ประวัติ พระกุมารกัสสปเถระ (ตอนที่ 15)

0
46

ประวัติพระกุมารกัสสปะ (ตอนที่ ๑๕)
๕ พฤษภาคม ๒๕๖๖

ตอนที่แล้ว จบลงตรงที่ แม้พระกุมารกัสสปะ จะเพียรพยายามอธิบายขยายความให้ราชาปายาสิได้เห็นว่า การตายแล้วเกิดมีอยู่จริง ผลแห่งกรรมดี กรรมชั่วมีจริง โลกหลังความตายมีจริง
แต่องค์ราชาปายาสิก็ยังมิยอมเชื่อ

พระกุมารกัสสปะจึงต้องทูลขึ้นว่า

ดูกรบพิตร ก็อะไรเล่าเป็นเหตุให้บพิตรยังคงมีความเห็นอยู่อย่างนี้ว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี

ราชาปายาสิตรัสว่า มีอยู่ ท่านกัสสปะ ฯ

พระกุมารกัสสปะตรัสว่า เปรียบเหมือนอะไร บพิตร ฯ

ราชาปายาสิตรัสว่า ดูกรท่านกัสสปะ ราชบุรุษของข้าพเจ้าในที่นี้ จับโจรผู้ประพฤติชั่วหยาบมาแสดงแก่ข้าพเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ โจรผู้นี้ประพฤติชั่วหยาบต่อพระองค์ พระองค์ทรงปรารถนาจะลงอาชญาอย่างใดแก่โจรผู้นี้ ขอได้ตรัสบอกอาชญานั้นเถิด

ข้าพเจ้าได้บอกบุรุษพวกนั้นอย่างนี้ว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงเชือดผิวหนังของบุรุษนี้ บางทีจะได้เห็นชีวะของบุรุษนั้นบ้าง พวกเขาเชือดผิวหนังของบุรุษนั้น พวกเรามิได้เห็นชีวะของเขาเลย

ข้าพเจ้าจึงบอกบุรุษพวกนั้นว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงเชือดเนื้อ ตัดเอ็น ตัดกระดูก ตัดเยื่อในกระดูกของบุรุษนี้ บางทีจะได้เห็นชีวะของบุรุษนั้นบ้าง

พวกเขาตัดเยื่อในกระดูกของบุรุษนั้น พวกเรามิได้เห็นชีวะของเขาเลย

ดูกรท่านกัสสปะ ด้วยเหตุนี้แล ทำให้ข้าพเจ้ายังคงมีความเห็นอยู่ว่า โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มีผลวิบากกรรม ทำดีทำชั่วไม่มี ฯ

พระกุมารกัสสปะตรัสว่า ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักยกอุปมาถวายบพิตร วิญญูชนในโลกนี้ ผู้มีสติปัญญาย่อมพิจารณารู้ได้ด้วยตนเอง

ดูกรบพิตร เรื่องเคยมีมาแล้วว่า ชฎิลผู้บำเรอไฟผู้หนึ่ง อยู่ในกุฎีอันมุงบังด้วยใบไม้ ณ ที่ชายป่า
ครั้งนั้น ชนบทแห่งหนึ่งเป็นที่พักของหมู่เกวียนอยู่แล้ว หมู่เกวียนนั้น พักอยู่ราตรีหนึ่ง ในที่ใกล้อาศรมชฎิลผู้บำเรอไฟนั้น แล้วจึงหลีกไป

ลำดับนั้นชฎิลผู้บำเรอไฟนั้นมีความคิดขึ้นว่า ถ้ากระไร เราควรจะเข้าไปในที่ที่หมู่เกวียนนั้นพัก บางทีจะได้เครื่องอุปโภคอะไรในที่นั้นบ้าง

ชฎิลผู้บำเรอไฟลุกขึ้นแต่เช้า เข้าไปยังที่ที่หมู่เกวียนนั้นพัก แต่ก็มิได้เห็นกองเกวียนนั้นแล้ว แต่กลับได้เห็นเด็กอ่อนที่ชาวกองเกวียน เขาทิ้งนอนหงายไว้ในที่นั้น

