เรื่องนี้ต้องขยาย : พระอานนท์ (ตอนที่ 5)

0
21

เรื่องนี้ต้องขยาย (พระอานนท์ ตอนที่ ๕)
๙ กันยายน ๒๕๖๕

พระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก นอกจากจะทำหน้าที่อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วยังได้ทำหน้าที่เป็นสมณทูตไปแจ้งข่าวแก่คณะสงฆ์ในประเด็นต่างๆ เช่น กรณีพระบรมศาสดาทรงมีรับสั่งให้เรียกประชุมหมู่สงฆ์แห่งนครเวสาลีให้มาประชุมกันฟังธรรมและเรียนรู้วิธีเจริญอานาปานสติภาวนา

เมื่อหมู่สงฆ์ชาวเวสาลีมารวมตัวกันพร้อมแล้ว องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงเรื่องที่มีมาแล้วในอดีตความว่า

ในอดีตกาล พวกพรานเนื้อ ๕๐๐ คนเอาท่อนไม้และบ่วงกับดักทำเป็นเครื่องประหาร ฆ่าเนื้อและนกเพื่อเลี้ยงชีวิตมาด้วยกันพอถึงกาลมรณะก็ไปบังเกิดในนรก.

พวกเขาหมกไหม้อยู่ในนรกนั้นเป็นเวลายาวนานแล้ว ด้วยกุศลกรรมบางอย่างที่ทำไว้ในอดีต จึงได้มาเกิดในหมู่มนุษย์ด้วยอำนาจอุปนิสัยอันงาม ทุกคนก็ได้บรรพชาและอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า.

เพราะอกุศลกรรมเดิมนั้นของหมู่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ นั้นที่ให้ผลยังไม่เสร็จ ก็ได้เข้าไปตัดรอนชีวิต ทำให้คิดฆ่าตัวตายเองบ้าง และด้วยความพยายามของคนอื่นบ้าง ภายในกึ่งเดือนที่จะมาถึงนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นถึงบุพกรรมของภิกษุทั้ง ๕๐๐ เป็นอย่างดีจึงทรงพระดำริว่า

ภิกษุเหล่านี้ เพราะความพอใจรักใคร่ในอัตภาพ จะทำให้กลัวมรณภัยแล้ว จะไม่ศึกษาวิธีปฏิบัติกรรมฐานเพื่อชำระจิต

เอาเถิด เราจะแสดงอสุภกถาเพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นละความพอใจรักใคร่ ในกายตน พวกเธอเมื่อได้ฟังอสุภกถานั้นแล้ว จักละความพอใจรักใคร่ในอัตภาพแล้วชำระจิตดี เมื่อมีจิตอันไม่เศร้าหมองแล้วจักไปถือเอาปฏิสนธิในสวรรค์ เมื่อเป็นอย่างนี้ การบวชในพระธรรมวินัยนี้ของพวกเธอก็จะไม่เสียเปล่า

(เช่นนี้เรียกว่า ไหนๆ ก็จะต้องตายเพราะหนีบ่วงแห่งกรรมไม่พ้น อย่างนั้นใช้ความตายนั้นเป็นเครื่องฟอก เครื่องชำระจิตไปเสียเลย)

เพราะเหตุนั้น เพื่ออนุเคราะห์พวกภิกษุชาวเวสาลีทั้ง ๕๐๐ องค์พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงอสุภกถา ด้วยทรงมุ่งให้ภิกษุเหล่านั้นปฏิบัติกัมมัฏฐานเป็นสำคัญ ทั้งที่ทรงรู้อยู่แก่พระทัยว่า ภายในกึ่งเดือนข้างหน้านี้พวกภิกษุจะพากันบอกว่า วันนี้มีภิกษุ ๑ รูปมรณภาพแล้ว วันนี้มีภิกษุ ๒ รูปได้มรณภาพแล้ว ฯลฯ วันนี้ภิกษุ ๑๐ รูปมรณภาพแล้ว ด้วยผลของอกุศลกรรมที่กระทำแล้วในอดีต จะเป็นตถาคตหรือคนอื่นก็ตามไม่สามารถจะห้ามวิบากกรรมนั้นได้

ด้วยเหตุนี้เราคงต้องหลีกลี้ไปเจริญสมณธรรมภายในป่าลึก จักได้ไม่เข้าไปขวางวิบากแห่งกรรมของหมู่ภิกษุเหล่านั้น

ทรงตรึกเช่นนี้แล้วจึงทรงตรัสขึ้นว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่ป่าสักกึ่งเดือน ใครๆ ไม่พึงเข้ามาหาเรา เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตไปให้เพียงรูปเดียว.

