วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ช่วงบ่าย
หลวงปู่พุทธะอิสระ นำปฏิบัติธรรม วิถีจิตแต่ละขั้นของวิชชา กายรวมใจ
ณ ศาลาปฎิบัติธรรม วัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
หมวด : ปฏิบัติธรรม
เรื่อง : วิถีจิตแต่ละขั้นของวิชชา กายรวมใจ
โดย : หลวงปู่พุทธะอิสระ
วันที่ : 25 กุมภาพันธ์ 2567 ช่วงบ่าย
วัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
รับชมฉบับเต็ม นาทีที่ 1.26.59 -2.17.21
วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ช่วงบ่าย
หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม และปฏิบัติธรรม
บวชเนกขัมมะ เนื่องในวันมาฆบูชา
ณ ศาลาปฎิบัติธรรม วัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
ได้ที่ : https://youtube.com/live/oA8Lr6O-Nhg
——————————–
ถอดเทปเสียง
(กราบ)
เตรียมปฏิบัติธรรมลูก
ลุกขึ้นยืน
…..
เข้าที่
คำว่า เข้าที่ คือ ตั้งมั่น
กาย ตั้งมั่น
ใจ ตั้งมั่น
รวมกัน
การบำเพ็ญภาวนา พระพุทธเจ้าทรงถือว่า เป็นการบูชาอันสุดยอด และเป็นบุญอันยิ่ง
ถามว่า เพราะอะไร?
เพราะ ภาวนาแต่ละครั้ง ศีล หมายถึง การสำรวมกาย วาจา
การภาวนา หรือ การปฏิบัติธรรม คือ กระบวนการรักษาศีล เพราะ กาย วาจา เราจะสำรวม ระมัดระวัง
เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ถ้าไม่มีศีล กาย วาจา เราจะไม่ปรกติ
แต่เมื่อใดที่เราภาวนา กาย วาจา เราจะสงบ ระงับ ปรกติ อย่างนั้นแสดงว่า กายนี้มีศีล
สมาธิ คือ ความตั้งมั่น
เมื่อใดที่จิตเราตั้งมั่น รวมอยู่กับกาย… กายกับใจ รวมกันเป็นหนึ่ง ไม่สับส่าย ไม่โยกโคลง ไม่สั่นคลอน ไม่ทุรนทุราย ไม่กระเสือกกระสน ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่หงุดหงิด ไม่ง่วงหงาวหาวนอน ตั้งมั่นเป็นปรกติ นั่นก็เป็น“สมาธิ”
เมื่อใดที่เราระมัดระวัง กระบวนการของจิตกับกาย ไม่ให้กระเพื่อม ไม่ให้หลุดแยกออกจากกันได้อยู่ตลอดเวลา เฝ้าดูอย่างเป็นผู้รู้ชัดเจน นั่นก็เป็น“ปัญญา“
เพราะฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นในเวลาที่ภาวนา ๑ ครั้ง
ถ้าทำบ่อยๆ ก็เกิดหลายๆครั้ง
ทำอยู่ต่อเนื่องเนืองๆ กลายเป็นบารมีธรรม
อย่าไปมองว่า ปฏิบัติธรรมนิดๆหน่อยๆ ไม่เห็นได้ผลอะไร
ขณะที่ลงมือปฏิบัตินิดๆหน่อยๆ แต่ผล ได้มหาศาล
ได้ศีล
ได้สมาธิ
ได้ปัญญา
โดยเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป
ทำจนกระทั่ง กลายเป็นความคุ้นเคย ความเคยชิน เป็นวสี ต่อเนื่องยาวนาน จนกลายเป็นหลัก เป็นพลัง เป็นจิตตานุภาพ เป็นอานุภาพแห่งจิต เป็นตบะของกายและชีวิต อย่างนี้ ถือว่า ไม่ต้องไปสะกดจิต สั่งจิต ทำอะไรก็สำเร็จประโยชน์ บรรลุตามวัตถุประสงค์ไปหมด
…….
กายรวมใจ ไม่ใช่วอกแวก เลื่อนไหลออกไปนอกกาย
ไล่ตั้งแต่
หัวจรดปลายเท้า
จากปลายเท้า ขึ้นมาบนหัว
กลางลำตัว ขึ้นบน
กลางลำตัว ลงล่าง
สำรวจดูโครงสร้างนครแห่งกายนึ้ให้ทั่ว
……
อยู่ใน กาย เฉยๆ นิ่งๆ
ใช้ กาย เป็นนิมิต คือ เครื่องหมายแห่งจิต
ใช้ กาย เป็นเครื่องอยู่อาศัยแห่งจิต
อย่าให้หลุดออกนอกกาย
…….
