รับชมครบทุกตอนได้ที่ :
Website: https://issaradhamchannel.com/tag/จตุธาตุววัฏฐาน-4
YouTube: https://www.youtube.com/playlist?list=PL6Ru9Ju-iZKqkvGgNYgy2GKPPyzzXBoGG
——————————————–
วิธีพิจารณา ธาตุลม และธาตุไฟ
๑๙ กันยายน ๒๕๖๖
วันนี้เราท่านทั้งหลายมาเรียนรู้ศึกษาในธาตุลมทั้ง ๖ กอง กันต่อนะจ๊ะ
๑. ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ที่เกิดของลมชนิดนี้เกิดขึ้นมาจากช่องท้อง แล้วผลักดันขึ้นเบื้องบนจนถึงโพรงกะโหลก และเรอออก รวมทั้งออกทางช่องหู ทางตา ทางจมูก
๒. ลมพัดลงเบื้องล่าง เป็นลมที่เกิดจากช่องท้องและลำไส้จนทำให้ต้องผายลมออกมาทางทวาร
๓. ลมที่พัดหมุนวนอยู่แต่เฉพาะในช่องท้อง แต่ไม่อาจออกมาภายนอกได้
๔. ลมที่เกิดขึ้นอยู่แต่เฉพาะในลำไส้ แต่ไม่สามารถออกมาภายนอกได้
๕. ลมที่อยู่ในโพรงกะโหลก และหลอดเลือด หลอดอาหาร
๖. ลมที่เข้าและออกทางช่องจมูก และปาก ตลอดจนถึงปอด
การพิจารณาธาตุลมต้องใช้กำลังของสติอันมีกายรวมใจอย่างยิ่ง จึงจะรู้สึกสัมผัสกองลมทั้งหกนั้นได้อย่างแจ่มชัด จนสามารถจดจำทำเป็นนิมิต เครื่องหมายของที่ตั้งแห่งสติและปัญญาได้
ทีนี้เรามาตามดู ธาตุไฟทั้ง ๔ กอง กันต่อไป
๑. ไฟสำหรับทำให้ร่างกายอบอุ่น ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในไขมันทั้งข้นและเหลว ไฟธาตุนี้ยังมีอยู่ในกล้ามเนื้อ ในกระแสเลือด เส้นเอ็น พังผืด และโพรงกระดูก รวมเรียกทั้งหมดว่า ไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น
๒. ไฟสำหรับเผาลนให้ร่างกายเร่าร้อน จนทุรนทุราย
๓. ไฟสำหรับเผาลนสุ่มให้ร่างกายนี้เสื่อมโทรม คร่ำคร่า แก่ชรา
๔. ไฟสำหรับย่อยอาหารและเผาลนธาตุดิน ธาตุน้ำ ภายในร่างกายให้เสื่อม
การพิจารณาธาตุลมว่ายากแล้ว แต่การพิจารณาธาตุไฟภายในกายยิ่งยากกว่า ต้องใช้กำลังสติ สมาธิ กายรวมใจอย่างมากที่จะจับต้องสัมผัสธาตุไฟภายในกายให้แจ่มชัด จนกลายเป็นนิมิตเครื่องหมาย ถึงจะสามารถเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้อย่างแจ่มชัด
คราวหน้าจะนำโรคแห่งลม และโรคของไฟมาแสดงชี้แจงแก่ท่านทั้งหลายเป็นตอนสุดท้าย
โปรดติดตามตอนต่อไป
พุทธะอิสระ
——————————————–