ตัวอย่างของผู้ที่ถูกสัทธาจริตครอบงำ 3มิ.ย.2565

0
20
ตัวอย่างของผู้ที่ถูกสัทธาจริตครอบงำ
๓ มิถุนายน ๒๕๖๕
 
*************************************************************
 
    ในอดีตกาลเมื่อครั้งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า พระวักกลิเถระได้บังเกิดเป็นพราหมณ์เข้าไปในวิหารที่ประทับของพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรมอยู่ที่ด้านท้ายบริษัท
 
เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นยอดกว่าเหล่าภิกษุทั้งหลายผู้น้อมใจเชื่อมากไปด้วยศรัทธา
 
พราหมณ์หนุ่มนั้นจึงคิดว่า แม้เราก็ควรเป็นเช่นนี้ในอนาคตกาล
 
จึงนิมนต์พระศาสดาพร้อมหมู่สงฆ์ไปยังเรือนของตนเพื่อถวายมหาทานตลอด 7 วัน แล้วอธิษฐานตั้งความปรารถนาว่า พระเจ้าข้าด้วยกุศลกรรมอันนี้ขอข้าพระองค์พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้น้อมใจไปด้วยศรัทธา ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตเหมือนภิกษุที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะของเหล่าภิกษุผู้น้อมใจไปด้วยศรัทธา เถิดพระพุทธเจ้าข้า
 
พระศาสดาทรงพิจารณาถึงอตีตังสญาณและอนาคตังสญาณของพราหมณ์หนุ่ม เห็นว่าท่านไม่มีอันตรายจึงทรงพยากรณ์รับรองแล้วเสด็จกลับ
 
    ฝ่ายพราหมณ์หนุ่มจึงมุ่งมั่นกระทำกุศลตลอดชีพ เมื่อสิ้นชีพแล้วเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ มาจนถึงยุคของพระพุทธเจ้าทรงนามว่า สมณโคดม จึงได้ปฏิสนธิในตระกูลพราหมณ์อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี หมู่ญาติทั้งหลายจึงได้ขนานนามทารกนั้นว่า วักกลิ ท่านเจริญวัยแล้ว เรียนไตรเพท เวลาต่อมาได้เห็นพระทศพลมีภิกษุสงฆ์แวดล้อมเสด็จจาริกในกรุงสาวัตถีตรวจดูสรีรสมบัติของพระศาสดา แล้วบังเกิดความปลาบปลื้มปีติยินดีในพระรูป พระโฉมที่ได้เห็น จึงเดินตามพระบรมศาสดาไปในทุกที่ทุกแห่งที่ทรงเสด็จ
 
แม้ในขณะที่ทรงแสดงธรรมวักกลิพราหมณ์หนุ่ม ก็หาได้สนใจฟังธรรมไม่ เอาแต่ที่จะเหม่อมองพระรูป พระโฉมขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่เช่นนั้น
 
จนมาวันหนึ่งท่านได้ศรัทธาแล้วคิดว่า เราอยู่ครองเรือนไม่ได้ เห็นพระทศพลเป็นนิตย์ จึงทูลขอบรรพชา บวชแล้วในสำนักของพระศาสดา
 
ตั้งแต่นั้น เว้นเวลาฉันภัตตกิจ ในเวลาที่เหลือก็เอาแต่เฝ้ามองพระทศพลโดยไม่สนใจในพระธรรมที่ทรงแสดง เอาแต่ดูพระทศพลอย่างเดียว
 
พระศาสดาทรงรอให้ปัญญาของท่านพระวักกลินั้นแก่กล้าก่อน จนเวลาล่วงเลยมานานพระวักกลิก็ยังลุ่มหลงอยู่ในพระรูป พระโฉมขององค์พรบรมศาสดาอยู่เช่นนั้น หาได้บรรลุคุณธรรมใดๆ ไม่
 
ต่อมาทรงทราบว่า บัดนี้ญาณของพระวักกลิแก่กล้าแล้ว จึงตรัสอย่างนี้ว่า วักกลิท่านจะได้ประโยชน์อะไรด้วยมองรูปกายอันเปื่อยเน่านี้เล่า ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม วักกลิ เห็นธรรมจึงจะชื่อว่าเห็นเรา
 
เมื่อพระศาสดาแม้ทรงโอวาทอยู่อย่างนี้พระเถระก็ไม่อาจละการดูพระรูป พระโฉมของพระทศพลได้เลย
 