กาย ที่รวมกับใจ ต้องปราศจากสิ่งแทรกแซง
คำว่า ปราศจากสิ่งแทรกแซง คือ ต้องไม่มีอารมณ์อื่น สิ่งอื่น เรื่องอื่นๆ เข้ามาแทรกแซง
…….
ต้องทำ”ความอยู่“ให้แจ่มชัด
รู้ ให้แจ่มชัดเฉพาะภายในกาย
ต้องไม่ฟุ้งซ่าน ว้าวุ่น ทุรนทุราย
ต้องไม่มีเรื่องราวร้อยแปดใดๆ เข้ามาแทรกแซงจิตนี้ หรือในกายนี้
รู้อยู่ เฉยๆ
ยิ่งตัว รู้อยู่ เฉยๆอย่างตั้งมั่นนานเท่าไหร่ “กาย”ที่มืดบอด หรือ “กาย”ที่มืดคลุมๆเครือๆ จะกลายเป็นแสงสว่าง เหมือนกับจุดประทีปในที่มืด จะสว่างออกจาก“จิต”ไปสู่“กาย” ซึ่งไม่ต้องเอาเป็นอารมณ์
เพราะถ้าเมื่อใดที่ไปยึดเอาแสงสว่างนั้น เราจะเคลื่อนออกจากกายและจิต
ยัง รู้อยู่ พร้อมเฉพาะภายในกายเหมือนเดิมเฉยๆ
…….
แม้นอารมณ์น้อยนิด ก็ต้องไม่เข้ามาแทรก
ความปรุงแต่งใดๆ แม้นนิดหน่อย ก็ต้องไม่มี
ต้องขจัดออกไปให้หมด
ให้เหลือไว้แต่ความแจ่มชัดแห่งตัว รู้อยู่ ในกาย เรียกว่า รู้อยู่ พร้อมเฉพาะภายในกายอย่างแจ่มชัด โดยไม่มีสิ่งอื่นใดเข้ามาแทรก หรือชำแรกเข้ามาได้เลย
……
วิธีการ คือ
ยึดตัว รู้อยู่
นำ ตัวรู้ มาเป็นนิมิต
รู้อยู่ ว่า กายเรา-จิตเรา รวมกัน
รู้อยู่ ว่า จิตนี้ตั้งมั่นอยู่พร้อมเฉพาะภายในกายเฉยๆ
รู้อยู่ แค่นี้
……..
รู้อยู่ โดยไม่หลุด
ถ้าหลุด แสดงว่า ไม่รู้อยู่
รู้อยู่ อย่างไม่พลั้งเผลอ
ถ้าพลั้งเผลอ แสดงว่า หลุดไปแล้ว
ความรู้อยู่ จะผิวเผิน เบาบางมาก
เช่นนั้น ต้องทำให้ตัว รู้อยู่ ตั้งมั่น
ยึดตัว รู้อยู่ เป็นนิมิต แห่งจิต
ขั้นต่อมา
รู้อยู่ ภายในกาย
กายจะเบาบาง
แต่ตัว รู้อยู่ จะยิ่งใหญ่
ขั้นแรก
กายใหญ่
ขั้นที่ ๒
รู้อยู่ ใหญ่
กายเบาบาง
ขยับ ทีละขั้น
……..
ขยับ เข้าสู่ # ขั้นผ่อนคลาย
รู้อยู่ ว่าผ่อนคลาย
ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
ผ่อนคลายร่างกาย
ผ่อนคลายระบบประสาท
…….
พอถึงขั้น ผ่อนคลาย
ตัว รู้อยู่ จะแจ่มชัด ปราศจากมลทินในระดับที่สามารถเข้าใจรู้จักว่า เรากำลัง รู้อยู่
แต่ถ้ายังมีมลทิน มีความว้าวุ่น ทุรนทุราย สับส่าย เราจะไม่เข้าใจ รู้จักว่า เรากำลัง รู้อยู่ อย่างแจ่มชัดได้เลย คือ ไม่สามารถ
……
ถึงขั้น ผ่อนคลาย จะขยับเข้ามาในขั้น ผ่อนคลาย อีกชั้นหนึ่ง คือ
รู้สภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นกับจิตตัวเอง
เราจะรู้เท่าทันว่า
ราคะเกิด หรือไม่เกิด
โทสะเกิด หรือไม่เกิด
โมหะเกิด หรือไม่เกิด
โลภะเกิด หรือไม่เกิด
ถ้าเกิดแล้ว จะ“ละ”อย่างไร?
