พระภัททกาปิลานีเถรี (ตอนที่ 2)

0
35

พระภัททกาปิลานีเถรี (ตอนที่ ๒)
๖ มีนาคม ๒๕๖๗

ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่นางภัททา กับ ปิบผลิมาณพ ได้ยกทรัพย์สมบัติให้ให้ทาสเหล่านั้นแล้วคนทั้งสองก็เดินออกไปแสวงหาวิโมกศักดิ์

ต่อมาพระเถระเดินไปข้างหน้าแล้วหันกลับมาแลดู พลางคิดว่าภัททากาปิลานีนี้ เป็นหญิง เดินมาข้างหลังเรา คนอื่น ๆ จะคิดว่า เรานี้แม้บวชแล้วก็ไม่อาจแยกกัน เป็นการไม่สมควรดังนี้ และพิจารณาว่า ถ้ามีใคร ๆ คิดต่อเราในทางร้ายเช่นนี้ก็จะเป็นบาปเป็นโทษแก่คนเหล่านั้น เราควรที่จะแยกทางไปจากนางเสีย

พระเถระเดินไปข้างหน้าเห็นทาง ๒ แพร่ง จึงได้หยุดอยู่ที่ปากทางนั้น

ฝ่ายนางภัททากาปิลานีเมื่อเดินมาถึงแล้วจึงไหว้ พร้อมทั้งยืนอยู่ พระเถระจึงกล่าวแก่นางภัททากาปิลานีว่า ถ้ามีผู้เห็นสตรีเช่นเจ้าเดินมาข้างหลัง ชาวบ้านเขาจะคิดว่า เราทั้งสองนี้ถึงบวชแล้วก็ไม่อาจแยกกัน แล้วจะคิดต่อพวกเราในทางร้าย พวกเขาก็จะได้รับบาปรับโทษในอบาย ตรงนี้เป็นทาง ๒ แพร่ง เธอจงไปทางสายหนึ่ง เราก็จะไปทางอีกสายหนึ่ง

นางภัททากาปิลานีเห็นด้วยแล้วนางจึงทำประทักษิณ ๓ ครั้ง รอบกายของปิบผลิมาณพ กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ในที่ทั้ง ๔ แห่ง (คือ ข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างขวา) แล้วกล่าวว่า ความสนิทสนมของเราทั้งสองฐานมิตร อันได้สร้างมาไว้อย่างยาวนานตลอดแสนกัป คงจักสิ้นสุดลงในวันนี้

แล้วกล่าวว่าท่านมีทางที่จะไปเบื้องขวา ทางขวาสมควรแก่ท่าน ดิฉันชื่อว่าเป็นมาตุคาม มีทางที่ควรไปทางเบื้องซ้าย หนทางด้านซ้ายสมควรแก่ดิฉัน

นางกล่าวดังนี้แล้วเดินทางไปทางเบื้องซ้าย ในเวลาที่ท่านทั้งสองนั้นแยกทางกัน ด้วยอำนาจบารมีที่สั่งสมอบรมร่วมกันมาเป็นแสนกัป เมื่อทั้งสองตกลงปลงใจที่จะแยกจากกัน จึงทำให้มหาปฐพีได้สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น เหมือนจะพูดว่า เราสามารถรองรับเขาจักรวาล และเขาสิเนรุได้ แต่ไม่อาจรองรับคุณความดี บารมีธรรมที่ทั้งสองได้ร่วมกันกระทำมาอย่างยาวนาน แต่มาบัดนี้ได้ตัดใจจากกัน โดยไม่มีเยื่อใยแก่กันได้จบสิ้นสุดลงเสียแล้ว

แม้ในอากาศก็พลันบังเกิดเสียงเหมือนฟ้าผ่า ภูเขาในหมู่จักรวาลก็โอนเอนไปมา

ขณะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับนั่งในพระคันธกุฎี ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ได้สดับเสียงแผ่นดินไหวจึงทรงพระรำพึงว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้ใครเป็นต้นเหตุเล่าหนอ จึงทรงทราบด้วยข่ายพระญาณว่า ปิบผลิมาณพ และนางภัททากาปิลานี สละสมบัติแล้วออกบวชอุทิศแด่เราตถาคต แผ่นดินไหวนี้เกิดด้วยกำลังแห่งคุณธรรมของคนทั้งสอง เราก็ควรทำการสงเคราะห์คนทั้งสองให้เข้าสู่อริยผลสืบไป

องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี โดยลำพังเพียงพระองค์เดียว ทรงถือบาตรและจีวร โดยไม่ตรัสเรียกใคร ๆ ในบรรดาพระมหาสาวก ๘๐ องค์ เสด็จไปด้วยเลย

ทรงเสด็จไปประทับนั่งขัดสมาธิที่โคนต้นพหุปุตตกนิโครธ ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา ทรงเปล่งพระรัศมีออกจากพระวรกายประมาณ ๘๐ ศอก

ในขณะนั้น พระฉัพพรรณรังสี ก็ได้พุ่งกระจายออกไปรอบด้าน ประดุจดังพระจันทร์ และพระอาทิตย์ขึ้นเป็นพัน ๆ ดวง ทำให้ชายป่าบริเวณนั้นให้ปรากฎแสงสว่างขึ้นระยิบระยับตระการตาดูช่างงดงามยิ่งนัก

ส่วนพระฉัพพรรณรังสีที่เปล่งออกมาจากพระวรกายของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามี ๖ สี ดังนี้