ชฎิลนั้นจึงได้เกิดความคิดขึ้นว่า เมื่อเราพบเห็นอยู่ จะปล่อยให้มนุษย์ทำกาละเสียนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย ถ้ากระไร เราควรจะนำทารกนี้ไปยังอาศรม แล้วเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นจะดีกว่า

ชฎิลผู้บำเรอไฟ นำทารกนั้นไปยังอาศรมแล้ว เลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นแล้ว เมื่อทารกนั้นอายุย่างเข้า ๑๐ ปี ชฎิลผู้บำเรอไฟ มีกรณียะบางอย่างที่จะต้องออกเดินทาง

ชฎิลได้บอกแก่ทารกนั้นว่า ลูกเอ๋ย เราปรารถนาจะไปยังชนบท เจ้าพึงบำเรอไฟ อย่าให้ไฟของเจ้าดับ ถ้าไฟของเจ้าดับ นี้มีด นี้ฟืน นี้ไม้สีไฟ เจ้าพึงก่อไฟแล้วบำเรอไฟเถิด เขาสั่งทารกนั้นอย่างนี้แล้ว ได้ไปยังชนบท

ชฎิลผู้นั้นจากไปแล้ว ทารกนั้นมัวเล่นเสีย ไฟจึงดับลง ทารกนั้นนึกขึ้นได้ว่า บิดาได้บอกเราไว้อย่างนี้ว่า เจ้าพึงบำเรอไฟ อย่าให้ไฟของเจ้าดับ ถ้าว่าไฟของเจ้าดับ นี้มีด นี้ฟืน นี้ไม้สีไฟ เจ้าพึงก่อไฟแล้วบำเรอไฟเถิด

เช่นนั้น เราควรจะก่อไฟแล้วบำเรอไฟ ทารกนั้นจึงเอามีดถากไม้สีไฟ ด้วยเข้าใจว่า บางทีจะพบไฟบ้าง เขาไม่พบไฟเลย จึงผ่าไม้สีไฟออกเป็น ๒ ซีกแล้วผ่าออกเป็น ๓ ซีก ๔ ซีก ๕ ซีก ๑๐ ซีก ๒๐ ซีก แล้วเกรียกให้เป็นชิ้นเล็กๆ

ครั้นแล้ว จึงนำเศษไม้เหล่านั้นมาตำโขลกในครก โขลกแล้วจึงโปรยในที่มีลมมาก ด้วยเข้าใจว่าบางทีจะพบไฟบ้าง เขาไม่พบไฟเลย

ในเวลาต่อมา ชฎิลผู้บำเรอไฟทำกรณียะ ในชนบทสำเร็จแล้ว จึงกลับมายังอาศรมของตน จึงได้กล่าวกะทารกนั้นว่า ลูกเอ๋ย ไฟของเจ้าดับเสียแล้วหรือ

ทารกนั้นตอบว่า ข้าแต่คุณพ่อ ขอประทานโทษเถิด กระผมมัวเล่นเสียไฟจึงดับ กระผมนึกขึ้นได้ว่า พ่อได้บอกเราไว้อย่างนี้ว่า พ่อ เจ้าพึงบำเรอไฟ อย่าให้ไฟของเจ้าดับ ถ้าไฟของเจ้าดับ นี้มีด นี้ฟืน นี้ไม้สีไฟ เจ้าพึงก่อไฟแล้วบำเรอไฟเถิด ถ้ากระไร เราควรจะก่อไฟแล้วบำเรอทีนั้น

กระผมจึงเอามีดถากไม้สีไฟด้วยเข้าใจว่าบางทีจะพบไฟบ้าง กระผมมิได้พบไฟเลย จึงผ่าไม้สีไฟออกเป็น ๒ ซีก แล้วผ่าออกเป็น ๓ ซีก ๔ ซีก ๕ ซีก ๑๐ ซีก ๒๐ ซีก แล้วเกรียกให้เป็นชิ้นเล็กๆ ครั้นแล้วจึงโขลกในครก ครั้นโขลกแล้ว เอาโปรยในที่มีลมมากด้วยเข้าใจว่า บางทีจะพบไฟบ้าง กระผมไม่พบไฟเลย

ลำดับนั้น ชฎิลผู้บำเรอไฟนั้นได้มีความคิดว่า ทารกนี้ช่างโง่เหลือเกิน ไม่เฉียบแหลม จักแสวงหาไฟโดยไม่ถูกทางได้อย่างไรกัน

