พระมาลุงกยเถระ (ตอนที่ ๔)
๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
ตอนที่แล้วจบลงตรงที่พระอานนท์ ทูลอาราธนาองค์พระบรมศาสดาให้ทรงโปรดแสดงรายละเอียดของโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕ อย่างพิสดารแก่หมู่สงฆ์สาวก
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนําในธรรมของพระอริยะ ไม่เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนําในธรรมของสัตบุรุษ มีจิตอันสักกายทิฏฐิกลุ้มรุมแล้ว อันสักกายทิฏฐิครอบงําแล้วอยู่ และเมื่อสักกายทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง สักกายทิฏฐินั้นก็เป็นของมีกําลังอันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว ชื่อว่าโอรัมภาคิยสังโยชน์.
ปุถุชนนั้นมีจิตอันวิจิกิจฉากลุ้มรุมแล้ว อันวิจิกิจฉาครอบงําแล้วอยู่ และเมื่อวิจิกิจฉาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง วิจิกิจฉานั้นก็เป็นของมีกําลังอันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว ชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์.
ปุถุชนนั้นมีจิตอันสีลัพพตปรามาสกลุ้มรุมแล้ว อันสีลัพพตปรามาสครอบงําแล้วอยู่ และเมื่อสีลัพพตปรามาสเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง สีลัพพตปรามาสนั้นก็เป็นของมีกําลัง อันปุถุชนบรรเทาไม่ได้แล้วชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์.
ปุถุชนนั้นมีจิตอันกามราคะกลุ้มรุมแล้ว อันกามราคะครอบงํา และเมื่อกามราคะเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง กามราคะนั้นก็เป็นของมีกําลัง อันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว ชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์.
ปุถุชนนั้นมีจิตอันพยาบาทกลุ้มรุมแล้ว อันพยาบาทครอบงําแล้วอยู่ และเมื่อพยาบาทเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง พยาบาทนั้นก็เป็นของมีกําลังอันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว ชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์.
ดูก่อนอานนท์ ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ได้เห็นพระอริยะเป็นผู้ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนําในธรรมของพระอริยะดีแล้ว ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับแนะนําในธรรมของสัตบุรุษดีแล้ว มีจิตอันสักกายทิฏฐิกลุ้มรุมไม่ได้ อันสักกายทิฏฐิครอบงําไม่ได้อยู่ และเมื่อสักกายทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง สักกายทิฏฐิพร้อมทั้งอนุสัย อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้.
อริยสาวกนั้นมีจิตอันวิจิกิจฉากลุ้มรุมไม่ได้ อันวิจิกิจฉาครอบงําไม่ได้อยู่ และเมื่อวิจิกิจฉาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง วิจิกิจฉาพร้อมทั้งอนุสัยอันอริยสาวกนั้นย่อมละได้.
อริยสาวกนั้นมีจิตอันสีลัพพตปรามาสกลุ้มรุมไม่ได้ อันสีลัพพตปรามาสย่อมครอบงําไม่ได้อยู่ และเมื่อสีลัพพตปรามาสเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามเป็นจริง สีลัพพตปรามาสพร้อมทั้งอนุสัยอันอริยสาวกนั้นย่อมละได้.
อริยสาวกนั้นมีจิตอันกามราคะกลุ้มรุมไม่ได้ อันกามราคะครอบงําไม่ได้อยู่ และเมื่อกามราคะเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง กามราคะพร้อมทั้งอนุสัย อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้.
อริยสาวกนั้นมีจิตอันพยาบาทกลุ้มรุมไม่ได้ อันพยาบาทครอบงําไม่ได้อยู่ และเมื่อพยาบาทเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง พยาบาทพร้อมทั้งอนุสัย อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้.
ดูก่อนอานนท์ ข้อที่ว่า บุคคลจักไม่อาศัยมรรคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ แล้วจักรู้ จักเห็น หรือจักละ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ได้นั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
ดูก่อนอานนท์ เปรียบเหมือนข้อที่ว่า ไม่ถากเปลือกไม่ถากกะพี้ของต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้น มีแก่น แล้วจักถากแก่นนั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันใด ข้อที่ว่า บุคคลจักไม่อาศัยมรรคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ แล้ว จักรู้ จักเห็น หรือจักละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ได้นั้น ก็ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันนั้น.
ดูก่อนอานนท์ ข้อที่ว่า บุคคลอาศัยมรรคปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ แล้ว จักรู้ จักเห็น และจักละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ นั้นได้ เป็นฐานะที่จะมีได้
ดูก่อนอานนท์ เปรียบเหมือนข้อที่ว่าถากเปลือกถากกะพี้ของต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้น มีแก่น แล้วจึงถากแก่นนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันใด ข้อที่ว่า บุคคลอาศัยมรรคปฏิปทา อันเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ แล้ว จักรู้ จักเห็น หรือจักละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ได้นั้น ก็เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันนั้น.
ดูก่อนอานนท์ เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคา น้ำเต็มเปี่ยมเสมอขอบฝั่ง กาก้มลงดื่มได้ ครั้งนั้น บุรุษผู้มีกําลังน้อย พึงมาด้วยหวังว่า เราจักว่ายตัดขวางกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคานี้ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดี ดังนี้ เขาไม่อาจจะว่ายตัดขวางกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคา ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดีได้ ฉันใด
ดูก่อนอานนท์ จิตของบางคน ไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ในธรรมที่เราแสดง เพื่อดับสักกายทิฏฐิ ย่อมไม่ตั้งมั่น ไม่หลุดพ้น ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษผู้มีกําลังน้อยนั้นฉันใด พึงเห็นบุคคลเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน.
ดูก่อนอานนท์ เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคา น้ำเต็มเปี่ยมเสมอขอบฝั่ง กาก้มลงดื่มได้ ครั้งนั้นบุรุษมีกําลังพึงมาด้วยหวังว่า เราจักว่ายตัดขวางกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคานี้ ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดี ดังนี้ เขาอาจจะว่ายตัดขวางกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคา ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดีได้ ฉันใด
ดูก่อนอานนท์ เมื่อธรรมอันผู้แสดงๆ อยู่แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเพื่อดับสักกายทิฏฐิ จิตของผู้นั้นแล่นไป เลื่อมใส มั่นคง ย่อมหลุดพ้น ฉันนั้นเหมือนกันแล บุรุษมีกําลังนั้นฉันใด พึงเห็นบุคคลเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน
วันนี้จบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ ค่อยเป็นค่อยไปอย่าตะกุมตะกราม ตะกละ เดียวมันจะกลายเป็นขยะ จนกลายเป็นความรู้มาก ยากนาน รู้น้อยพลอยรำคาญ
พุทธะอิสระ
——————————————–