ประวัติพระอนุรุทธเถระ (ตอนที่ ๔)
๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
วันนี้เรามาทำความรู้จักประวัติในอดีตชาติของพระอนุรุทธเถระกันดูว่า ท่านทำกรรมอันใดถึงได้มีวาสนา มาเกิดในตระกูลกษัตริย์ศากยะราช
ทั้งยังได้เป็นถึงลูกพี่ลูกน้องพระญาติพระวงศ์ ขององค์พระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดมอีด้วย
ในอดีตชาติของพระอนุรุทธเถระนั้น ได้สั่งสมบุญบารมีเอาไว้แก่องค์พระพุทธเจ้าหลายตั้งแต่ปางก่อนๆ เช่น
ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้เกิดเป็น กุฏุมพี(ผู้มีอันจะกิน) ได้ฟังธรรมและเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงตั้งภิกษุผู้มีทิพยจักษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีทิพยจักษุท่านปรารถนาที่จะได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ เช่นนั้นในอนาคต
จึงทำมหาทานตลอด ๗ วันแด่พระศาสดาและหมู่ภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ในวันที่ ๗ ได้ถวายผ้าเนื้อดีที่สุด แด่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าและหมู่ภิกษุสงฆ์ แล้วตั้งความปรารถนาว่า ในอนาคตขอให้ได้เกิดมาเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นได้สรรเสริญตนว่า เป็นผู้เลิศทางทิพยจักษุ
ฝ่ายพระศาสดาปทุมุตตระพุทธเจ้า ได้ทรงเห็นความสำเร็จของกุฏุมพีว่าจะไม่มีอันตรายใดๆ ในขณะเวียนเกิดเวียนตายอยู่
(หมายถึง จะไม่ทำกรรมอันหนัก เช่น อนันตริยกรรม ฆ่าพระอรหันต์ทำร้ายพระพุทธเจ้า)
จนกว่าจะได้พบพระพุทธเจ้าสมณโคดม จึงพยากรณ์ว่า จักเป็นผู้เลิศในทิพยจักษุกว่าภิกษุทั้งหลาย ในศาสนาของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคตกาล และจักได้เกิดเป็นพระญาติพระวงศ์ในสกุลเดียวกันกับพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วย
เวลาต่อมาเมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว กุฏุมพีนั้นก็ได้ทำการบูชาด้วยประทีปอันโอฬาร ที่พระสถูปทองคำขนาด ๗ โยชน์ ทั้งยังได้ทำการจุดประทีปใส่ถาดสำริด
(ด้วยเหตุนี้แหละ โลหะที่เป็นสำริดจึงกลายเป็นเครื่องสื่อความหมายของความสำเร็จ นับแต่นั้นมาจนปัจจุบัน)
เพื่อน้อมถวายการบูชาพระสถูปนั้น โดยรอบตลอด ๗ โยชน์ ๗ วัน ๗ คืน แล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า จงเป็นอุปนิสัย เหตุปัจจัยส่งผลให้ทิพยจักษุบังเกิดแก่ตน หลังจากนั้นกุฏุมพีผู้นั้นก็ได้บำเพ็ญตน รักษาศีล เจริญภาวนาอยู่ตลอดชีวิต
ครั้งสิ้นชีพลงแล้วเขาได้ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลกจวบจนมาถึงสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะพุทธเจ้า ท่านกุฏุมพีนั้นก็ได้จุติมาเกิดเป็นมหาเศรษฐี ได้มีโอกาสฟังธรรมจากองค์พระสุเมธะพุทธเจ้า จนเกิดจิตเลื่อมใส
ต่อมาเมื่อองค์สุเมธะพุทธเจ้าทรงเข้าสู่นิโรธสมาบัติ มหาเศรษฐีผู้นั้นก็ได้ปฏิบัติรับใช้ทั้งยังได้จุดประทีปถวายโดยรอบถึง ๑,๐๐๐ ดวง แด่พระศาสดาอยู่ตลอด ๓ วัน ๓ คืน จนประทีปนั้นดับไปเอง