เมื่อทารกนั้นกำลังมองดูอยู่ ชฎิลนั้นหยิบไม้สีไฟมาสีให้เกิดไฟแล้ว ได้บอกทารกนั้นว่า เขาติดไฟกันอย่างนี้ ไม่เหมือนอย่างเจ้าซึ่งยังเขลา ไม่เฉียบแหลม แสวงหาไฟโดยไม่ถูกทาง

ดูกรบพิตร บพิตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยังทรงเขลา ไม่เฉียบแหลม ทรงแสวงหาปรโลกโดยไม่ถูกทาง ขอบพิตรจงทรงสละคืนทิฐิอันลามกนั้นเสียเถิด ขอบพิตรจงปล่อยวางทิฐิอันลามกนั้นเสียเถิด ทิฐิอันลามกนั้นอย่าได้บังเกิดมีแก่บพิตร อันมิเป็นไปเพื่อประโยชน์ แต่กลับเป็นไปเพื่อความทุกข์ สิ้นกาลนานเลย ฯ

ราชาปายาสิตรัสว่า ท่านกัสสปะ กล่าวอย่างนั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น ข้าพเจ้ายังหาอาจสละคืนทิฐิอันลามกนี้เสียได้ไม่ พระราชาปเสนทิโกศลก็ดี พระราชาภายนอกทั้งหลายก็ดี ทรงรู้จักข้าพเจ้าว่า พญาปายาสิมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี

ท่านกัสสปะ ถ้าข้าพเจ้าจะสละคืนทิฐิอันลามกนี้ ก็จักมีผู้ว่าข้าพเจ้าได้ว่า พญาปายาสิช่างโง่เขลาเหลือเกิน ไม่เฉียบแหลม มีปรกติถือสิ่งที่ผิด ข้าพเจ้าก็จักยึดทิฐินั้นไว้ เพราะความโกรธบ้าง เพราะความลบหลู่บ้าง เพราะความตีเสมอบ้าง ฯ

(การที่ราชาปายาสิกล่าวเช่นนี้นั้นก็แสดงว่า พระองค์ทรงรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรดี อะไรชั่ว รู้ว่าสัตว์เกิดแล้วต้องตาย ตายแล้วต้องเกิด ผลของกรรมดี กรรมชั่วมีอยู่จริง โลกหน้านั้นมีอยู่จริง แต่ด้วยความยึดมั่นในมิจฉาทิฐิที่ใครๆ ก็รับรู้และยอมรับในพระองค์แล้วว่า พระองค์มีทิฐิอยู่เช่นนี้มาตลอดหากจะมาเปลี่ยนความคิดเห็น ก็จะเสียหน้า เสียเกียรติ จึงยังดิ้นรน ดันทุรันถือผิดอยู่เช่นนั้น)

พระกุมารกัสสปะตรัสว่า ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักยกอุปมาถวายบพิตร บุรุษผู้เป็นวิญญูชน ย่อมพิจารณารู้เห็นตามเป็นจริง ได้ด้วยสติปัญญา

ดูกรบพิตร เรื่องเคยมีมาแล้ว พ่อค้าเกวียนหมู่ใหญ่ มีเกวียนประมาณพันเล่ม ได้เดินทางจากชนบทอันตั้งอยู่ในบุรพทิศ ไปยังชนบทอันตั้งอยู่ในปัศจิมทิศ

พ่อค้าเกวียนหมู่นั้นไปอยู่ หญ้า ฟืน น้ำ ใบไม้สด หมดเปลืองไปโดยรวดเร็ว ก็ในหมู่นั้นมีนายกองเกวียน ๒ คน คนหนึ่งมีพวกเกวียน ๕๐๐ เล่ม อีกคนหนึ่งมีพวกเกวียน ๕๐๐ เล่ม

ลำดับนั้น นายกองเกวียน ๒ คน นั้นได้ปรึกษากันว่า หมู่เกวียนหมู่ใหญ่นี้มีเกวียนประมาณพันเล่ม หากพวกเรานั้นยังรวมกันอยู่ หญ้า ฟืน น้ำ ใบไม้สด หมดเปลืองไปโดยรวดเร็ว ถ้ากระไร พวกเราควรจะแยกหมู่เกวียนหมู่ใหญ่นี้ออกเป็น ๒ หมู่