เมื่อครบ ๑๕ วัน จึงทรงเสด็จออกจากป่า มีผู้กราบทูลให้ทรงทราบความที่พวกภิกษุชาวเวสาลีทั้ง ๕๐๐ รูปเหล่านั้นได้ฆ่าตัวตายบ้าง จ้างผู้อื่นให้ฆ่าตัวเองบ้าง ครั้งพอทรงได้ฟังเช่นนั้น จึงทรงตรัสเรียกพระอานนท์ว่า

ดูก่อนอานนท์ เพราะเหตุไรหนอ ภิกษุสงฆ์ จึงดูเหมือนเบาบางไป.

ทีนั้น ท่านพระอานนท์ เมื่อไม่เข้าใจถึงความสิ้นชีวิตของภิกษุเหล่านั้น แต่เข้าใจว่าเพราะการปฏิบัติตามในอสุภกัมมัฏฐานเป็นปัจจัย จึงกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ดังข้าพระองค์ขอพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโปรดตรัสบอกธรรมอย่างอื่น อันจะเป็นเหตุให้ภิกษุสงฆ์พึงดำรงอยู่ในพระอรหันต์เถิด.

(ที่พระอานนท์ทูลเช่นนี้ก็ด้วยคิดไปว่า เพราะเหตุแห่งการปฏิบัติอสุภะกรรมฐานจึงทำให้ภิกษุชาวเวสาลีทั้ง ๕๐๐ ฆ่าตัวตาย)

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระประสงค์จะทรงสอนกรรมฐานกองใหม่ให้แก่หมู่ภิกษุ

จึงทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า พวกภิกษุมีประมาณเท่าใดที่เข้าไปอาศัยกรุงเวสาลี อยู่ห่างออกไปหนึ่งคาวุตบ้าง กึ่งโยชน์บ้างโดยรอบ เธอจงให้พวกภิกษุทั้งหมดนั้นประชุมกัน ณ ที่นี้

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารวมกันแล้วทรงตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสตินี้แล จักเป็นไปเพื่อการบรรลุพระอรหันต์ของพวกเธอ

อานาปานสติสมาธิ ได้แก่ การตั้งมั่นที่ประกอบพร้อมกับความระลึกที่กำหนดถือเอาลมหายใจออกและหายใจเข้า หรือความตั้งใจมั่นในการระลึกถึงลมหายใจออกและหายใจเข้า เป็นสมาธิที่มีการระลึกถึงลมหายใจออกและหายใจเข้าเป็นอารมณ์.

อานาปานสติ หมายถึง การมีความระลึกรู้ตัวในลมหายใจเข้าออก (อานะ หายใจออก – ปานะ หายใจเข้า – สติ ความระลึก ) อานาปานสติเป็นได้ทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน บางคัมภีร์กล่าวว่าเป็นอารมณ์กรรมฐานของมหาบุรุษทั้งหลาย มีอยู่ 16 คู่ โดยเป็นกายานุปัสสนา4คู่ เป็นเวทนานุปัสสนา4คู่ เป็นจิตตานุปัสสนา4คู่ เป็นธัมมานุปัสสนา4คู่

๑. รู้อยู่ว่ากำลังหายใจออก รู้อยู่ว่ากำลังหายใจเข้า
๒. รู้อยู่ว่าหายใจออกสั้นหรือยาว รู้อยู่ว่าหายใจเข้าสั้นหรือยาว
๓. รู้อยู่ว่าหายใจออกกระทบอวัยวะส่วนใดภายในและภายนอกกาย รู้อยู่ว่าหายใจเข้ากระทบอวัยวะส่วนใดภายในและภายนอกกาย
๔. รู้อยู่ว่าลมหายใจออกสงบอยู่หรือไม่ รู้อยู่ว่าลมหายใจเข้าสงบอยู่หรือไม่