ราคะดับ หรือยังไม่ดับ
โทสะดับ หรือยังไม่ดับ
โมหะดับ หรือยังไม่ดับ
โลภะดับ หรือยังไม่ดับ
ถ้าดับแล้ว จะดำเนินต่อไปอย่างไร?
ถึงขั้น ผ่อนคลาย
ชั้นของ สติ จะขยับขึ้น
สติและปัญญา จะปรากฏชัด เรียกว่า ผ่อนคลายขณะที่ รู้อยู่ ภายในกาย
ไม่ได้ผ่อนคลายที่หลุดออกนอกกายเลย
ผ่อนคลาย ทั้งที่อยู่ภายในกาย รู้ชัด
……
สิ่งที่จะปรากฏตามมา คือ ความรู้ชัด
รู้อยู่ ภายในกาย อย่างผ่อนคลาย
นิ่ง สงบ
แต่ยังไม่ถึงขั้น ลหุตา คือ ความเบา สบาย
ต้องขยับขึ้นอีกขั้นหนึ่ง
แต่เอาแค่นี้ให้ได้
เพราะจิตนี้มีพันธนาการ ร้อยรัด หมักหมม เกาะกลุ่มมาเป็นอสงไขย เป็นมหากัป
เราทำได้ขนาดนี้ ก็ถือว่าวาสนา
ใช้เวลาไม่เนิ่นนานก็ยังทำได้
สิ่งที่ทำได้จริงๆ และเห็นชัด จับต้องได้ คือ
ศีล เราตั้งมั่น บริสุทธิ์
สมาธิ เราตั้งมั่น
การงาน คือ กรรมฐานที่เจริญ ไม่สั่นคลอน ไม่โยกโคลง ไม่สับส่าย ไม่เลื่อนลอย ไม่หลุกหลิก แจ่มชัด ตั้งมั่น นั่นคือ องค์คุณแห่งสมาธิ
ปัญญา รู้ชัดตามสภาพธรรมที่ปรากฏกับจิตและกาย สามารถหักห้าม และป้องกันสิ่งเร้า เครื่องล่อ และสิ่งที่ซึมสิง เข้ามาแทรกได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นั่นคือ ปัญญามี ปัญญาปรากฏ ปัญญาตั้งมั่น
เช่นนี้จึงชื่อว่า เป็นผู้เจริญในศีล ในสมาธิ และในปัญญา
……
ขณะนี้ อารมณ์ หรือสภาวธรรมที่ปรากฏกับ กายรวมใจ แล้วผ่อนคลาย สิ่งที่ได้มา นอกจาก ศีล สมาธิ ปัญญา อันบริสุทธิ์ จิตเราก็ผ่อนคลาย ไม่ต้องพูดถึงเรื่องร่างกาย
ผ่อนคลายกาย
ผ่อนคลายใจ
ผ่อนคลายจิต
ผ่อนคลายอย่าง รู้อยู่ ตั้งมั่น อยู่ภายในกายอยู่
ถ้าเปรียบ ก็ประดุจดั่ง เรากำลังอยู่ในถ้ำที่สว่างไสวไปด้วยอำนาจของจิตตานุภาพ ไม่มีสิ่งเร้า เครื่องล่อใดๆภายนอกเข้ามาวุ่นวายกับเราที่อยู่ในถ้ำนี้
ไม่ว่าจะเป็นเสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือ ธัมมารมย์ใดๆ ก็เข้ามาสู่ถ้ำนี้ไม่ได้ เพราะอำนาจแห่งจิตตานุภาพที่ประกอบไปด้วยศีล สมาธิ และปัญญา
อำนาจแห่งสติและปัญญา เป็นเหมือนปราการ ป้องกันหมู่มารทั้งหลายที่แวดล้อมใกล้เข้ามาในถ้ำ รอบๆถ้ำ แต่ไม่สามารถเข้ามาในถ้ำได้
ต่อให้หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส แม้นกายสัมผัส ก็ไม่รู้สึกรำคาญ หยิบฉวยมาปรุงแต่ง เหมือนสายน้ำที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่ซึมซับเข้าเนืัอเทียนได้ฉันใด จิตนี้ที่ตั้งมั่นอยู่ในกาย ด้วยอำนาจแห่งคุณศีล คุณสมาธิ และคุณปัญญา และความรู้อยู่เฉยๆภายในกายอย่างตั้งมั่น เปรียบประดุจดั่งปราการและทหารเอกผู้ยิ่งใหญ่ สามารถขับไล่ ปัดรังควานสิ่งเลวร้ายที่เข้ามาเกาะกิน หรือย่ำยีบีฑา จนเรามีอิสระสมบูรณ์ภายในกาย
…….