คือหมู่หนึ่งมีเกวียน ๕๐๐ เล่ม อีกหมู่หนึ่งมีเกวียน ๕๐๐ เล่ม

พ่อค้าเกวียนเหล่านั้นจึงแยกหมู่เกวียนนั้นออกเป็น ๒ หมู่แล้ว คือหมู่หนึ่งมีเกวียน ๕๐๐ เล่ม อีกหมู่หนึ่งมีเกวียน ๕๐๐ เล่ม นายกองเกวียนคนหนึ่งบรรทุกหญ้า ฟืน และน้ำเป็นอันมากแล้วขับหมู่เกวียนไปก่อน

เมื่อขับไปได้สองสามวัน หมู่เกวียนนั้นได้เห็นบุรุษผิวดำ นัยน์ตาแดง ผูกสอดแล่งธนู ทัดดอกกุมุท มีผ้าเปียก ผมเปียก แล่นรถอันงดงามมีล้อเปื้อนตมสวนทางมา ครั้นแล้วจึงได้ถามขึ้นว่า ดูกรท่าน ท่านมาจากไหน ฯ

ข้าพเจ้ามาจากชนบทโน้น ฯ

ท่านจะไปไหน ฯ

ไปยังชนบทโน้น ฯ

ในหนทางกันดารข้างหน้า ฝนตกมากหรือ ฯ

อย่างนั้นท่าน ในหนทางกันดารข้างหน้าฝนตกมาก หนทางมีน้ำบริบูรณ์ หญ้า ฟืน และน้ำมีมาก พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน น้ำของเก่าเสียเถิด เกวียนจะได้เบาจากของหนักจะไปได้รวดเร็วขึ้น วัวเทียมเกวียนก็ไม่ลำบาก

ลำดับนั้น นายกองเกวียนเรียกพวกเกวียนมาบอกว่า บุรุษผู้นี้พูดว่า ในหนทางกันดารข้างหน้า ฝนตกมาก หนทางมีน้ำบริบูรณ์ หญ้า ฟืน และน้ำมีมาก พวกท่านจงทิ้ง หญ้า ฟืน และน้ำของเก่าเสียเถิด เกวียนจะได้เบาจากของหนักจักได้เดินทางรวดเร็วขึ้น วัวเทียมเกวียนก็ไม่ลำบากด้วย

ดังนี้ พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน น้ำของเก่าเสียเถิด จงขับหมู่เกวียนไปด้วยเกวียนเบาเถิด

พวกคนขับเกวียนรับคำของนายกองเกวียนแล้ว ทิ้งหญ้า ฟืน น้ำของเก่า มีเกวียนเบาจากของหนัก ขับหมู่เกวียนไปแล้ว พวกเกวียนเหล่านั้น มิได้เห็น หญ้า ฟืน หรือน้ำ ในที่พักหมู่เกวียนตำบลแรก แม้ในที่พักหมู่เกวียนตำบลที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ที่หก แม้ในที่พักหมู่เกวียนตำบลที่เจ็ดก็มิได้เห็น หญ้า ฟืน หรือน้ำ จนคนและโคพากันอดข้าวอดน้ำ ถึงความวอดวายด้วยกันทั้งหมด มนุษย์หรือปศุสัตว์ที่อยู่ในหมู่เกวียนนั้นจึงถูกอมนุษย์ คือยักษ์จับกินได้อย่างง่ายดายเสียทั้งหมด เหลือแต่กระดูกเท่านั้น กองสุมกันอยู่มากมาย

จบไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ วันหน้าจะนำมาเล่ากันต่อ

ว่ากองเกวียนกองที่สองจะถึงความวอดวายเพราะเชื่อคนง่าย

พระชาดกเรื่องนี้ดูจะคล้ายๆ กับสถานการณ์ของคนไทยกลุ่มหนึ่งที่กำลังจะเป็นชาวเกวียน ๕๐๐ ที่ต้องย่อยยับและหลงเชื่อคำลวง

ยังไม่สายดอกนะจ๊ะพี่น้อง

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02whonSidATLvVS3Jc5SzHW97jkzSZA2PMptgF79S1WhNBEyc1mppajGVWnnWHFpfml