ประวัตินางวิสาขาอุบาสิกา (ตอนที่ 10)

0
47

ประวัตินางวิสาขาอุบาสิกา (ตอนที่ ๑๐)
๙ มกราคม ๒๕๖๗

ตอนที่แล้วจบลงตรงที่ นางวิสาขาแสดงบุญฤทธิ์ให้แก่มหาชนชาวพระนครสาวัตถี และพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้เห็นว่า นางสามารถผลักช้างที่กำลังตกมันให้ล้มได้ด้วยนิ้วเพียง ๒ นิ้ว เท่านั้น คือ นิ้วโป้งกับนิ้วชี้

ต่อมา ในวันมหรสพวันหนึ่ง เมื่อมหาชนแต่งตัวไปวิหารเพื่อฟังธรรม แม้นางวิสาขา บริโภคอาหารในเรือนของตนแล้ว ก็แต่งองค์ทรงเครื่องมหาลดาปสาธน์ ไปวิหารพร้อมกับมหาชน
ขณะที่นางวิสาขากำลังเดินไปวิหาร นางก็ครุ่นคิดว่า

“การที่เราสวมเครื่องประดับมีค่ามากเห็นปานนั้นไว้บนศีรษะแล้วประดับเครื่องเพชร อัญมณีมีค่าอลังการตั้งแต่ศีรษะจนถึงหลังเท้า เข้าไปสู่วิหาร นั้นเป็นการไม่ควร”

นางจึงเปลื้องเครื่องประดับใส่ผ้าผูกเป็นห่อ แล้วส่งให้ในมือของหญิงคนผู้หนึ่งซึ่งเป็นหลานสาวของตน ทั้งยังมีกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก เป็นผู้เกิดด้วยบุญของตนเหมือนกัน หญิงคนที่คอยรับใช้คนเดียวนั้นจึงสามารถรับเครื่องประดับมหาลปสาธน์ อันมีน้ำหนักถึง ๕๐ ชั่ง นั้นได้ เพราะเหตุนั้น นางวิสาขา จึงกล่าวกะหญิงผู้เป็นหลานคอยรับใช้นั้นว่า

“แม่หญิงเจ้า จงรับเครื่องประดับนี้ไว้ ฉันจักสวมมันในเวลากลับจากสำนักของพระศาสดา”

นางวิสาขา ครั้นให้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นั้นแล้ว จึงสวมเครื่องประดับชื่อฆนมัฏฐกะ เข้าไปเฝ้าพระศาสดา สดับธรรม

ในที่สุดการสดับธรรม นางถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าลุกจากอาสนะหลีกไปแล้ว ฝ่ายหญิงคนใช้นั้นของนางลืมเครื่องประดับนั้นไว้ในพระวิหารที่ฟังธรรม ก็เมื่อหากพุทธบริษัทฟังธรรมแล้วหลีกไป ถ้ามีใครลืมของอะไรไว้ พระอานนทเถระจักคอยทำหน้าที่กวาดพระวิหาร ท่านก็จักเก็บของนั้นไว้คืนเจ้าของแต่ภายหลัง เพราะเหตุดังนี้ในวันนั้น ท่านเห็นเครื่องมหาลดาปสาธน์แล้วจึงทูลแด่พระศาสดาว่า

“นางวิสาขา ได้ลืมเครื่องประดับไว้ แล้วกลับไปแล้ว พระเจ้าข้า.”

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า

“จงเก็บไว้ในที่สุดข้างหนึ่งเถิด อานนท์.”

