ประวัตินางวิสาขาอุบาสิกา (ตอนที่ 3)

0
53

ประวัตินางวิสาขาอุบาสิกา (ตอนที่ ๓)
๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๖

ตอนที่แล้วจบลงตรงที่ พราหมณ์ผู้เป็นตัวแทนของมิคารเศรษฐีแห่งนครสาวัตถี ออกไปแสวงหาหญิงงามที่มีคุณสมบัติเบญจกัลยาณีมาเป็นภรรยา ของปุณณวัฒนกุมาร บุตรชายผู้ตั้งความปรารถนาจักแต่งงานด้วย

เมื่อพราหมณ์ทั้ง ๘ ได้พบหญิงผู้มีคุณสมบัติดังกล่าว คือ กุมาริกาวิสาขาแล้ว จึงได้นำมาลาทองคำมาสวมให้นาง พร้อมทั้งตามนางกลับไปยังคฤหาสน์ของมหาเศรษฐีธนญชัย บิดาของวิสาขากุมารี

ครั้งได้ทราบถึงความประสงค์ของพราหมณ์ทั้ง ๘ แล้ว เศรษฐีนั้นจึงชวนให้พราหมณ์ทั้ง ๘ พักอยู่ที่ปราสาทของตน ๒ คืน แล้วจึงให้เดิทางกลับ

เมื่อพวกพราหมณ์เหล่านั้นเดินทางกลับถึงกรุงสาวัตถีแล้ว ก็เข้าไปแจ้งเรื่องราวต่อท่านมิคารเศรษฐีว่า “พวกข้าพเจ้าได้นางทาริกาผู้เหมาะสมที่จักเป็นสะใภ้ของท่านแล้ว.”

มิคารเศรษฐีเศรษฐี : ลูกสาวของใคร?

พราหมณ์ : ของธนญชัยเศรษฐี.

มิคารเศรษฐีนั้นคิดว่า “นางเป็นทาริกาแห่งตระกูลใหญ่ เมื่อท่านเศรษฐีตกลงแล้ว ควรที่เราจะนำนางมาโดยเร็วทีเดียว” ดังนี้แล้ว กราบทูลแด่พระเจ้าปเสนทิโกศลให้ทรงทราบ

พระปเสนทิโกศลทรงดำริว่า “ตระกูลท่านธนญชัยเศรษฐีนั้นเราได้นำมาจากสำนักของพระเจ้าพิมพิสาร แล้วให้อยู่อาศัยในเมืองสาเกต เราควรจะทำความยกย่องแก่ตระกูลนั้น” ดังนี้แล้ว จึงรับสั่งว่า “แม้เรา ก็จักไปด้วย”

มิคารเศรษฐีทูลว่า : “ดีละ พระเจ้าข้า” ดังนี้แล้ว ส่งข่าวไปบอกแก่ธนญชัยเศรษฐีว่า “ข้าพเจ้าจักโดยเสด็จมากับพระราชา พลของพระราชามาก ท่านสามารถรับรองชนประมาณเท่านั้นหรือไม่”

ฝ่ายท่านธนญชัยเศรษฐีก็ได้ส่งข่าวตอบไปว่า แม้ถ้าพระราชาจะเสด็จมาสัก ๑๐ พระองค์ ขอจงเสด็จมาเถิด.”

มิคารเศรษฐี พาเอาคนที่เหลือในนครใหญ่ถึงเพียงนั้นไป เหลือไว้เพียงคนเฝ้าเรือน หยุดพักในหนทางกึ่งโยชน์แล้ว ส่งข่าวไปว่า “พวกข้าพเจ้ามาแล้ว.”

ธนญชัยเศรษฐีจึงได้จัดส่งเครื่องบรรณาการเป็นอันมากไปตามธรรมเนียม แล้วปรึกษากับธิดาว่า

“ลูกเอ๋ย ได้ยินมาว่า ว่าที่พ่อผัวของเจ้าได้เดินทาง มากับพระเจ้าโกศล เราควรจัดเรือนหลังไหน สำหรับพ่อผัวของเจ้าและหลังไหนที่เหมาะเควรแก่พระราชา หลังไหน สำหรับชนอื่น ๆ มีอุปราชเป็นต้น.” กุลธิดาวิสาขาผู้ฉลาด มีปัญญาเฉียบแหลมดุจยอดเพชร ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป สมบูรณ์แล้วด้วยอภินิหาร จัดแจงเรื่องดังกล่าวโดยสั่งการว่า

“ท่านทั้งหลายจงจัดแจงเรือนหลังโน้นเพื่อพ่อผัวของเรา หลังโน้นเพื่อพระราชา หลังโน้น เพื่ออุปราชเป็นต้น” ดังนี้แล้ว ให้เรียกทาสและกรรมกรมา จัดการว่า “พวกท่าน เท่านี้คน จงทำกิจที่ควรทำแก่พระราชา เท่านี้คน จงทำกิจที่ควรทำแก่อุปราชเป็นต้น พวกท่านนั่นแล จงดูแลแม้สัตว์พาหนะมีช้างและม้าเป็นต้น แม้คนผูกม้าที่มาด้วย ก็จงดูแลให้ได้ชมมหรสพในงานมงคล.”

