ถามมา ตอบไป : ในพระพุทธศาสนามีวิธีจัดการกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างไร ในสมัยพุทธกาลและปัจจุบัน (ตอนที่ 2)

0
33

ถามมา ตอบไป
๑๙ กันยายน ๒๕๖๗

ทีนี้ก็มาตอบคำถามของคนอยากรู้ถามมาว่า กรณีข้อถกเถียงในประเด็นคำสอนผิดเพี้ยน จาบจ้วง ล่วงละเมิดต่อพระพุทธศาสนาใน ๔ ประเด็น ดังที่เคยนำเสนอไปแล้ว

ผู้ถามจึงถามมาว่า ในพระพุทธศาสนามีวิธีจัดการกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างไร ในสมัยพุทธกาลและปัจจุบัน

ก่อนที่คุณจะรู้จักวิธีจัดการกับปัญหาหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา คุณต้องรู้จักกับตัวปัญหาหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นเสียก่อนว่า พระธรรมวินัยนี้จัดแบ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเรียกว่าอธิกรณ์ เอาไว้ ๔ ประเภท ได้แก่

๑. การเถียงกับถกกันในเรื่องธรรมและวินัยเช่นไรเรียกว่าถูก เช่นไรเรียกว่าผิด เช่นนี้ท่านให้เรียกว่า วิวาทาธิกรณ์

๒. การโจทก์หรือกล่าวหากันด้วยอาบัติน้อยใหญ่ทั้งหลาย ที่จะต้องให้ภิกษุผู้มีหน้าที่ระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยเรียกว่า อนุวาทาธิกรณ์

๓. การลงทัณฑ์หรือการปรับอาบัติแก่ภิกษุผู้ละเมิด หรือสั่งให้พ้นจากโทษแห่งอาบัตินั้นๆ เรียกว่า อาปัตตาธิกรณ์ เช่นกรณีภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๔. กิจกรรม การงาน หรือหน้าที่ภิกษุพึงกระทำเช่นการให้อุปสมบท บอกอนุศาสน์ สั่งสอนอบรมธรรม เรียกว่า กิจจาธิกรณ์

เมื่อมีอธิกรณ์เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์เช่นนี้จะมีผู้โจทก์ขึ้นในท่ามกลางสงฆ์หรือไม่ก็ตาม เมื่อสงฆ์หรือภิกษุล่วงรู้เข้าจักต้องนำเรื่องขึ้นสู่ที่ประชุมสงฆ์ เพื่อให้วินิจฉัยพระวินัย ท่านปรับอาบัติแก่ผู้รู้แล้วปกปิด

เมื่ออธิกรณ์นั้นๆ ถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมสงฆ์แล้วจักต้องรีบพิจารณาระงับอธิกรณ์นั้นๆ ในทันที เพื่อหยุดยั้งความเสียหาย

และวิธีหรือหลักในการระงับอธิกรณ์นั้นๆ เรียกว่า อธิกรณสมถะมี ๗ อย่าง คือ

อธิกรณสมถะทั้ง ๗ คือ

๑. สัมมุขาวินัย หมายถึง วิธีระงับหรือตัดสินในที่พร้อมหน้า ได้แก่ พร้อมหน้าโจทก์ พร้อมหน้าพยาน พร้อมหน้าผู้เสียหาย พร้อมหน้าวัตถุ และพร้อมหน้าพระธรรมวินัย โดยมีดังต่อไปนี้

๑.๑ สังฆสัมมุขตา คือ ระงับอธิกรณ์(คดีสงฆ์)ในที่พร้อมหน้าสงฆ์ คือมีสงฆ์เข้าร่วมประชุมครบองค์สงฆ์ตามกิจนั้นๆ เรียกว่าวิธีระงับต่อหน้าสงฆ์

๑.๒ บุคคลสัมมุขตา คือ ระงับอธิกรณ์(คดีสงฆ์)ในที่พร้อมหน้าบุคคล คือมีบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับอธิกรณ์อยู่พร้อมหน้ากันในขนะนั้นด้วย เรียกว่า วิธีระงับต่อหน้าบุคคล

๑.๓ วัตถุสัมมุขตา คือ ระงับอธิกรณ์(คดีสงฆ์)ในที่พร้อมหน้าวัตถุ คือ ยกเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นๆ มาวินิจฉัยตรงตามเรื่องนั้น เรียกว่าวิธีระงับต่อหน้าวัตถุ