    ต่อมาพระศาสดาทรงดำริว่า ภิกษุผู้นี้ยังไม่รู้สึกสำนึกสังเวชเลย
 
ครั้งใกล้เข้าพรรษาทรงประกาศขับไล่พระเถระนั้นว่า วักกลิจงหลีกไปให้พ้นหน้าเรา
 
พอได้ฟังเช่นนั้น พระวักกลิคิดว่า บัดนี้เราจะทำอย่างไรดี เราถูกพระตถาคตขับไล่ประณามเสียแล้ว เราคงไม่มีหน้าที่จะอยู่เฝ้าดูพระองค์ได้อีกต่อไปแล้ว มีประโยชน์อะไรเล่าที่เราจะมีชีวิตอยู่
 
พระวักกลิคิดดังนี้แล้ว จึงเดินร้องไห้ขึ้นไปบนยอดเขาคิชฌกูฏ เพื่อหวังจะกระโดดเขาตาย (นี่คือโทษภัยของผู้งมงายในศรัทธา)
 
ขณะนั้นพระศาสดาทรงทราบว่า พระเถระคิดจะฆ่าตัวตาย เพราะจะไม่ได้เห็นเราตถาคต ทรงดำริว่า ภิกษุนี้เมื่อไม่ได้ความปลอบใจจากเรา ก็จะทำลายอุปนิสัยแห่งมรรคผลเสีย จึงทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีฉายพระรูปไปแสดงพระองค์ต่อหน้าพระวักกลิท่ามกลางอากาศนั้น
 
พระวักกลิเห็นพระศาสดาก็ละความโศกศัลย์อย่างใหญ่ลงเสียได้ ได้ทรุดเข่าลงยกมือประนมไหว้ รำพึงรำพัน ร้องไห้ระบายความอัดอั้นในจิตใจออกมาจนหมดสิ้น
 
    พระศาสดาเพื่อจะให้พระวักกลิเถระเกิดปีติโสมนัสแรงขึ้น เหมือนหลั่งกระแสน้ำลงในสระที่แห้ง จึงตรัสพระคาถาในพระธรรมบทว่า
 
ปาโมชฺชพหุโล ภิกฺขุ ปสนฺโน พุทฺธสาสเน
อธิคจฺเฉ ปทํ สนฺตํ สงฺขารุปสมํ สุขนฺติ
ภิกษุผู้มากด้วยความปราโมทย์ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
จะพึงบรรลุธรรมอันสงบระงับสังขาร เป็นความสุขดังนี้
 
    อนึ่ง พระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์ประทานแก่พระวักกลิเถระว่า มาเถิดวักกลิ พระเถระบังเกิดปีติอย่างแรงกล้า แล้วรำพึงขึ้นว่า
 
เราเห็นพระทศพลแล้ว เห็นพระทศพลแล้ว พระทศพลทรงเอ่ยพระวาจาแก่เราแล้วว่า มาเถิดวักกลิ ทั้งที่ไม่รู้ว่าการไปของตนจะไปทางไหน แต่ด้วยหัวใจที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น จึงได้เดินตามไปในอากาศจนมาปรากฏต่อพระพักตร์พระทศพลพอเท้าแรกเหยียบบนพื้น นึกถึงพระดำรัสที่พระศาสดาตรัสแล้ว จึงข่มปีติในอากาศนั่นเอง บรรลุพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ลงมาถวายบังคมพระตถาคต ภายหลังพระศาสดาประทับนั่งท่ามกลางหมู่พระอริยะ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้น้อมใจไปด้วยศรัทธา
 
***************************************
 
ท่านทั้งหลายจะเห็นโทษเห็นภัยของสัทธาจริต ว่าเป็นมูลเหตุแห่งความลุ่มหลง งมงาย จนขาดสติปัญญาในการพิจารณาเหตุและผล ถูกและผิด ดีและชั่ว
 
สิ่งเหล่านี้ผู้ที่มากไปด้วยอารมณ์ศรัทธา มันจะแยกแยะได้ยาก
 
ดังกรณีพระวักกลิผู้จมปลัก หมกมุ่นอยู่ในอารมณ์ศรัทธา
 
สุดท้ายก็ต้องถูกพระบรมศาสดาใช้กุศโลบายทำลายเสียด้วยการประกาศขับไล่ เพื่อให้จิตของพระวักกลิสลดสังเวช แล้วจึงส่งข่ายพระญาณไปชี้นำโปรด จนบรรลุธรรมในที่สุด
 
พุทธะอิสระ
 
——————————————–