วิธีพิจารณา อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ)

0
179

หมวด : กรรมฐาน – จตุธาตุววัฏฐาน 4
เรื่อง : วิธีพิจารณา อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ)
บทความ : 16 ก.ย. 2566
โดย : หลวงปู่พุทธะอิสระ
วัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
รับชมย้อนหลังได้ที่ : https://youtu.be/xWsQb-18OP0
รับชมครบทุกตอนได้ที่ :
Website: https://issaradhamchannel.com/tag/จตุธาตุววัฏฐาน-4
YouTube: https://www.youtube.com/playlist?list=PL6Ru9Ju-iZKqkvGgNYgy2GKPPyzzXBoGG

——————————————–

วิธีพิจารณา อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ)
๑๖ กันยายน ๒๕๖๖

การเจริญกายานุปัสสนาในอาการ ๓๒ หมวด จตุธาตุววัฏฐาน ๔ วันนี้ขอนำเสนอการพิจารณาในอาโปธาตุ หรือ ธาตุน้ำ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๑๒ กอง อันได้แก่

๑. น้ำดี อันมีสีสัณฐานดังน้ำชาแก่ กระจายกันอยู่ในกระเพาะลำไส้ และอยู่ในตับ ทำหน้าที่ช่วยย่อยอาหาร ส่วนที่อยู่ในตับก็ช่วยกำจัดสิ่งตกค้างภายในตับ หรือสิ่งที่ตับได้รับมา

๒. น้ำเสลด มีที่อยู่ในลำคอ ในหลอดลม และปะปนอยู่ในอุจจาระ ปัสสาวะ สีสัณฐานของเสลดดุจดังแป้งเปียก ขุ่นขาว

เสลดมีหน้าที่ช่วยหล่อลื่นในคอและหลอดอาหาร

ช่วยหล่อลื่นกระเพาะอาหารและลำไส้

ช่วยปิดกั้นไม่ให้อาหารไหลย้อนกลับและเคลียร์ทางเดินของอาหารทั้งเก่าและใหม่

๓. น้ำหนอง มีสีและสัณฐานเหลืองขุ่นข้น ส่วนจะเหลืองมาก เหลืองน้อย ขุ่นข้นมากหรือขุ่นข้นน้อยก็ขึ้นอยู่กับการอักเสบ ติดเชื้อ ของรอยฟกช้ำหรือบาดแผลนั้นๆ

หากจะว่ากันโดยหน้าที่ หนองต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ร่างกาย คือ กระบวนการส่งสัญญาณอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นแก่ร่างกายในจุดใดจุดหนึ่ง ทั้งยังเป็นกระบวนการต้านทานโรค โดยน้ำเหลืองที่มีอยู่ในร่างกาย

๔. น้ำเลือด ในร่างกายนี้มีอยู่ ๒ ชนิด คือ เลือดดำ กับเลือดแดง ซึ่งไหลเวียนไปทั่วร่างกาย โดยมีหน้าที่นำสารอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกาย

ช่วยรักษาอุณหภูมิให้เย็นและร้อนอย่างสมดุล นำเอาอากาศที่หายใจเข้าปอดไปหล่อเลี้ยงร่างกายในส่วนต่างๆ รวมทั้งเป็นตัวเหนี่ยวนำของเสีย โดยผ่านปอด ไต และผิวหนัง

๕. เหงื่อ มีที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง และถูกขับออกมาตามรูขุมขน เหงื่อนั้นมีหน้าที่รักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง ทั้งยังเป็นเครื่องหน่วงนำของเสียให้ออกไปกับเหงื่อที่ถูกขับออกมาตามรูขุมขน

๖. มันข้น เป็นไขมันสีขาวเหลืองอ่อน แนบอยู่ใต้ผิวหนัง มีหน้าที่ให้ความร้อนแก่ร่างกาย ทำให้เกิดพลังงาน และรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้สมดุล และช่วยลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เพราะสามารถรับแรงกระแทกให้เบาบางลงได้

๗. น้ำตา มีหน้าที่หล่อเลี้ยงดวงตามิให้แห้ง ช่วยขับของเสียและผงฝุ่นละอองที่เข้าตา ทั้งยังช่วยทำให้ดวงตาแจ่มใส ไม่ฝ้าฟาง

๘. มันเหลว มีสีเหลืองอ่อนมีสัณฐาน เหลวข้นอยู่กระจายทั่วไปตามใต้ผิวหนังทั้ง ๓ ชั้น มีหน้าที่จัดการเชื้อโรคที่แทรกซึม แปลกปลอม เข้าไปในผิวหนัง

๙. น้ำลาย มีที่อยู่ในช่องปาก ไหลออกจากต่อมน้ำลาย มีสีใสเหนียว สัณฐานเหนียวข้น มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ช่วยหล่อลื่นในช่องปาก และย่อยอาหารอ่อน และทำหน้าที่หล่อลื่น เมื่อกลั่นอาหารส่งไปตามหลอดอาหาร

๑๐. น้ำมูก มีที่อยู่ในช่องจมูก สีใสๆ เป็นปกติ แต่หากติดเชื้อเป็นโรคจะมีสีเหลืองขุ่นข้น หรือแห้งกรังเป็นก้อน ทำหน้าที่กลั่นกรองอากาศที่จับฝุ่นละอองที่จะเข้าไปในช่องจมูก และรักษาความชุ่มชื้นในช่องจมูก

๑๑. น้ำมันไขข้อ มีที่อยู่ตามข้อกระดูกต่างๆ มีสีเหลืองอ่อนๆ ทำหน้าที่หล่อลื่นตามข้อต่อต่างๆ ของกระดูก ไม่ให้เกิดอาการเสียดสีกันมากเกินไป

๑๒. น้ำปัสสาวะ มีที่อยู่ในกระเพาะปัสสาวะ เป็นน้ำทิ้งของร่างกายที่เหลือใช้ และทำหน้าที่นำพาของเสียออกจากไตและร่างกาย มีสีตามอาการของโรค และสิ่งที่ดื่มกินเข้าไป

น้ำทั้ง ๑๒ กองนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่ภายในร่างกาย โดยทำหน้าที่หลักจริงๆ คือ ทำให้ธาตุดินชุ่มชื้น พอเหมาะที่จะรวมตัวกันอยู่ได้

แต่หากวันใดน้ำในร่างกายมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดินที่มีอยู่จำนวนมากถึง ๒๐ กอง ก็จะแห้ง แตก ร้าว และหลุดลุ่ย ร่วงหล่น ไม่สามารถที่จะเกาะกลุ่มรวมตัวกันอยู่ได้

ธาตุน้ำจึงชื่อว่า เป็นตัวประสานดินนั้นเอง

ในขณะเดียวกัน น้ำจะสามารถทำหน้าที่ได้ดี ก็ต้องมีธาตุไฟคอยควบคุมไม่ให้มากไป ไม่ให้น้อยไป เรียกว่าเป็นธรรมสามัคคี เอาไว้ตามเรียนรู้ ศึกษากันต่อในเรื่องของทุกข์ โรค ภัย ที่เกิดแก่น้ำทั้ง ๑๒ กองนะจ๊ะ

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02LweR81nahkWdY3ixgvenAu6v9CUEW4UVcTm89x1booWWUJzo8prczkagwAPNwVzsl