สีนีละ – สีเขียวเหมือนดอกอัญชัน ดอกผักตบ ดอกบัวเขียว แววนกยูง และปีกแมลงภู่ คือสีน้ำเงินนั่นเอง

สีปีตะ – สีเหลืองเหมือนดอกกรรณิการ์ หรดาล และทองชมพูนุท

สีโรหิตะ – สีแดงเหมือนนํ้าครั่งและชาด เหมือนดอกชบา และดอกทับทิม

สีโอทาตะ – สีขาวเงินยวง เหมือนดอกพุดและสังข์

สีมัญเชฏฐะ – สีแสดเหมือนหงอนไก่ ดอกอังกาบ ดอกชบาเทศ ดอกเทียนไทย และดอกทองฟ้า ที่ออกแสงเหมือนทองแดงที่ขัดเงาแล้ว

สีประภัสสร – สีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก (คือสีทั้ง 5 ข้างต้นรวมกัน)

ธรรมดาต้นนิโครธจะมีลำต้นขาว มีใบเขียว ผลสุกแดง แต่พอต้องฉัพพรรณรังสี ต้นนิโครธกลับมีกิ่งขาว มีสีดุจดังทอง

ปิบผลิเถระ ครั้งได้เห็นจึงได้รู้ในทันทีว่า นี้คือองค์พระบรมศาสดาทรงเสด็จมาโปรด จึงตรงเข้าไปซบเศียรลงบนหลังพระบาท หลังจากทำประทักษิณ

พระพุทธเจ้าทรงให้การอุปสมบทพระปิบผลิเถระด้วยวิธีโอวาทปฏิคคหณอุปสัมปทา หลังจากได้อุปสมบทแล้ว ได้นามว่า กัสสปะ (เป็นชื่อเรียกกันตามโคตร ตามวงศ์ตระกูลของท่าน)

“ข้าพระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก” ๓ ครั้ง พร้อมทั้งถวายสักการะต่อองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าโดยจิตเลื่อมใสด้วยการทุ่มเทกายใจทั้งหมดเห็นปานนี้

ที่พระมหากัสสปเถระกระทำต่อพระพุทธองค์ ท่านเปรียบเอาไว้ว่า ถ้าท่านพระมหากัสสปเถระกระทำการเคารพเช่นนี้ต่อผู้อื่นที่มิใช่พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ศีรษะของผู้นั้น “พึงหลุดจากคอ ดุจตาลสุกหล่นฉะนั้น” และอรรถกถาก็อธิบายเพิ่มเติมว่า

“หากพระมหากัสสปเถระพึงความเคารพ ด้วยจิตเลื่อมใสอย่างยิ่งนี้ ต่อมหาสมุทร.มหาสมุทรจะต้องถึงความเหือดแห้ง ดุจหยาดน้ำที่ใส่ในกระเบื้องร้อน.

หากพึงทำความเคารพต่อจักรวาล.จักรวาลต้องกระจัดกระจายดุจกำแกลบ.

หากพึงทำความเคารพต่อเขาสิเนรุ.เขาสิเนรุต้องย่อยยับดุจก้อนแป้งที่ถูกกาจิก

หากพึงทำความเคารพต่อแผ่นดิน.แผ่นดินต้องกระจัดกระจายดุจผุยผงที่ถูกลมหอบมา”

ต่อมาองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ประทาน โอวาทปฏิคคหณอุปสัมปทา แก่พระมหากัสสปเถระด้วยโอวาท ๓ ประการ ดังนี้

ดูก่อน กัสสป! เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอาย และความเกรงไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นผู้เฒ่า ทั้งที่เป็นผู้ใหม่ ทั้งที่เป็นผู้ปานกลาง อย่างแรงกล้า, เธอพึงศึกษาอย่างนี้แหละ กัสสป !

ดูก่อน กัสสป ! เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่าเราจักฟังธรรมอันใดอันหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยกุศล, เราเงี่ยหูจักฟังธรรมนั้นทั้งหมด ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ รวบรวมไว้ทั้งหมดด้วยใจ, เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล กัสสป !

ดูก่อน กัสสป ! เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า ก็สติที่เป็นไปในกายของเรา ซึ่งประกอบด้วยความสำราญ จักไม่ละเราเสีย, เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล กัสสป !

ครั้นประทานแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงดำริว่า เราจักทำภิกษุนี้ให้เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร มีอาสนะเดียวเป็นวัตร จึงทรงสอนพระมหากัสสปะ ให้สมาทานธุดงค์คุณ ๑๓ ข้อและบำเพ็ญเพียรในการปฏิบัติธรรม เพียง ๗ วันและได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในเช้าของวันที่ ๘

ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ทำบุญมาดีแล้ว แต่กาลก่อนอย่างยาวนาน เป็นเหตุให้ได้พบแต่สิ่งดีๆ จนกระทั้งได้พบพระบรมศาสดา

บารมีธรรม ท่านมิได้ทำแค่ชั่วครั้งชั่วครู่ ประเดี๋ยวประด๋าว แต่ท่านทำมาเป็นแสนชาติ แสนกัป

จึงสามารถส่งผลให้สำเร็จประโยชน์เห็นปานนี้

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0BiPur9BNrCGUXhchZgVxRynypLsWHFHzQLBMXtHx3jWCpKLG4vt9tpjttREuY7pcl