ประวัตินางวิสาขาอุบาสิกา (ตอนที่ 8)

0
48

ประวัตินางวิสาขาอุบาสิกา (ตอนที่ ๘)
๖ มกราคม ๒๕๖๗

ความเดิมตอนที่แล้ว จบลงตรงที่ มิคารเศรษฐีและครอบครัวได้มีโอกาสสดับตรับฟังพระธรรมจากองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าจนบรรลุเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้นกันทั้งครอบครัว

ต่อมามิคารเศรษฐีจึงหวนรำลึกถึงพระคุณของนางผู้เป็นลูกสะใภ้ที่นำพาให้ตนและครอบครัวให้ได้อริยทรัพย์อันประเสริฐยิ่ง

มิคารเศรษฐีจึงมีความคิดที่จะตอบแทนคุณแก่ลูกสะใภ้ด้วยการสร้างเครื่องประดับให้นางได้ใช้ในแต่ละวันจนครบ ๗ วัน

ซึ่งนับแต่นั้น นางวิสาขาก็ได้ทำทานอยู่เป็นประจำทุกวัน จึงได้พร ๘ ประการ จากสำนักพระศาสดาดังนี้

๑ . ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าหม่อมฉันประสงค์จะถวายผ้าวัสสิกสาฎก คือ ผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์

๒ . ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าหม่อมฉันประสงค์จะถวายอาคันตุกภัต คือ อาหารเพื่อพระภิกษุผู้จรมาใหม่

๓ . ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าหม่อมฉันประสงค์จะถวายคมิกภัต คือ อาหารเพื่อพระภิกษุผู้เตรียมตัวเดินทางไกล

๔ . ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าหม่อมฉันประสงค์จะถวายคิลานภัต คือ อาหารสำหรับพระภิกษุอาพาธ

๕ . ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าหม่อมฉันประสงค์จะถวายคิลานุปัฏฐากภัต คือ อาหารสำหรับพระภิกษุผู้พยาบาลภิกษุอาพาธ

๖ . ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าหม่อมฉันประสงค์จะถวายคิลานเภสัช คือ ยาแก้ไข้

๗ . ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าหม่อมฉันประสงค์จะถวายธุวยาคู คือ ข้าวต้มประจำวัน

๘ . ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าหม่อมฉันประสงค์จะถวายอุทกสาฎก คือ ผ้านุ่งอาบน้ำแก่หมู่พระภิกษุณีจนตลอดชีวิต

ด้วยอำนาจกุศลจิตและผลบุญที่นางทำปรากฏประหนึ่งดังจันทเลขา (วงจันทร์) ในกลางหาว ถึงความเจริญด้วยบุตรและธิดาอันเป็นปิยชาติบุตรแล้ว แก่บุตรทั้ง ๑๐ คน และมีธิดา ๑๐ คน บรรดาบุตร (ชายหญิง)เหล่านั้น คนหนึ่ง ๆ ได้มีบุตรคนละ ๑๐ มีธิดาคนละ ๑๐ คน และในบรรดาหลานเหล่านั้น หลานคนหนึ่ง ๆ ได้มีบุตรคนละ ๑๐ คน มีธิดาคนละ ๑๐ คน บุตรและหลาน เหลนของนางนั้น จำนวนคน ได้ถึง ๘,๔๒๐ คน ต่างคนต่างล้วนมีความสามารถ เป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรมกันทุกทั่วตัวคน

นางวิสาขาเอง ก็ได้มีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปี แม้กระนั้นผมหงอกบนศีรษะแม้เส้นหนึ่งก็ไม่มี นางได้มีสภาพร่างกายประหนึ่งดังเด็กหญิงรุ่นอายุราว ๑๖ ปี เป็นนิตย์ ชนทั้งหลาย เห็นนางมีบุตรและหลานเป็นบริวารเดินไปสู่วิหาร ย่อมถามกันว่า “ในหญิงเหล่านี้ คนไหน นางวิสาขา?”

ด้วยเพราะรูปร่างและวัยของนางดูเหมือนกับลูกหลานเหลนของนาง จนแทบแยกกันไม่ออกว่าใครแก่กว่าใคร

ชนทั้งหลายเมื่อเห็นนางเดินอยู่ย่อมคิดกันอย่างนี้ว่า ‘ขอให้แม่เจ้าของเราเดินไปอยู่ข้างหน้า เพื่อที่พวกเราจักได้ทัศนาเชยชม กิริยาอันนวยนาดงดงามของแม่เจ้า แม้ขณะที่นางวิสาขายืนอยู่ นั่งอยู่ หรือนอนอยู่ก็ตาม”

