ประวัตินางวิสาขาอุบาสิกา (ตอนที่ ๑๓)
๑๖ มกราคม ๒๕๖๗
ความเดิมตอนที่แล้ว จบลงตรงที่พระบรมศาสดา ทรงแต่งตั้งนางวิสาขาอุบาสิกาไว้ในตำแหน่งเป็นเลิศในการบริจาคทาน
กาลต่อมา องค์พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเสด็จออกจากพระนครสาวัตถี เสด็จไปทรงประทับในพระนครพาราณสี ทรงประทับอยู่พระเชตวันมหาวิหาร ตามพุทธอัธยาศัย ในระยะเวลาหนึ่ง แล้วทรงเสด็จกลับมาทรงประทับในพระนครสาวัตถี
ครั้งนั้น นางวิสาขา มิคารมาตาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วทูลพรรณนาถึงความอาวรณ์ที่นางมิได้มีโอกาสทำมหาทานแด่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าและหมู่สงฆ์เสียหลายวัน จนมิอาจกินมิอาจนอน
องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงชี้ให้นาง เห็นแจ้ง ถึงสิ่งที่นางควรจักรักษาจิตให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาพรรณนาในอนุสติทั้ง ๑๐ ประการ ดังนี้
– พุทธานุสติคือการตามระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า หรือการผูกจิตไว้ด้วยพระคุณของพระพุทธเจ้า
-ธัมมานุสติคือการตามระลึกถึงคุณของพระธรรม หรือการผูกจิตไว้ด้วยคุณของพระธรรม
-สังฆานุสติคือการตามระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์ หรือการผูกจิตไว้ด้วยคุณของพระสงฆ์
-สีลานุสติคือการตามระลึกถึงคุณของศีล หรือการผูกจิตไว้ด้วยคุณของศีล
-จาคานุสติคือการตามระลึกถึงทาน หรือการผูกจิตไว้กับการให้ทาน
-เทวตานุสติคือการตามระลึกถึงเทวดา หรือคุณความดีของเทวดา หรือการผูกจิตไว้กับเทวดาหรือคุณของเทวดา
-อุปสมานุสติคือการตามระลึกถึงคุณแห่งพระนิพพาน หรือการผูกจิตไว้กับคุณของพระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาวะที่ดับและเย็น
-มรณานุสติคือการตามระลึกถึงความตาย ว่าเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นสภาวะที่เป็นจริงอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในทุกชีวิตเมื่อเกิดมาแล้วย่อมต้องตาย แม้ตัวเราก็มีความตายเป็นที่สุดในสักวันหนึ่ง
-กายคตาสติคือการตามระลึกถึงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งของร่างกาย อวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่งของร่างกาย หรือการผูกจิตไว้กับกายอย่างใดอย่างหนึ่ง
-อานาปานสติคือการตามระลึกถึงลมหายใจเข้าออก หรือการผูกจิตหรือสติไว้กับลมหายใจที่แล่นเข้าออกอยู่ในกายนี้
นางวิสาขาได้สดับพระธรรมเทศนานี้แล้ว ก็ให้มีจิตรื่นเริงยินดีพร้อมทั้งกราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคว่า ขอพระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยพระสงฆ์จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของหม่อมฉัน ณ ที่เรือนพัก เพื่อเจริญบุญกุศลและปิติ ปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาด้วยดุษณีภาพ
ครั้นนางทราบการรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป
ครั้นผ่านราตรีนั้นไป ฝนก็ได้ตั้งเค้าขึ้นในทวีปทั้ง ๔ ตกลงมาห่าใหญ่
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝนตกในเชตวัน ฉันใด ตกในทวีปทั้ง ๔ ก็ฉันนั้น พวกเธอจงสรงสนานกายกันเถิด เพราะเป็นครั้งสุดท้ายในฤดูนี้แล้วที่ฝนจะตกลงมาในทวีปทั้ง ๔ จนท่วมท้นเนืองนอง ทั่วทุกภูมิภาคล้วนมีน้ำสูงตั้งแต่ตาตุ่มจนถึงเขาบ้าง สะเอวบ้าง
ภิกษุเหล่านั้นรับสนองพระพุทธบัญชาว่า
เป็นดังพระพุทธดำรัส พระพุทธเจ้าข้า แล้วพากันเปลื้องผ้าสรงสนานกายอยู่
