

– น สนฺถวํ กาปุริเสน กยิรา. : ไม่ควรทำความสนิทสนมกับคนชั่ว .

**********************************

บางส่วนตอนจากกลอนนิทาน “พระอภัยมณี” ผู้แต่งสุนทรภู่

“แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน”

**********************************

ด้วยสัจจะวาจาดังกล่าวมานี้ ดูช่างเข้ากับสถานการณ์ของสังคมไทยและประเทศในยุคนี้เสียจริงๆ

เฮ้อ…ช่างน่าอนาถแท้

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02aoxHfw6D5ymMc3gH5Uqzu5qPZ6uhumrhwr2Q1tt9pPKZsFWFEy4eMnGQyeNWRpP2l