หลังจากมหาเศรษฐีนั้นตายลง ได้ไปบังเกิดในเทวโลกวนเวียนอยู่ระหว่างมนุษย์ เทวโลก จวบจนถึงสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ มหาเศรษฐีผู้นั้นก็ได้ลงมาเกิดเป็นบุตรของเศรษฐีใหญ่แห่งพระนครพาราณสี
ท่านได้ฟังธรรมจากพระกัสสปะพุทธเจ้า จนมีจิตเลื่อมใส แสดงตนเป็นผู้ถือพระรัตนไตร เมื่อองค์พระกัสสปะพุทธเจ้านิพพานแล้ว
บุตรเศรษฐีนั้นได้สร้างพระเจดีย์ทองคำองค์ใหญ่สักการะแด่พระศาสดา แล้วถือถาดสำริดใส่โคมไฟบรรจุด้วยน้ำมันวางไว้บนศีรษะ เดินเวียนรอบพระเจดีย์บูชาแด่พระศาสดาตลอดทั้งวันทั้งคืน
กาลต่อมาเป็นสมัยที่ว่างเว้นจากพระพุทธเจ้าอุบัติ ท่านได้เกิดในตระกูลคนเข็ญใจ ณ นครพาราณสี มีชื่อว่า อันนภาระ อาศัยสุมนเศรษฐี รับจ้างเป็นคนขนหญ้าของเศรษฐีนั้นเลี้ยงชีพ
สุมนเศรษฐีนั้นมีอุปนิสัยชอบทำทาน บริจาคมหาทานให้แก่คนเข็ญใจ ในพระนครนั้นตลอดกาลเป็นนิตย์
วันหนึ่งพระปัจเจกพุทธะนามว่าอุปริฏฐะ ออกจาก นิโรธสมาบัติที่เขาคันธมาทน์แล้ว ตรึกว่า “วันนี้ เราจักทำความอนุเคราะห์ แก่ใครดีหนอ?” จึงได้ทราบด้วยพระญาณ เล็งเห็นความปรารถนาของอันนภาระที่มีมาแล้วในอดีต จึงดำริว่า ” ดีหละวันนี้ เราจักทำความอนุเคราะห์แก่บุรุษ ชื่ออันนภาระ ผู้มีวาสนา ซึ่งบัดนี้ เขาขนหญ้าจากดงหญ้าแล้วกำลังจะกลับเรือน เห็นทีเราคงต้องไปดักรอเขา” คิดดังนี้แล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงถือบาตรและจีวรเหาะไปด้วยฤทธิ์ ปรากฏเฉพาะหน้าของอันนภาระมานพ
อันนภาระเห็นพระสมณะ ถือบาตรเปล่าในมือมายืนอยู่ตรงหน้า จึงถามว่า ” ท่านขอรับ ท่านได้ ภิกษามาบ้างหรือไม่ ?”
พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงตอบว่า ” ก็เราจักมาได้ภิกษาหารจากท่านผู้มีบุญนี่ไง “
อันนภาระมานพจึงกล่าวขึ้นว่า “ท่านผู้เจริญ ถ้ากระนั้น ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดรอหน่อย เถิด” ดังนี้แล้ว ก็ทิ้งหาบหญ้าไว้ ระหว่างทางแล้วรีบวิ่งไปสู่เรือนโดยเร็วพร้อมถามภรรยาว่า ” น้องหญิงผู้เจริญ ภัตส่วนที่น้องเก็บไว้เพื่อพี่มีอยู่หรือไม่? “
ภรรยาจึงตอบว่า ” มีอยู่จ๊ะพี่”
อันนภาระมานพจึงรีบวิ่งกลับมาที่พระปัจเจกพุทธเจ้าที่กำลังยืนถือบาตรรออยู่โดยเร็ว แล้วตรงเข้าไปขอรับบาตรของพระปัจเจกพุทธะวิ่งนำไปสู่เรือนของตน ด้วยความลิงโลดยินดีและคิดว่า “เวลาที่เราต้องการบำเพ็ญบุญไทยธรรมของเราก็ไม่มี
เวลาที่ไทยธรรมของเรามีปฏิคาหก ผู้รับเครื่องไทยธรรม (ของบริจาคทาน) ก็ไม่มีมา
แต่วันนี้ปฏิคาหกเราก็พบแล้ว และไทยธรรมของเราก็มีแล้ว ช่างเป็นลาภอันประเสริฐของเรายิ่งหนอ”
อันนภาระพอวิ่งถือบาตรมาถึงเรือนจึงตรงเข้าไปในโรงครัว นำอาหารที่ภรรยาจัดเตรียมเอาไว้เพื่อตนมาเทลงในบาตร แล้วเดินถือบาตรที่เต็มไปด้วยอาหารนำกลับมาถวายแด่พระปัจเจกพุทธะแล้วตั้งความปรารถนาว่า
” ด้วยผลทานอันนี้ คำว่า ไม่มีอัตคัดขัดสนจงอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า
ชื่อว่าคำว่า ไม่มี อย่ามีแล้วใน ภพน้อยภพใหญ่ ในชาติต่อๆ ไปด้วยเถิด (ด้วยเหตุแห่งคำอธิฐานนี้ เมื่ออันนภาระได้มาเกิดเป็นอนุรุทธะ จึงไม่เคยเจอต่อคำว่าไม่มีเลย)
ท่านเจ้าข้า ขอข้าพเจ้าพึงพ้นจากการเลี้ยงชีพอันฝืดเคืองเห็นปานนี้ อย่าได้ยินคำว่า ” ไม่มี ” อีกเลย.”