การกำหนดรู้ในอานาปานสติ ตั้งแต่ข้อ ๑-๔ เป็นการกำหนดรู้ภายในกาย จัดเรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

๕. รู้อยู่ว่าจิตนี้มีปีติแล้วหายใจเข้า รู้อยู่ว่าจิตนี้มีปีติแล้วหายใจออก
๖. รู้อยู่ว่าจิตนี้มีสุขแล้วหายใจเข้า รู้อยู่ว่าจิตนี้มีสุขแล้วหายใจออก
๗. รู้อยู่ว่าจิตนี้มีการปรุงแต่งแล้วหายใจเข้า รู้อยู่ว่าจิตนี้มีการปรุงแต่งแล้วหายใจออก
๘. รู้อยู่ว่าระงับการปรุงแต่งแล้วหายใจเข้า รู้อยู่ว่าระงับการปรุงแต่งแล้วหายใจออก

ตั้งแต่ข้อ ๕-๘ สติเริ่มละเอียดสามารถจับความรู้สึกได้ชัดเจน เรียกว่า เวทนานุปัสสนา จนสามารถแยกรูปนามออกจากกันได้ชัดเจน เรียกว่า นามรูปปริทเฉทญาณ

๙. รู้อยู่ว่าขณะหายใจออกพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏกับจิต รู้อยู่ว่าขณะหายใจเข้าพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏแก่จิต
๑๐. รู้อยู่ว่าขณะหายใจออกจิตนี้ร่าเริงอยู่ รู้อยู่ว่าขณะหายใจเข้าจิตนี้ร่าเริงอยู่
๑๑. รู้อยู่ว่าขณะหายใจเข้าจิตนี้ตั้งมั่นอยู่ รู้อยู่ว่าขณะหายใจออกจิตนี้ตั้งมั่นอยู่
๑๒. รู้อยู่ว่าขณะหายใจเข้าจิตวางเฉย รู้อยู่ว่าขณะหายใจออกจิตวางเฉย

ตั้งแต่ข้อ ๙-๑๒ สติเริ่มละเอียดสามารถรู้จากสัมผัสของอายตนะได้ดี อันเป็นวิญญาณขันธ์ได้ชัดเจน เรียกว่า จิตตานุปัสสนา จนสามารถเท่าทันในเหตุปัจจัยของรูปนามได้ชัดเจน เรียก นามรูปปัจจยปริคคหญาณ

๑๓. รู้อยู่ขณะหายใจเข้าเห็นความไม่เที่ยง รู้อยู่ขณะหายใจออกเห็นความไม่เที่ยง
๑๔. รู้อยู่ขณะหายใจเข้าแล้วพิจารณาคลายความพอใจ รู้อยู่ขณะหายใจออกแล้วพิจารณาคลายความพอใจ
๑๕. รู้อยู่ขณะหายใจเข้าแล้วพิจารณาถึงความยึดมั่นในรูปนามอยู่หรือไม่ รู้อยู่ขณะหายใจออกแล้วพิจารณาถึงความยึดมั่นในรูปนามอยู่หรือไม่
๑๖. รู้อยู่ขณะหายใจเข้าแล้วพิจารณาระงับการปรุงแต่งในขันธ์ทั้ง ๕ รู้อยู่ขณะหายใจออกแล้วพิจารณาระงับการปรุงแต่งในขันธ์ทั้ง ๕

ตั้งแต่ข้อ ๑๓-๑๖ สติละเอียดมากขึ้น จนพิจารณาเห็นรูปนามปรากฏชัดอยู่ในธัมมารมณ์ จึงเรียกว่า ธัมมานุปัสสนา พิจารณาเห็นว่ารูปนามเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์

หวังว่า บรรดาท่านทั้งหลายที่ติดตามประวัติของพระอานนท์มาถึงตอนนี้ คงจะเข้าใจชัดแล้วว่า เวรกรรมที่ตนได้กระทำไว้ ไม่ว่าจะชาติไหนๆ จะมากบ้าง น้อยบ้าง ก็จะต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พุทธะอิสระ

——————————————–