ชนทั้งหลายก็จักพากันชื่นชมว่า แม่เจ้าของเรา

นางได้เป็นผู้มีชื่อว่างามในทุกอิริยาบถ ด้วยประการฉะนี้

อีกทั้งนางวิสาขานั้น แม้จะมีอายุมากถึง ๑๒๐ ปี แต่ก็มีกำลังเท่าช้างถึง ๕ เชือก พระราชาเมื่อทรงสดับว่า นางวิสาขา ทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก จึงทรงมีพระประสงค์จะทดลองกำลังของนาง ในเวลานางไปวิหารฟังธรรมแล้วกลับมา พระราชาจึงรับสั่งให้ปล่อยช้างไป ช้างนั้นชูงวง ได้วิ่งรี่เข้าไปใส่นางวิสาขาแล้ว หญิงบริวารของนาง ๕๐๐ บางพวกวิ่งหนีไป บางพวกไม่ทิ้งนาง เมื่อนางวิสาขาถามว่า “เกิดอะไรกันเล่าแม่เอ๋ย”

พวกหญิงบริวารจึงบอกว่า “แม่เจ้า ได้ทราบว่า พระราชาทรงประสงค์จะทดลองกำลังของแม่เจ้า จึงรับสั่งให้ปล่อยช้างมาวิ่งไล่”

นางวิสาขา คิดว่า “จะมีประโยชน์อะไร ที่เราเห็นช้างนี้แล้ววิ่งหนีไป เราจะจับช้างนั้นอย่างไรดีเล่าหนอ?”

นางจึงคิดว่า “ถ้าเราจับช้างนั้นด้วยสองมืออย่างแรง ช้างนั้นอาจจะพึงฉิบหายตายลง” ดังนี้แล้ว นางจึงเอานิ้ว ๒ นิ้ว จับงวงแล้วผลักช้างนั้นไป ช้างไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ ได้แต่ซวนเซล้มลงที่พระลานหลวงนั่นเอง มหาชนทั้งหลางครั้งได้เห็นความอัศจรรย์ของนางวิสาขาเช่นนั้น จึงพากันเปล่งวาจาสาธุการขึ้นพร้อมกัน แล้วนางวิสาขาจึงได้กลับเรือนไปพร้อมบริวารของนางโดยสวัสดิภาพ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของมิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี

ครั้งนั้นแล นางวิสาขามิคารมารดา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกรวิสาขา อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ บุคคลเข้าอยู่แล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก

ดูกรวิสาขา ข้อที่บุคคลบางคนในโลกนี้ จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม เข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการแล้ว เมื่อตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตตี นี้เป็นฐานะที่จะมีได้

เพราะฉะนั้นแหละ หญิงหรือชายผู้มีศีล เข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการแล้ว กระทำบุญมีสุขเป็นกำไร ไม่มีใครติเตียน ย่อมเข้าถึงสวรรค์ ฯ

ปุจฉาว่าแล้วอะไรเล่าชื่อว่า อุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ

วิสัชนาว่า คือ ศีลอุโบสถทั้ง ๘ ประการนั้นเอง อันมี

– ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเองและไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า)

– อทินนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการลัก ,ฉ้อ ของผู้อื่นด้วยตนเอง และไม่ใช้ให้ผู้อื่นลัก ฉ้อ)

– อพฺรหฺมจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากอสัทธรรม กรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์)

– มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการพูดเท็จ คำไม่เป็นจริง และคำล่อลวง อำพรางผู้อื่น)

– สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการดื่มสุรา เมรัย เครื่องดองของทำใจให้คลั่งไคล้ต่าง ๆ )

– วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล)

– นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากพูด ฟัง ฟ้อนรำ ขับร้องและประโคมเครื่องดนตรีต่าง ๆ และดูการเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล และทัดทรงตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับและดอกไม้ของหอม เครื่องทาเครื่องย้อม ผัดผิวให้งามต่าง ๆ)

– อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากนั่ง นอน เหนือเตียง ตั่ง มีเท้าสูงเกินประมาณ และที่นั่ง ที่นอนอันสูงใหญ่ ภายในใส่นุ่นและสำลี อาสนะอันวิจิตรไปด้วยลดลายงามด้วยเงินทองต่าง ๆ)

ด้วยบุพกรรมของนางวิสาขาเช่นนี้แหละจึงเป็นที่มาของบทโศลกที่ว่า

ลูกรัก

บุญเป็นเครื่องยังให้ถึงความสำเร็จ ถึงสมบัติทั้งปวง

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0FB6C54rBsCk43pDa8ehQpRjBbiLP33qBRpLFoXBiPSsJ7X37BfyvGGyXwBeCixFCl