พระปัจเจกพุทธะกระทำอนุโมทนาว่า ” ขอความปรารถนาของท่าน จงเป็นอย่างนั้นเถิด ท่านผู้มีบุญมาก” ดังนี้แล้ว ก็หลีกไป
ในขณะที่อันนภาระทำทานอยู่เช่นนั้น เทพดาผู้สิงอยู่ในคลังมหาสมบัติแม้ของสุมนเศรษฐี จึงกล่าวว่า
” น่าชื่นใจจริง ช่างเป็นทานอันยอดเยี่ยม อันนภาระได้ถวายไว้ดีแล้วต่อพระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะ “
ดังนี้แล้วเทพยดาเหล่านั้นก็ได้สาธุการขึ้นสามครั้ง
ครั้งนั้น เศรษฐีพอได้ยินเสียงสาธุการสนั่นลือลั่นเช่นนั้น จึงกล่าวกะเทพดาเหล่านั้นว่า “พวกท่านมองไม่เห็นในเวลาที่เราบริจาคทานมาอย่างยาวนานดอกหรือ ? ทำไมไม่เห็นพวกท่านสาธุการเลย”
เทพดาเหล่านั้น จึงตอบเศรษฐีไปว่า ข้าพเจ้าเห็นการบริจาคทานของท่านแล้วไม่มีเหตุให้สาธุการ ด้วยเพราะ
๑ ท่านมิได้ให้ทานแก่ผู้มีศีล
๒ ท่านมิได้อัตคัดขัดสนแล้วจึงให้ทานเหมือนอันนภาระขัดสน แล้วยังมีจิตคิดจะให้ แม้อาหารมื้อแรกมือเดียวแห่งวัน เขายังยินดีที่จักบริจาค
พวกข้าพเจ้าเหล่าเทวาจึงได้พากันสาธุการเพราะความเลื่อมใสในบิณฑบาตที่ อันนภาระถวายแล้วแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะ.
เศรษฐีสุมนจึงคิดว่า “น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ เราถวายทานมาอย่างยาวนาน ก็ยังไม่สามารถยังให้เทพดาเปล่งสาธุการได้ อันนภาระ อาศัยเราเป็นอยู่ แค่ให้ทานอาหารมื้อแรก มื้อสุดท้ายของวันที่ตนมีแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มีศีล ยังให้เทพดาสาธุการด้วยการใส่บิณฑบาตหนเดียวเท่านั้นได้ เราจักต้องหาวิธีทำให้ทานของเขามาเป็นของๆ เราเสีย”
คิดดังนี้แล้ว เศรษฐีสุมนจึงให้เรียกอันนภาระเข้ามาถามว่า “วันนี้ เจ้าได้ให้ อะไรแก่ใครบ้าง”
อันนภาระ จึงตอบว่า นายขอรับ วันนี้ กระผมถวายภัตตาหารแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธะ
เศรษฐี เอาเถอะ พ่อ เราจักให้เอาเงินกหาปณะไป เพื่อแลกกับผลแห่งทานนั้นแก่ฉันเถิด
อันนภาระ ให้ไม่ได้ดอกนาย
เศรษฐีนั้น ขึ้นราคาให้จนถึงพันกหาปณะ
แต่อันนภาระ ก็มิได้ยินยอมที่จะรับทรัพย์นั้น
ต่อมา เศรษฐีสุมน จึงกล่าวกะเขาว่า “ผู้เจริญ ข้อนั้นจงยกไว้เถิด ถ้าเจ้าไม่ให้ผลแห่งการใส่บิณฑบาตทั้งหมดแก่เรา จงถือเอาทรัพย์พันหนึ่ง แล้วแบ่งส่วนบุญแก่ฉันเพียงเล็กน้อยเถิด”