ยังผ่อนคลาย
รู้อยู่ ว่าผ่อนคลายภายในกายนี้
แล้ว พาออกเดิน
…….
เดิน ก็ผ่อนคลาย
ยืน ก็ผ่อนคลาย
นั่ง ก็ผ่อนคลาย
นอน ก็ผ่อนคลาย
อย่างนี้ ตายก็เป็นสุขแล้ว
ต่อให้ระเบิดลงใส่
ต่อให้ไฟเผาผลาญ
ต่อให้แผ่นดินหวั่นไหว
ต่อให้สารพัดปัญหาใดๆเข้าถาโถม
เราก็ไม่โยกโคลง ไม่สั่นคลอน
ไม่มีอะไรทำให้เราหลุดออกจากถ้ำแห่งคูหาแห่งนครกายนี่ได้
มี ตัวรู้ พร้อมอยู่ แจ่มชัด
รู้อยู่ ภายในกายอย่างอิสระ มีเสรีภาพ
รู้อยู่ ภายในกาย เป็นนิมิตแห่งใจ
#หันมาพูดถึงประโยชน์ที่ได้ที่ กาย จะปรากฏ
เลือดลม ผ่อนคลาย
ระบบประสาท ผ่อนคลาย
กล้ามเนื้อ ผ่อนคลาย
ทุกส่วนในร่างกาย ผ่อนคลาย
ลมหายใจ เบา สบาย ผ่อนคลาย
อวัยวะทุกส่วนในร่างกาย ตื่นตัวอย่างผ่อนคลาย ไม่สับส่าย ไม่กระเสือกกระสน ไม่ทุรนทุราย ไม่ว้าวุ่น ไม่ขมึงทึง ไม่ตึงเครียด
ทุกองคาพยพภายในกาย ผ่อนคลายทั้งหมด แม้แต่ระบบประสาท และเซลล์ต่างๆภายในร่างกาย เรียกว่า
ดิน ผ่อนคลาย
น้ำ ผ่อนคลาย
ลม ผ่อนคลาย
ไฟ ผ่อนคลาย
……
ยัง รู้อยู่ ภายในกายด้วยความผ่อนคลาย
……
เดินตรงไหน ยืนตรงนั้น แล้วดูว่า ผ่อนคลาย ยังอยู่มั้ย?
……
เดิน ผ่อนคลาย
แล้ว ยืน ยังผ่อนคลาย อยู่มั้ย?
อารมณ์ ยังเสมอ ยังสมดุล ยังไม่กระเพื่อม
จิต ยังไม่กระเพื่อม
ทุกอย่างยังเหมือนเดิม
รู้ ผ่อนคลาย ภายในกายอยู่หรือไม่?
สำรวจ
…….
เสร็จแล้ว ลงนั่งในที่ที่ยืน
รักษาความผ่อนคลาย ภายในกาย
ลงนั่ง
……..
นั่งแล้วผ่อนคลายภายในกายมั้ย?
สำรวจดู
เหมือนเดิมกับที่ยืน
เหมือนเดิมกับที่เดิน
และ ต้องเหมือนเดิมขณะนั่ง
รวมความแล้ว ยืน เดิน นั่ง ผ่อนคลาย
ดิน ผ่อนคลาย
น้ำ ผ่อนคลาย
ลม ผ่อนคลาย
ไฟ ผ่อนคลาย
ระบบประสาท และเซลล์ทั้งหลาย กล้ามเนื้อทั้งปวง ภายในดาย ผ่อนคลายทั้งหมด
มี ความรู้อยู่ และเฉยๆ ภายในกาย เป็นเครื่องหมาย เป็นนิมิตของใจ
…….
ขยับขึ้น#ขั้นที่ ๓
รู้ลมหายใจ
พอถึงคำว่า ผ่อนคลาย ภายในกายอย่างสมดุล
ลมหายใจที่เข้า จะเข้าอย่างผ่อนคลาย ไม่เสียดแทง
ลมที่ออก ก็ออกอย่างผ่อนคลาย หมดจด ไม่ระคายเคือง ไม่ขาดช่วง ..
