หนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษจากพุทธบริษัทชาวจังหวัดนครปฐม

0
911

บทความ

หนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษจากพุทธบริษัทชาวจังหวัดนครปฐม

๑๑ มกราคม ๒๕๕๙

110159  หนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษจากพุทธบริษัทชาวจังหวัดนครปฐม (H)

เรื่อง คัดค้านการเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นสมเด็จพระสังฆราช

 

เจริญพร ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

 

ด้านพฤติกรรมของ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ช่วง ในฐานะประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช และกรรมการมหาเถรสมาคมมีความพฤติกรรมที่ละเลย ละเว้น และละเมิดพระธรรมวินัย ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง

 

ที่ว่าละเลย ต่อพระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ทรงบัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ภิกษุผู้บวชมาต้องศึกษาและละเว้นโลกธรรม ๘ ประการ ได้แก่

 

โลกธรรมฝ่าย อิฏฐารมณ์ คือ พอใจของมนุษย์ เป็นที่รักเป็นที่ปรารถนา

๑. ลาภ หมายความว่าได้ผลประโยชน์ ได้มาซึ่งทรัพย์
๒. ยศ หมายความว่า ได้รับฐานันดรสูงขึ้น ได้อำนาจเป็นใหญ่เป็นโต
๓. สรรเสริญ คือ ได้ยิน ได้ฟัง คำสรรเสริญคำชมเชย คำยกยอ เป็นที่น่าพอใจ
๔. สุข คือ ได้ความสบายกาย สบายใจ ความเบิกบาน บันเทิงใจเริงใจ

 

โลกธรรมฝ่าย อนิฏฐารมณ์ คือ ความไม่พอใจของมนุษย์ ไม่เป็นที่ปรารถนา

๑. เสื่อมลาภ หมายความว่า เสียลาภไป ไม่อาจดำรงอยู่ได้
๒. เสื่อมยศ หมายถึง ถูกลดอำนาจความเป็นใหญ่
๓. นินทาว่าร้าย หมายถึง ถูกตำหนิติเตียนว่าไม่ดี ถูกติฉินนินทา หรือถูกกล่าวร้ายให้เสียหาย
๔. ทุกข์ คือ ได้รับความทุกขเวทนา ทรมานกาย ทรมานใจ

 

โลกธรรมทั้ง ๘ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนให้ภิกษุต้องละ ต้องเปลื้องอาสวะ แต่พฤติกรรมของสมเด็จช่วงกลับมีพฤติกรรมที่สะสมทรัพย์สมบัติมากมาย จนนำมาถึงการเข้าไปพัวพันกับการนำรถหรูเลี่ยงภาษีอย่างไม่ละอาย คดีอยู่ใน DSI
ทั้งยังเป็นผู้ทะเยอทะยานต้องการยศถาบรรดาศักดิ์ อยากเป็นพระสังฆราช ละเว้น ได้แก่ละเว้นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหัวหน้าองค์กรปกครองสูงสุดของหมู่สงฆ์

 

ไม่รักษาพระธรรมวินัย ไม่รักษาระเบียบปฏิบัติและกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ ปล่อยปละละเลยให้คนกันเองกระทำการย่ำยีต่อพระธรรมวินัยและกฎหมายคณะสงฆ์ เช่น กรณีปล่อยให้ นายไชยบูลย์หรือธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดธรรมกาย หลอกลวงประชาชน ด้วยการแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์มายาวนานถึง ๑๖ ปี

 

สมเด็จช่วงยังนำชื่อของบุคคลที่ไม่ใช่ภิกษุขอพระราชทานสมณศักดิ์ เช่น กรณีเสนอธัมมชโย ขอพระทานชั้นเทพ ในปี ๒๕๕๔ ทั้งที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงวินิจฉัยให้ ธัมมชโยพ้นจากความเป็นภิกษุในความผิดฐานยักยอกทรัพย์และอวดอุตริมนุสธรรมตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ เช่นนี้เรียกว่ามีกิริยาละเมิด

 

หนำซ้ำยังทำการปกป้องคนผิด ไม่ทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานตุลาการสงฆ์อย่างซื่อตรง มีพฤติกรรมรับสินบนจากผู้ตกเป็นจำเลย เช่น กรณีรับเงินและทองจากธัมมชโย อยู่เนืองนิตย์ มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท

 

อีกทั้งยังปล่อยให้สำนักธรรมกายทำการเดินสายเรี่ยไรตามจังหวัดต่างๆ ทั้งที่มีกฎหมายห้ามเรี่ยไรอยู่

 

เช่นนี้เรียกว่า ละเมิดต่อกฎหมาย ละต่อพระธรรมวินัย

 

ด้วยพฤติกรรมที่เลวร้ายเหล่านี้ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หัวหน้าคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนพระสังฆราช

 

พวกเราประชาชนคนพุทธ จึงมิอาจไว้วางใจให้บุคคลที่มีปัญหา มีมลทิน ไม่เป็นที่ศรัทธา ถูกเสนอชื่อเพื่อทูลเกล้าฯขอพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชได้

 

จักเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและมิอาจทำให้สังฆมณฑลสังคมพุทธบริษัทสงบสุขงดงามได้

 

พวกเราจึงใคร่ขอความกรุณาจากท่านนายกรัฐมนตรี ได้กรุณาใช้อำนาจของ รัฏฐาธิปัตย์ที่มีอยู่ในตัวท่าน อำนาจนั้นสามารถปกครองทั้งอาณาจักรและศาสนจักร ได้กรุณาคัดสรรพระมหาเถระผู้ทรงธรรม ทรงวินัย มีจริยาวัตรอันงดงาม สะอาด ฉลาด สว่าง สงบ เป็นที่ยอมรับเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วไปนำขึ้นทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชองค์ที่ ๒๐ ของพุทธบริษัทไทยสืบไป และกรุณาช่วยเร่งรัดคดีของธรรมกายที่ยืดเยื้อมานาน ให้ลุล่วงจบสิ้นจนความจริงปรากฏชัดแจ้งต่อสังคม พร้อมนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมายให้สาสมต่อโทษที่ได้กระทำไว้ จักเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ให้แก่ผู้ที่ซื่อตรงต่อหลักธรรมวินัย กฎหมายบ้านเมืองสืบไป

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
เจริญพร

 

(หลวงปู่พุทธะอิสระ)