๒ ตุลาคม ๒๕๖๗
ส่วนหนึ่งของคลิปโสดาต้นที่ตอบคำถามในหัวข้อ (พระโสดาบัน “ผิดศีล ?” มีอะไรกันชั่วข้ามคืน มีโอกาสผิดพลาดได้อยู่) (ตอนที่ ๒)
๒. เพราะยังผูกติดกับกามสูตรอยู่
พุทธะอิสระ คิดต่างและสงสัยในคำว่ากามสูตร
โสดาต้นช่วยอธิบายคำว่า กามสูตรมาให้ฟังหน่อยว่า มีสอนอยู่ในพระไตรปิฏกเล่มใด โสดาต้นก็เคยศึกษามาด้วยหรือ
๓. และยังมีสังโยชน์ที่ควบคุมใจให้ไปทำอย่างนั้น คือยังมีการขาดสติที่จะไปทำอย่างนั้นได้อยู่
พุทธะอิสระ คิดต่างในวลีที่โสดาต้นละเมอออกมาว่า พระโสดายังขาดสติที่จะไปละเมิดศีลหรือคนที่ไม่ใช่คู่ครองของตนได้อยู่ เราท่านทั้งหลายลองมาดูคำว่า
สังโยชน์ ๑๐ ว่ามีอะไรบ้าง
๑. สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน เช่นเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวตนของเรา
๒. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย เช่นสงสัยในข้อปฏิบัติ ของตนที่ปฏิบัติตามวิถีแห่งอริยมรรคว่าถูกต้องหรือไม่ สงสัยในพระรัตนตรัยหรือในอริยสัจ ๔ ว่ามีจริงหรือไม่
๓. สีลัพพตปรามาส คือ ความเชื่อถือยึดมั่นว่าความวิเศษศักดิ์สิทธิ์มีได้ด้วยศีลและพรตที่ตนมี
๔. กามฉันทะ หมายถึง ความพึงพอใจ เพลินในการได้เสพ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่น่าพอใจ
๕. ปฏิฆะ หมายถึง ความกระทบกระทั่งในใจ คล้ายความพยาบาทอย่างละเอียด
๖. รูปราคะ หมายถึง ความพอใจในรูปฌาน หรือ รูปธรรมอันประณีต หรือ ความพอใจในรูปภพ
๗. อรูปราคะ หมายถึง ความพอใจในอรูปฌาน หรือ พอใจในอรูปธรรม เช่น ความรู้ เป็นต้น หรือ ความพอใจในอรูปภพ
๘. มานะ หมายถึง ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น เป็นพระอนาคามี (แม้ว่าจะเป็นจริงๆ) เป็นต้น
๙. อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งของจิต
๑๐. อวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้ง
และแม้ว่า พระโสดาบัน จะยังมิได้ละสังโยชน์ข้อที่ ๔ ได้แก่ กามฉันทะ ความพึงพอใจในกามคุณทั้ง ๕ อันมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสก็ตาม
แต่ด้วยคุณธรรมอันเป็นเครื่องอุปการะต่อศีล อันได้แก่ สติ ความระลึกรู้ตัวที่พร้อมอินทรีย์สังวร ความสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ หริความละอายชั่ว โอตัปปะความเกรงกลัวบาป และการรักษาศีล ยิ่งกว่ารักษาชีวิตตนเอง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่พระโสดาบันจะมัวเมาประมาทเลินเล่อจนทำให้ละเมิดต่อศีล
ดังปรากฏในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ – หน้าที่ ๓๑๗ เป็นต้นไป ความตอนหนึ่งได้กล่าวว่า
ในนิมิตทั้งสองนั้น กามฉันท์ย่อมเกิดขึ้นเพราะมนสิการโดยไม่แยบคายในสุภนิมิต. สิ่งที่งามก็ดี อารมณ์ที่งามก็ดี ชื่อว่าสุภนิมิต. การใส่ใจโดยไม่มีอุบายการใส่ใจนอกทาง การใส่ใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่า เที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าสุขในสิ่งที่มิใช่ตัวตนว่าตัวตน หรือในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ชื่อว่า อโยนิโสมนสิการ (การใส่ใจโดยไม่แยบคาย) .
เมื่อภิกษุทำอโยนิโสมนสิการนั้นให้เป็นไปมากๆ ในสุภนิมิตนั้น กามฉันท์ย่อมเกิดขึ้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุภนิมิตมีอยู่ การทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในสุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหาร เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกามฉันท์ที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อทำให้กามฉันท์ที่เกิดแล้วให้กำเริบยิ่งขึ้นดังนี้.
ส่วนกามฉันท์นั้น จะละได้ก็ด้วยโยนิโสมนสิการ (การใส่ใจโดยแยบคาย) ในอสุภนิมิต. สิ่งที่ไม่งามก็ดี อารมณ์ที่ไม่งามก็ดี. ชื่อว่า อสุภนิมิต.การใส่ใจโดยอุบาย การใส่ใจถูกทาง การใส่ใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าทุกข์ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าไม่ใช่ตัวตน หรือในสิ่งที่ไม่งามว่าไม่งาม ชื่อว่า โยนิโสมนสิการ.
เมื่อภิกษุทำโยนิโสมนสิการนั้นให้เป็นไปมากๆ ในอสุภนิมิตนั้น ย่อมละกามฉันท์เสียได้.
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสุภนิมิตมีอยู่ การทำให้มากๆ ซึ่งโยนิโสมนสิการในอสุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหาร เพื่อความไม่เกิดแห่งกามฉันท์ที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อละกามฉันท์ที่เกิดแล้ว.
*****************
เป็นถึงขั้นอริยบุคคลเบื้องต้นชั้นพระโสดาบัน จะต้องมีญาณทัสสนวิสุทธิในระดับพระโสดาอยู่แล้ว
จะเป็นไปได้หรือที่จะไม่มีโยนิโสมนสิการว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป
แม้พระโสดาบันที่เป็นฆราวาสจะมีลูก มีเมีย มีผัวได้ แต่ก็มิหมายถึงต้องละเมิดศีลข้อกาเมในศีล ๕
สิ่งที่โสดาต้นกล่าวว่า พระโสดาบันมีความพลั้งเผลอ มัวเมาประมาทจนผิด เช่นนี้ถือว่า เป็นการกล่าวตู่พระอริยเจ้า ดูหมิ่นต่อพระอริยเจ้า และคำสอนของพระบรมศาสดา มหาเถร เจ้าคณะปกครองมัวทำอะไรอยู่ ขืนปล่อยให้โสดากาฝากกัดเซาะ บ่อนทำลายหลักการของพระธรรมวินัยอันเป็นรากฐานของพระพุทธศาสนาอยู่เช่นนี้
แล้ววันข้างหน้าชาวบ้านประชาชนที่ไม่รู้ความจริง เขาจะยังเชื่อศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อยู่อีกกระนั้นหรือ
คิดแยะๆ หน่อยมหาเถร เจ้าคณะปกครอง
พุทธะอิสระ
——————————————–