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตา สั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของบริโภคอันประณีต แล้วสั่ง ทาสีว่า ไปเถิดแม่ เจ้าจงไปอารามแล้วแจ้งภัตกาลว่า ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว เจ้าข้า
ทาสีนั้นรับคำ แล้วไปยังวัด ได้เห็นภิกษุเปลื้องผ้าสรงสนานกาย แล้วเข้าใจผิดคิดว่า ในอารามไม่มีภิกษุมีแต่พวกอาชีวกสรงสนานอยู่ จึงกลับไปยังเรือนของนายตนได้ แจ้งความแก่นางวิสาขามิคารมาตาว่า
คุณแม่เจ้าข้า ภิกษุไม่มีในอาราม มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานอยู่เจ้าค่ะ
นางวิสาขามิคารมาตา เป็นสตรีฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญารู้ได้ทันทีว่า
พระคุณเจ้า ทั้งหลายคงเปลื้องผ้าพากันสรงสนานกายเป็นแน่ นางคนนี้เขลาจึงสำคัญว่า ไม่มีภิกษุในอาราม มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานกายอยู่ จึงสั่งสาวใช้ว่า ไปเถิดแม่ทาสี เจ้าจงไปอารามแล้วแจ้งเวลาที่ควรมารับภัตตาหารว่า ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้วเจ้าข้า.
ครั้นเวลาต่อมา ภิกษุเหล่านั้น ทำตัวให้เย็น มีกายงาม ต่างถือจีวรเข้าไปสู่ที่อยู่ตามเดิม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเตรียมบาตรจีวร ถึงเวลาไปรับภัตตาหารที่เรือนของอุบาสิกาแล้ว.
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระพุทธบัญชาว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
เช้านั้นแม้องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรจีวร เสด็จหายไปในพระเชตวัน มาปรากฏที่ซุ้มประตูบ้านนางวิสาขามิคารมาตา ดุจบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียดข้ามบานหน้าต่างและประตูฉะนั้น พระองค์ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดถวาย พร้อมด้วยพระสงฆ์.
ขณะนั้น นางวิสาขามิคารมาตากล่าวว่า ชาวเราผู้เจริญเอย ช่างน่าอัศจรรย์จริงหนอ ชาวเราผู้เจริญเอย ประหลาดจริงหนอ พระตถาคตและพุทธสาวก ชื่อว่าเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เพราะเมื่อห้วงน้ำไหลนองไปเพียงเข่าบ้าง เพียงสะเอวบ้าง เท้าหรือจีวรของภิกษุ แม้รูปหนึ่ง ก็ไม่ได้เปียกเปื้อนน้ำเลย ดังนี้แล้ว ร่าเริง เบิกบานใจ อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จแล้ว ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรห้ามภัตรแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง นางวิสาขาได้กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคว่า
หม่อมฉันทูลขอประทานพร ๘ ประการต่อพระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาค : ตถาคตยังไม่ได้ให้พรเลย วิสาขา
วิสาขา : หม่อมฉันกำลังทูลขอประทานพรที่สมควรและไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาค : เช่นนั้นเธอจงบอกมาเถิด วิสาขา.
วิสาขา : พระพุทธเจ้าข้า สำหรับพระสงฆ์
หม่อมฉันขอปรารถนาจะถวายผ้าวัสสิกสาฎก(ผ้าอาบน้ำฝน) จนตลอดชีพ
ขอถวายภัตรเพื่อพระอาคันตุกะ(อาหารเพื่อพระภิกษุผู้จรมาใหม่) จนตลอดชีพ
ขอถวายภัตรเพื่อพระที่เตรียมจะไป(เดินทางไกล) จนตลอดชีพ
ขอถวายภัตรเพื่อพระอาพาธ (ป่วย) จนตลอดชีพ
ขอถวายภัตรเพื่อพระที่พยาบาลพระอาพาธ จนตลอดชีพ
ขอถวายเภสัชสำหรับพระอาพาธ จนตลอดชีพ
ขอถวายยาคูประจำ (ข้าวต้มประจำวัน) จนตลอดชีพ
และสำหรับภิกษุณีสงฆ์ หม่อมฉันปรารถนาจะถวายอุทกสาฎก (ผ้านุ่งอาบน้ำ) จนตลอดชีพ
พระผู้มีพระภาค : วิสาขา ก็เธอเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงขอพร ๘ ประการ ต่อตถาคต.