พระเถระจึงยกเครื่องประดับนั้น เก็บคล้องไว้ข้างบันได

ฝ่ายนางวิสาขา เที่ยวเดินไปภายในวิหาร กับนางสุปปิยา ด้วยตั้งใจว่า “จักดูสิ่งที่ควรทำแก่ภิกษุอาคันตุกะ ภิกษุผู้เตรียมตัวจะไป และภิกษุผู้เป็นไข้เป็นต้น.” ก็โดยปกติแล ภิกษุหนุ่มและสามเณรผู้ต้องการด้วยเนยใสน้ำผึ้งและน้ำมันเป็นต้น เห็นอุบาสิกาเหล่านั้นในภายในวิหารแล้ว ย่อมถือภาชนะมีถาดเป็นต้น เดินเข้าไปหาอุบาสิกาเหล่านั้น และในวันนั้น ภิกษุหนุ่มและสามเณรก็ทำแล้วอย่างนั้นเหมือนกัน

ฝ่ายนางวิสาขาตรวจดูภิกษุหนุ่มและสามเณรผู้เป็นไข้แล้วก็ออกโดยประตูอื่น ยืนอยู่ที่อุปจารวิหารแล้ว พูดว่า

“แม่ จงเอาเครื่องประดับมา ฉันจักแต่งตัว”

ในขณะนั้นหญิงคนใช้นั้นก็รู้ว่าตนลืมแล้วออกมา จึงตอบว่า

“ดิฉันลืม เจ้าคะพระแม่เจ้า.”

นางวิสาขา กล่าวว่า

“ถ้ากระนั้น จงไปเอามา แต่ถ้าพระผู้เป็นเจ้าอานนทเถระของเรา ยกเก็บเอาไว้ในที่อื่น เจ้าอย่าเอามา ฉันบริจาคเครื่องประดับนั้น ถวายพระผู้เป็นเจ้านั่นไปเลย”

นัยว่า นางวิสาขานั้นย่อมรู้ว่าพระเถระย่อมเก็บสิ่งของที่พวกพุทธบริษัทลืมไว้ เพราะฉะนั้น จึงพูดอย่างนั้น.

ฝ่ายพระเถระ พอเห็นนางคนใช้ย้อนกลับมา จึงถามว่า

“เจ้ามาเพื่อประสงค์อะไร?”

เมื่อหญิงคนใช้นั่นตอบว่า

“ดิฉันลืมเครื่องประดับของแม่เจ้าของดิฉันไว้ในที่ฟังธรรม ดิฉันจึงได้มานำเอาเครื่องประดับนั้นกลับไป”

พระอานนทเถระจึงกล่าวว่า “ฉันเก็บมันไว้ที่ข้างบันไดนั้น เธอจงไปเอา”

หญิงคนใช้นั้นตอบว่า

“พระผู้เป็นเจ้า ห่อภัณฑะที่ท่านเอามือถูกแล้ว แม่เจ้าของดิฉัน สั่งมิให้นำเอากลับไปเจ้าค่ะ”
เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว กลับไปมือเปล่าแล้วแจ้งเนื้อความนั้นแก่นางวิสาขา

นางวิสาขา กล่าวว่า “แม่ ฉันจักไม่ประดับเครื่องที่พระผู้เป็นเจ้าของฉันถูกต้องแล้ว ฉันบริจาคแล้ว แต่พระผู้เป็นเจ้ารักษาไว้ จักเป็นการลำบากแก่ท่าน ฉันจำหน่ายเครื่องประดับนั้นแล้วจักน้อมนำสิ่งที่เป็นกัปปิยะไปถวายแต่ภายหลัง เจ้าจงไปเอาเครื่องประดับนั้นมา.”