อันนภาระจึงกล่าวว่า “กระผมปรึกษากับพระผู้เป็นเจ้าดูก่อน จักได้รู้ว่าผลบุญนี้ แบ่งส่วนกันได้หรือเปล่า”
อันนภาระจึงได้รีบไปทันพระปัจเจกพุทธะแล้วเรียนถามว่า “ท่านผู้เจริญ สุมนเศรษฐีให้ทรัพย์พันหนึ่ง แล้วขอส่วนแบ่งส่วนบุญในการใส่บิณฑบาตของท่าน กระผมจะทำอย่างไร”
ปัจเจกพุทธเจ้า เพื่อจักยกตัวอย่างให้แก่อันนภาระเข้าใจง่าย จึงได้ตั้งประเด็นคำถามว่า
“ท่านผู้เป็นบัณฑิต ประทีปที่ถูกจุดในเรือนหลังหนึ่ง มีบุรุษผู้หนึ่งนำใส้ตะเกียงที่จุ่มน้ำมันไขต่อไฟจากประทีปที่ถูกจุดแล้ว ดังนี้จักทำได้ไหม
อันนภาระ จึงตอบว่า ได้พระคุณเจ้าข้า
แล้วถ้าเรือนอื่นๆ อีก ๑๐๐ ตระกูล นำเอาใส้ตะเกียงที่ชุ่มไปด้วยน้ำมันมาขอต่อไฟจากประทีปที่ถูกจุดแล้ว เรือนอีก ๑๐๐ ตระกูลจะมีประทีปที่ถูกจุดได้หรือไม่
ได้พระคุณเจ้าข้า อันนภาระตอบ
พระปัจเจกพุทธะ. ฉันนั้นนั่นแล ท่านผู้เป็นบัณฑิต จะเป็นข้าว ยาคูกระบวยหนึ่ง หรือภิกษาทัพพีหนึ่งก็ตาม เมื่อบุคคลให้ส่วนบุญในบิณฑบาตของตนแก่ผู้อื่นอยู่ ให้แก่คนไปเท่าใด บุญเท่านั้นย่อมเจริญ
ก็ท่านได้ให้บิณฑบาตส่วนหนึ่งเท่านั้น
แต่เมื่อท่านให้ส่วนบุญแก่เศรษฐี บิณฑบาตชื่อว่าเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของท่าน ส่วนหนึ่งเป็นของเศรษฐี
อันนภาระรับว่า “ดีละ ท่านผู้เจริญข้าพเจ้าจักรีบไปแจ้งแก่ท่านเศรษฐี”
เขาจึงไหว้พระปัจเจกพุทธะนั้น แล้วรีบไปสู่เรือนของเศรษฐี กล่าวว่า “นาย ขอท่านจงรับเอาส่วนบุญของข้าพเจ้าเถิด”
เศรษฐี. ถ้ากระนั้น พ่อจงรับเอากหาปณะเหล่านี้ไป
อันนภาระ. กระผมไม่ได้ขายบิณฑบาต กระผมให้ส่วนบุญแก่ท่านด้วยศรัทธา
เศรษฐีกล่าวว่า ” เจ้าให้ด้วยศรัทธา ถึงเราก็บูชาคุณของเจ้าด้วยศรัทธา จงรับเอาไปเถิดพ่อ อนึ่ง จำเดิมแต่นี้ไป เจ้าอย่าได้ทำการงานด้วยมือของตน จงปลูกเรือนอยู่ริมถนนเถิด และจงถือเอาวัตถุทุกอย่างที่เจ้าต้องการ จากเรือนของเราที่เจ้าเห็นว่าไปขายทำกำไรได้
ต่อมาพระราชาทราบเรื่องนั้น ทรงพอพระทัยพระราชทานที่ให้เขาสร้างบ้าน เมื่อปรับพื้นที่ขุดลงไปก็พบขุมทรัพย์มหาศาลฝังอยู่ เพราะเหตุแห่งขุมทรัพย์อันมหึมานี้เอง เขาจึงได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเศรษฐีชื่อธนเศรษฐี
พุทธะอิสระ
——————————————–