วิสาขา : พระพุทธเจ้าข้า วันนี้หม่อมฉันสั่งทาสีว่า ไปเถิด แม่ทาสี เจ้าจงไปอาราม แล้วบอกภัตรกาลว่า ภัตตาหารเสร็จแล้ว เจ้าข้า และนางก็ไปวัด ได้เห็นภิกษุทั้งหลายเปลื้องผ้าสรง สนานกายอยู่ เข้าใจผิดคิดว่า ไม่มีภิกษุในอาราม มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานกายอยู่ จึงกลับมาบ้าน แล้วรายงานแก่หม่อมฉันว่า คุณพระแม่เจ้า ไม่มีภิกษุในอาราม มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานกายอยู่.
๑ พระพุทธเจ้าข้า ความเปลือยกายไม่งาม น่าเกลียด น่าชัง หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายผ้าวัสสิกสาฎกแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ.
๒ อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า พระอาคันตุกะไม่ชำนาญหนทาง ไม่รู้จักที่โคจร ย่อมเที่ยวบิณฑบาตลำบาก ท่านฉันอาคันตุกภัตรของหม่อมฉัน พอชำนาญหนทาง รู้จักที่โคจร จักเที่ยวบิณฑบาตได้ไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวาย อาคันตุกภัตรแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ
๓ อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า พระผู้เตรียมตัวจะไปมัวแสวงหาภัตตาหาร เพื่อตนอยู่ จักพลาดจากหมู่เกวียน หรือจักถึงสถานที่ที่ตนต้องการจะไปอยู่เมื่อพลบค่ำ จักเดินทางลำบาก ท่านฉันคมิกภัตรของหม่อมฉันแล้ว จักไม่พลาดจากหมู่เกวียน หรือจักถึงสถานที่ ที่ตนต้องการจะไปอยู่ไม่พลบค่ำ จักเดินทางไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายคมิกภัตรแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ
๔ อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า เมื่อพระอาพาธไม่ได้โภชนาหารที่เป็นสัปปายะอาพาธกำเริบ หรือท่านจักถึงมรณภาพ เมื่อท่านฉันคิลานภัตรของหม่อมฉันแล้ว อาพาธจักทุเลา ท่านจักไม่ถึงมรณภาพ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายคิลานภัตรแก่สงฆ์ จนตลอดชีพ
๕ อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า พระผู้พยาบาลพระอาพาธ มัวแสวงหาภัตตาหารเพื่อตน จักนำภัตตาหารไปถวายพระอาพาธจนสาย ตนเองจักอดอาหาร ท่านได้ฉันคิลานุปัฏฐากภัตรของหม่อมฉันแล้ว จักนำภัตตาหารไปถวายพระอาพาธตามเวลา ตนเองก็จักไม่อดอาหาร หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายคิลานุปัฏฐากภัตรแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ
๖ อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า เมื่อพระอาพาธไม่ได้เภสัชที่เป็นสัปปายะอาพาธจักกำเริบ หรือจักถึงมรณภาพ เมื่อท่านฉันคิลานเภสัชของหม่อมฉันแล้ว อาพาธจักทุเลาท่านจักไม่ถึงมรณภาพ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายคิลานเภสัชแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ
๗ อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงเห็นอานิสงส์ ๑๐ ประการได้ทรงอนุญาตยาคูไว้แล้ว ที่เมืองอันธกวินทะ หม่อมฉันเห็นอานิสงส์ตามที่พระองค์ตรัสนั้น จึงปรารถนาจะถวายยาคูประจำแก่สงฆ์ จนตลอดชีพ
๘ พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุณีทั้งหลายเปลือยกายอาบน้ำร่วมท่ากับหญิงแพศยา ณ แม่น้ำอจิรวดีนี้ หญิงแพศยาเหล่านั้นพากันเย้ยหยันภิกษุณีว่า แม่เจ้าเอ๋ย พวกท่านกำลังสาวประพฤติพรหมจรรย์จะได้ประโยชน์อะไร ควรบริโภคกามมิใช่หรือ ประพฤติพรหมจรรย์ต่อเมื่อแก่เฒ่าอย่างนี้ จักเป็นอันพวกท่านยึดส่วนทั้งสองไว้ได้ ภิกษุณีเหล่านั้น ถูกพวกหญิงแพศยาเย้ยหยันอยู่ ได้เป็นผู้เก้อ ความเปลือยกายของมาตุคามไม่งาม น่าเกลียด น่าชัง หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายผ้าอุทกสาฎก แก่ภิกษุณีสงฆ์จนตลอดชีพ.