หญิงคนใช้นั้นไปนำเอาเครื่องประดับนั้นมา

นางวิสาขา ไม่แตะเครื่องประดับนั้น สั่งให้เรียกพวกช่างทองมาแล้วให้ตีราคา เมื่อพวกช่างทองเหล่านั้นตอบว่า

“เฉพาะเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นี้ มีราคาถึง ๖ โกฏิ ไม่รวมค่ากำเหน็จต้องมีราคาไม่ต่ำกว่าแสนกหาปณะ”

นางจึงสั่งให้หญิงรับใช้นำเครื่องประดับไปไว้บนยานแล้วกล่าวว่า

“ถ้ากระนั้น พวกท่านจงนำเครื่องประดับนี้ไปเร่ขาย”

แต่เมื่อช่างทองนำเครื่องประดับนั้นออกไปเร่ขาย ก็ไม่มีใครสามารถให้ทรัพย์จำนวนที่ตั้งราคานั้นได้ เพราะหญิงผู้มีทรัพย์ มีความสมควรประดับเครื่องประดับนั้น หาได้ยาก

แท้จริงในนครสาวัตถีนี้มีหญิงอยู่แค่ ๓ คนเท่านั้น ที่มีทรัพย์และคุณสมบัติที่จะเป็นเจ้าของเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นี้ คือ นางวิสาขามหาอุบาสิกา ๑ นางมัลลิกาภรรยาของพันธุลมัลเสนาบดี ๑ ลูกสาวของเศรษฐีกรุงพาราณสี ๑ เพราะฉะนั้น เมื่อช่างทองเร่ขายเครื่องประดับนั้นไม่ได้ นางจึงซื้อเครื่องประดับนั้นเสียเอง แล้วให้ขนทรัพย์ ๙ โกฏิ ๑ แสนกหาปณะ ขึ้นใส่เกวียน นำไปสู่วิหาร ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า

“พระเจ้าข้า พระอานนท์เถระผู้เป็นเจ้าของหม่อมฉัน เอามือถูกต้องเครื่องประดับของหม่อมฉันแล้ว นับแต่กาลที่ท่านถูกต้องแล้ว หม่อมฉันไม่อาจประดับได้ แต่หม่อมฉันได้ขายเครื่องประดับไปแล้ว แต่ไม่มีผู้ใดสามารถซื้อได้ หม่อมฉันจึงได้จ่ายเงิน ๙ โกฏิ กับอีก ๑ แสนกหาปณะ แล้วนำเงินนั้นมา

หม่อมฉันจึงนำปัจจัยมาถวายพระคุณเจ้าอานนท์เถระ เพื่อพิจารณาจัดหาปัจจัยซื้อตามแต่สมณสารูป พระเจ้าข้า”

พระศาสดา ตรัสว่า

“เช่นนั้นเธอจงนำปัจจัยนี้ไปจัดสร้างที่อยู่เพื่อสงฆ์ ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นในที่ใกล้ประตูด้านปราจีนทิศเถิด วิสาขา.”

นางวิสาขา ทูลรับว่า “สมควรแล้วพระเจ้าข้า” ด้วยจิตใจที่เบิกบาน เริ่งร่า ยินดี นางจึงเอาทรัพย์ ๙ โกฏิที่เป็นค่ากำเหน็จของเครื่องประดับนั้นไปจัดซื้อที่ดินที่จัดสร้างกุฎิให้แก่หมู่สงฆ์

และใช้ทรัพย์ ๙ โกฏิ สร้างที่พักอาศัย พร้อมสาธารณูปโภคต่างๆ จนครบครันถวายแต่หมู่สงฆ์
แต่ขณะที่นางใช้ทรัพย์ ๙ โกฏินั้นสร้างคันธกุฎีและสาธารณูปโภคต่างๆ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ทรัพย์นั้นก็หมดลง นางจึงใช้ทรัพย์อีกส่วนหนึ่งของนางสร้างจนแล้วเสร็จ

ครั้งนางสร้างที่พักของหมู่สงฆ์เสร็จแล้ว จึงได้ทำพิธีเฉลิมฉลอง สมโภช เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน แล้วจึงน้อมถวายที่พักนั้นแก่หมู่สงฆ์ โดยมีพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นประธานร่วมอนุโมทนา

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0x8xWj3fbuUPwTXXr7sxoC9oP8jxUc8Y4SyLwaXHKWqrx8qdW2iy6aWnBXkuoxy44l