ถามว่า : “เพราะเหตุไร? นางจึงจัดอย่างนั้น”

ตอบว่า : เพราะคนบางคน อย่าได้เพื่อพูดว่า เราไปสู่ที่มงคลแห่งนางวิสาขา ไม่ได้อะไรเลย ทำแต่กิจมีการเฝ้าม้าเป็นต้น ไม่ได้เที่ยวตามสบาย.”

ขณะที่นางสั่งงานแก่พนักงานจำนวนหลายพันคนนี้ นางมีอายุแค่ ๑๕ ย่าง ๑๖ ปีเท่านั้น

ในวันนั้นแล บิดาของนางวิสาขา ให้เรียกช่างทองมา ๕๐๐ คนแล้วกล่าวว่า “พวกท่านจงทำเครื่องประดับ ชื่อมหาลดาปสาธน์แก่ธิดาของเรา” ดังนี้ สั่งให้ให้ทองทำมีสีสุกพันลิ่ม และเงิน แก้วมณี แก้วมุกดา ประพาฬและเพชรเป็นต้น พอสมกับทองนั้น.

พระราชาประทับอยู่ ๒-๓ วันแล้ว ทรงส่งข่าวไปแก่ธนญชัยเศรษฐีว่า “เศรษฐีคงไม่สามารถทำการเลี้ยงดูพวกเราได้ตลอดไป ขอเศรษฐีจงกำหนดเวลาส่งตัวของนางทาริกาเถิด.”

ฝ่ายเศรษฐีนั้น ส่งข่าวไปทูลพระราชาว่า “บัดนี้ ฤดูฝนมาถึงแล้ว ใคร ๆ ไม่อาจเพื่อเที่ยวไปตลอด ๔ เดือนได้ การที่หมู่พลของพระองค์ประสงค์จะได้วัตถุใด ๆ ที่สมควร วัตถุนั้น ๆ ทั้งหมดเป็นภาระของข้าพระองค์ พระองค์ผู้สมมติเทพจักเสด็จไปได้ในเวลาที่ข้าพระองค์ส่งเสด็จ.” นับแต่นั้นมานครสาเกตได้เป็นนครที่ครึกครื้นราวกะมีนักษัตรเป็นนิตย์ เพราะคราคร่ำไปด้วยมหาชนจำนวนมากที่มาร่วมงานแต่งของนางกุมาริกาวิสาขา

ส่วนเครื่องประดับยังไม่เสร็จก่อน ผู้ควบคุมงานมาแจ้งแก่เศรษฐีว่า “สิ่งอื่นที่ต้องการมีอยู่อย่างบริบูรณ์ เว้นแต่ฟืนสำหรับหุงต้มอาหารเพื่อหมู่พลมีอยู่ไม่พอ.”

เศรษฐี กล่าวว่า “ไปเถิดพ่อทั้งหลาย พวกท่านจงรื้อขนเอาโรงช้างเก่า ๆ เป็นต้นและเรือนไม้เก่าในนครนี้มาทำฟืนหุงต้มทำอาหารเลี้ยงผู้คนเถิด.”

เมื่อหุงต้มอยู่อย่างนั้น ล่วงไปแล้วอีกกึ่งเดือน ผู้ควบคุมงานก็มาแจ้งแก่ท่านเศรษฐีอีกครั้งว่า “ฟืนไม่มี.”

เศรษฐีกล่าวว่า “พวกท่านจงเปิดเรือนคลังผ้าทั้งหลาย แล้วเอาผ้าเนื้อหยาบ ทำเป็นเกลียวชุบลงไปในตุ่มน้ำมัน ใช้เพื่อหุงต้มอาหารเถิด.” ชนเหล่านั้นได้ทำอย่างนั้น ตลอดกึ่งเดือน ระยะเวลา ๔ เดือนผ่านไปแล้วโดยลักษณะนี้.และแล้วการทำเครื่องประดับก็สำเร็จลง

นอกจากนี้ ธนญชัยเศรษฐี ยังได้มอบ ทรัพย์สินเงินทองของใช้ต่าง ๆ รวมทั้งข้าทาสบริวาร และฝูงโคอีกจำนวนมากมายมหาศาล อีกทั้ง ส่งกุฏุมพี ผู้มีความชำนาญพิเศษด้านต่าง ๆ ไปเป็นที่ปรึกษา ดูแลประจำตัวของกุมาริกาวิสาขาบุตรสาวอีก ๘ นายด้วย

คนมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ เขาทำกันอย่างนี้ ซึ่งมีมาแล้วในอดีต

อ่านแล้วอย่าไปอิจฉา ตาร้อน พวกเขานะ เพราะเราทำบุญมาน้อย จึงมีอยู่มีกินได้เท่านี้ เข้าใจไหม

จบไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid04dipgtVQhccsDeY1c6xhNSak5XriA3Sh65AM1AQUm638Nc5Xw4qLjr5wQJQWdbCbl