พระผู้มีพระภาคครั้งทรงสดับคำขอของนาง จึงทรงตรัสว่า : วิสาขา ก็เธอเห็นอานิสงส์อะไร จึงขอพร ๘ ประการต่อตถาคต
วิสาขา : พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้ จำพรรษาในทิศทั้งหลายแล้ว จักมาพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระองค์ แล้วจักทูลถามว่า ภิกษุมีชื่อนี้ถึงมรณภาพแล้ว ท่านมีคติอย่างไร มีภพหน้าอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า พระองค์จักทรงพยากรณ์ภิกษุนั้นในโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อานาคามิผล หรืออรหัตผล หม่อมฉันจักเข้าไปหาภิกษุพวกนั้น แล้วเรียนถามว่า
พระคุณเจ้ารูปนั้นเคยมาพระนครสาวัตถีไหมเจ้าข้า ถ้าท่านเหล่านั้นจักตอบแก่หม่อมฉันว่า ภิกษุ นั้นเคยมาพระนครสาวัตถี หม่อมฉันจักถึงความตกลงใจในการมาของพระคุณเจ้ารูปนั้นว่า
พระคุณเจ้ารูปนั้นคงใช้สอยผ้าวัสสิกศาฎก คงฉันอาคันตุกภัตร คมิกภัตร คิลานภัตร คิลานุปัฏฐากภัตรคิลานเภสัช หรือยาคูประจำเป็นแน่ เมื่อหม่อมฉันระลึกถึงกุศลนั้นอยู่ ความปลื้มใจจักบังเกิด เมื่อหม่อมฉันปลื้มใจแล้ว ความอิ่มใจจักบังเกิด เมื่อมีใจอิ่มเอิบแล้ว กายจักสงบ เมื่อมีกายสงบแล้ว จักเสวยสุข เมื่อมีความสุข จิตจักตั้งมั่น จักเป็นอันหม่อมฉันได้อบรมอินทรีย์ อบรมพละ อบรมโพชฌงค์นั้น หม่อมฉันเห็นอานิสงส์นี้ จึงขอประทานพร ๘ ประการต่อพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาค : ดีละ ดีละ วิสาขา ดีแท้ วิสาขา เธอเห็นอานิสงส์นี้ จึงขอพร ๘ ประการ ต่อตถาคต เราอนุญาตพร ๘ ประการแก่เธอ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนานางวิสาขามิคารมาตา ด้วยพระคาถาเหล่านี้ ว่าดังนี้:
สตรีใด ให้ข้าวและน้ำ มีใจเบิกบานแล้ว สมบูรณ์ด้วยศีล
เป็นสาวิกาของพระสุคต ครอบงำความตระหนี่แล้ว บริจาค
ทานอันเป็นเหตุแห่งสวรรค์ เป็นเครื่องบรรเทาความโศก
นำมาซึ่งความสุข สตรีนั้น อาศัยมรรคปฏิบัติ ปราศจากธุลี
ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วใจ ย่อมได้กำลังและอายุเป็นทิพย์ สตรี
ผู้ประสงค์บุญนั้น เป็นคนมีสุข สมบูรณ์ด้วยอนามัย ย่อม
ปลื้มใจในสวรรค์สิ้นกาลนาน
อะโหพุทโธ อะโหธัมโม อะโหโพธิสัตว์โต อะโหสังโฆ อะโหคุณศีล คุณธรรม คุณทานณายะโก อะโหวันทามิสัพพะโส
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
โปรดติดตามตอนต่อไป
พุทธะอิสระ
——————————————–