ต่อเนื่อง
จะมี สติ ระลึกรู้ว่า
ลมที่เข้า พอเพียง หรือยังไม่พอเพียง
ลมที่ออก เหมาะสม หรือไม่เหมาะสม
…….
ขั้นแรก : รู้ลม ไม่ต้องบังคับลม
รู้ว่า ลมเข้าอยู่
รู้ว่า ลมออกอยู่
…….
เมื่อ รู้ลม เข้า-ออกอย่างแจ่มชัดแล้ว
ขั้นต่อไป : ย้าย ความผ่อนคลาย เข้าไปอยู่กับลมที่
หายใจเข้าอย่างผ่อนคลาย
หายใจออก ก็ผ่อนคลาย
ไม่ต้องกักลม
ไม่ต้องกลั้นลม
ปล่อยเป็นธรรมชาติ
ไม่ต้องบังคับให้ยาว หรือให้สั้น
ไม่ต้องไปทำให้หนักหรือเบา
แต่ไม่ว่า ลมจะเข้าหรือออก ต้องผ่อนคลาย
……
ถ้ามีสติ ระลึกตัวทั่วพร้อม มีปัญญา วิเคราะห์ ใคร่ครวญ พินิจ พิจารณา แจ่มชัด เราจะเห็นว่า จิตเราหนักขึ้น เรียกว่า จิตหยาบขึ้น ภาระแห่งจิตมีมากขึ้น
เหตุผล เพราะ สิ่งที่เราไปรู้ คือ ของหยาบ เลยทำให้จิตเราหยาบขึ้น
นี่ถ้ายกไปเทียบกับราคะจิต โทสะจิต โมหะจิต โลภะจิต เบญจพิษ กามคุณทั้ง ๕ ยิ่งตกต่ำ หยาบกระด้าง น่ารังเกียจ
นี่แค่ ลม ยังหยาบขนาดนี้
ดังนั้น อะไรที่เกิดกับอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน เป็นอุปกรณ์ในการทำร้ายจิตของพญามาร ที่ส่งมากำจัดความบริสุทธิ์แห่งจิต
เพราะฉะนั้น เราต้องทำความคุ้นเคยกับจิตสะอาด จิตที่ผ่อนคลาย เอาไว้เป็นอาจิณ
เมื่อถึงคราว จะได้รู้ข้ออแตกต่าง และไม่ปล่อยให้ความสกปรกของจิตเกิดขึ้นได้
……
พอเริ่ม รู้ ลมหายใจ กายเราเริ่มจะไม่ผ่อนคลายแล้ว ใช่มั้ย? สังเกตดู
กล้ามเนื้อ เริ่มขมึงทึงตึงเครียดทีละนิดๆ
ระบบประสาท ที่เคยผ่อนคลาย เริ่มกลับมาขมึงทึงขึ้น มันดึง มันรั้ง มากขึ้น
ทีนี้ ลองเพิ่มคำภาวนาเข้าไปในลมหายใจ
หายใจเข้า สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข
หายใจออก สัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์
แล้วดูว่า จิตหนักมากขึ้นกว่าเก่ามั้ย?
……
ยกมือไหว้พระกรรมฐาน แล้วลืมตา
……
เดิน ก็ดีอยู่หรอก
เดิน ก็ดูดีหรอก
แต่พอ นั่งปุ๊บ
บางคนเริ่มสัปหงก
ผ่อนคลายเยอะไปหน่อย
จำได้มั้ยอ่ะ?
ที่สอนไปเมื่อครู่นี้ เข้าใจมั้ย?
เข้าใจขั้นตอนของวิถีจิตมั้ย?
#ที่พูดทั้งหมดนี่ เขาเรียกว่า ขั้นตอนของวิถีจิต
วิถี แปลว่า หนทาง
ขั้นตอน คือ กระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ที่จิตจะดำเนินไป แต่ละขั้นๆ
พูดอย่างละเอียด
เพื่อให้รู้จักและเข้าใจ วิถีแห่งจิตแต่ละขั้นของวิชชา กายรวมใจ แล้วถึงขั้นผ่อนคลาย ต้องผ่านอะไรบ้าง? เรียกว่า เป็นประสบการณ์ทางวิญญาณ หรือ การรับรู้
เป็นขั้นตอนของวิถีจิตที่ต้องผ่านตามกระบวนการดังกล่าว
จะกระโดดข้ามไม่ได้แม้แต่นิดเดียว
(กราบ)