๑.๔ ธัมมสัมมุขตา คือ ระงับอธิกรณ์(คดีสงฆ์)ในที่พร้อมหน้าธรรม คือ นำเอาหลักเกณฑ์ของธรรมมาวินิจฉัยว่าถูกต้องตามธรรมนั้นๆ หรือไม่ เรียกว่า วิธีระงับต่อหน้าธรรม

๑.๕ วินัยสัมมุขตา คือ ระงับอธิกรณ์(คดีสงฆ์) ในที่พร้อมหน้าวินัย คือนำเอาวินัยมาวินิจฉัยว่า ถูกต้องตามพระวินัยหรือไม่ เรียกว่า วิธีระงับต่อหน้าวินัย

อนึ่งสัมมุขขาวินัยนี้ใช้ระงับอธิกรณ์ได้ทุกเรื่อง

๒. สติวินัย วิธีระงับคดีหรือตัดสินอธิกรณ์(คดีสงฆ์) ด้วยการยกเอาสติขึ้นเป็นหลักวินิจฉัย ได้แก่ วิธีการระงับอนุวาทาธิกรณ์ที่เกิดขึ้นแก่พระอรหันต์ คือเมื่อมีผู้โจทพระอรหันต์ด้วยศีลวิบัติสงฆ์เห็นว่าจำเลยเป็นพระอรหันต์ไม่อยู่ในฐานะที่จะต้องอาบัติตามที่โจทก์ฟ้องร้องได้ จึงสวดประกาศให้สติวินัยนี้ไว้แก่พระอรหันต์รูปนั้น แล้วยกฟ้องเสีย ภายหลังเมื่อจำเลยถูกผู้อื่นโจทด้วยอาบัติเช่นนั้นอีก ก็ไม่ต้องพิจารณาคดีให้อธิกรณ์(คดีสงฆ์)ระงับด้วยสติวินัยนี้เลย แม้ที่สุดอธิกรณ์ที่เกิดแก่ภิกษุผู้มีสติวิปลาส ก็ใช้หลักพิจารณาในลักษณะเดียวกัน

๓. อมูฬหวินัย วิธีระงับอธิกรณ์(คดีสงฆ์) แก่ภิกษุที่หายเป็นบ้าแล้ว ได้แก่ วิธีระงับอนุวาทาธิกรณ์ที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เป็นบ้า คือภิกษุผู้เป็นจำเลยทำการล่วงละเมิดอาบัติในขณะเป็นบ้า แม้จะได้รับการยกเว้นว่าไม่เป็นอาบัติ(อนาบัติ)ก็จริง เมื่อเธอหายบ้าแล้วมีผู้โจทเธอด้วยอาบัติที่เธอทำล่วงในระหว่างเป็นบ้านั้นแล้ว ๆ เล่าๆ ไม่มีจบสิ้น สงฆ์พึงสวดกรรมวาจาประกาศความข้อนี้ไว้เรียกว่า ให้อนูฬหวินัยแก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้ว จึงยกฟ้องคำร้องของโจทก์เสีย ภายหลังมีผู้มาโจทเธอด้วยอาบัติเช่นนั้นอีก ก็ไม่ต้องวินิจฉัยให้อธิกรณ์ระงับไว้เลย

๔. ปฏิญญาตกรณะ วิธีระงับอธิกรณ์(คดีสงฆ์) ตามคำรับสารภาพของภิกษุผู้เป็นจำเลย คือ มีผู้โจทภิกษุด้วยอาบัติ เมื่อสงฆ์ประชุมวินิจฉัยคดี สอบถามภิกษุผู้เป็นจำเลยนั้นแล้ว และภิกษุจำเลยนั้นก็ยอมรับอาบัติใดตามความสัตย์จริง สงฆ์ก็พึงปรับอาบัติตามที่เธอยอมรับสารภาพนั้น รวมทั้งการปลงอาบัติที่เธอต้องด้วยก็ชื่อว่าปฏิญญาตกรณะนี้ด้วย

๕. ตัสสปาปิยสิกา วิธีระงับอธิกรณ์(คดีสงฆ์) แก่ภิกษุผู้เลวทรามที่ไม่ยอมรับอาบัติ คือ วิธีระงับอนุวาทาธิกรณ์ที่สงฆ์พึงลงโทษแก่ภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์แล้ว เมื่อสงฆ์ประชุมกันพิจารณาคดีกลับให้การกลับไปกลับมา ปฏิเสธบ้าง รับสารภาพบ้าง พูดเถลไถลกลบเกลื่อนข้อที่ถูกซักถามบ้าง และพูดมุสาซึ่งหน้าบ้าง ดังนี้เป็นต้น สงฆ์พึงลงโทษตามความผิด แม้ว่าเธอจะไม่ยอมรับก็ตาม หรือเพิ่มโทษแก่เธอจากอาบัติที่ต้องก็ได้

๖. เยภุยยสิกา วิธีระงับอธิกรณ์(คดีสงฆ์) ด้วยการถือเอาตามเสียงข้างมาก ได้แก่ วิธีการตัดสินอธิกรณ์ในกรณีที่มีความไม่ลงรอยกันของสงฆ์ผู้พิจารณาคดีแตกออกเป็นสองฝ่าย ให้ตัดสินโดยถือเอาเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ เช่น วิธีจับสลากลงคะแนน(ชี้ข้อถูกผิด)ข้างใดมีภิกษุผู้พิจารณาลงความเห็นมากกว่า ก็ถือว่าฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะ แล้วถือเอาตามนั้น ใช้สำหรับวิธีพิจารณาวิวาทธิกรณ์อย่างเดียว

๗. ติณวัตถารกวินัย วิธีระงับอธิกรณ์ด้วยการประนีประนอมกันทั้งสองฝ่าย ได้แก่ วิธีระงับอาปัตตาธิกรณ์ที่เกี่ยวกับลหุกาบัติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับภิกษุจำนวนมาก ต่างฝ่ายต่างก็ประพฤติไม่เหมาะสมด้วยกัน และซัดทอดกันไปมาจนเรื่องสับสนนุงนังไปหมด ซึ่งจะเป็นชนวนให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันหนักขึ้น ถ้าจะระงับด้วยวิธีอื่นยิ่งจะทำให้อธิกรณ์(คดีสงฆ์)ลุกลามใหญ่โตมากขึ้นยากที่จะสอบสวนให้มีการปรับอาบัติและแสดงอาบัติแก่อีกฝ่ายหนึ่งได้ ดังนั้น จึงให้ระงับเสียด้วยการประนีประนอมกัน ยกเลิกอธิกรณ์เสียไม่ต้องสะสางหาความหลังกันอีก (ติณวัตถารกวินัยตามศัพท์แปลว่า วิธีแบบเอาหญ้ากลบไว้ คือพอให้เรื่องต่างๆ แล้วๆ กันไป ไม่เรียบร้อยสมบูรณ์ดีนัก)

อธิกรณสมถะทั้ง ๗ นี้แม้พระบรมศาสดาทรงประทานให้ไว้เป็นหลักในการระงับคดีความ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในการอยู่ร่วมกันของหมู่สงฆ์ก็ตาม

แต่วิธีทั้ง ๗ นี้ต้องกระทำโดยจิตที่หวังดี และเอ็นดู ปรารถนาให้โจทก์และผู้ถูกโจทก์ รวมทั้งผู้เสียหาย เจริญตั้งมั่นอยู่ในกุศลอย่างไม่เสื่อมคลาย

ทั้งต้องไม่ระงับอธิกรณ์หรืออัตถะคดีต่างๆ ด้วยอคติ ๔

๑. ลำเอียงเพราะรัก
๒. ลำเอียงเพราะโกธร
๓. ลำเอียงเพราะกลัวหรือเกรงใจ
๔. ลำเอียงเพราะหลง

ยังไม่จบนะจ๊ะ คราวหน้าต้องมาวินิจฉัยว่า กรณีที่เป็นประเด็นทางสังคม จะจัดเข้าในอธิกรณ์ประเภทใดใน ๔ ประเภท

เช่นนี้จึงจะสมดังพุทธภาษิตที่ว่า

“เย ธมฺมา เหตุ ปัพฺพวา เตสํ เหตุงฺ ตถาคโต
เตสญฺจะ โย นิโรโธ จะ เอวํ วาที มหาสมฺโณ”

ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุ และความดับเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น

พระมหาสมณะมีปกติ ทรงสั่งสอนอย่างนี้

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิงค์จาก : https://www.facebook.com/photo/?fbid=902691171723153&set=a.107732901218988