พระโปฐิลเถระ
๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
พระโปฐิละนั้นเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกในศาสนาของ พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ บอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป เป็นผู้คงแก่เรียน แตกฉานในคำสอนของพระพุทธองค์ และมีลูกศิษย์มากมายที่บรรลุธรรมเป็นพระอริยะบุคคล ยามใดเมื่อท่านอธิบายธรรม ก็ไม่มีใครกล้าพูดหรือเถียงท่าน เป็นที่นับหน้าถือตาของคนโดยทั่วไป จึงได้ลาภสักการะมากมาย ทำให้ความอวดดีถือตัว (มานะ) เกิดขึ้น แต่ยังมิได้ปฏิบัติธรรมให้เกิดมรรคผลใดๆ แก่ตนเลย
เนื่องจากพระโปฐิละมัวแต่สอนคนอื่นจนไม่มีเวลาสอนตนเอง ไม่ยอมปลีกวิเวกไปบำเพ็ญสมณธรรมตามลำพังบ้าง วันๆ ได้แต่เตรียมสอนธรรมะ และตอบปัญหาข้อสงสัยให้กับลูกศิษย์ลูกหามากมาย ท่านจึงไม่มีความคิดที่จะสลัดออกจากกองทุกข์เพื่อมุ่งสู่พระนิพพาน
มีอยู่คราวหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระ ซึ่งเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระศาสดา ได้กล่าวตำหนิ ถึงพระโปฐิละเอาไว้ว่า
“ภิกษุโปฐิละนี้รู้ธรรม แต่ไม่เข้าถึงธรรม เพราะเป็นผู้ถูกอวิชชา (ความรู้ที่ไม่สามารถพาให้พ้นทุกข์ได้) หุ้มห่อไว้แล้ว เดินไปสู่ ทางผิด ซึ่งเป็นทางคดไม่ควรเดิน หมกมุ่นอยู่ในความคิดปรุงแต่ง ที่ติดอยู่ในลาภและสักการะ เสมือนดัง ตัวหนอน ที่ติดอยู่ในคูถ (อุจจาระ) จึงเป็นผู้ไม่มีแก่นสาร”
แม้องค์พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นได้ทรงดำริเช่นกันว่า
“ภิกษุนี้เอาแต่เรียนรู้ธรรม แต่ไม่สามารถรู้แจ้งในธรรมนั้นๆ ได้ จึงมิอาจหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง เห็นทีเราจะต้องทำ ให้ภิกษุนี้ บังเกิดธรรมสังเวช แล้วมุ่งมั่นปฏิบัติธรรม”
จนอยู่มาวันหนึ่ง พระโปฐิละท่านได้เข้าไปกราบพระผู้มีพระภาคเจ้า ขณะก้มลงกราบ พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสขึ้นว่า
“มาแล้วหรือ ภิกษุใบลานเปล่า”
“นั่งเถิด ภิกษุใบลานเปล่า”
เมื่อพระโปฐิละเสร็จกิจแล้วทูลลากลับ พระพุทธองค์จึงตรัสอีกว่า “กลับแล้วหรือ ภิกษุใบลานเปล่า”
เมื่อถูกเรียกชื่ออย่างนี้หลายครั้งจากพระศาสดา ทำให้พระโปฐิละอดคิดไม่ได้ว่า
“เราเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระธรรมวินัยพร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ถึง ๑๘ คณะใหญ่ เช่นนี้แล้วทำไม พระศาสดายังตรัสเรียกเราอยู่เนืองๆ ว่า “ภิกษุใบลานเปล่า” เล่า พระศาสดาตรัสเรียกเราอย่างนี้ คงเป็นเพราะความที่เรายังไม่มีคุณวิเศษ อันมีฌานเป็นต้นแน่แท้.”
เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่าจริง ภิกษุผู้คงแก่เรียนอย่างเดียว ไม่ได้ลงมือปฏิบัติในธรรมนั้นๆ เลย เมื่อมองดูจิตใจของตน ก็ไม่ต่างจากฆราวาสเลย ยังมีกิเลส โลภ-โกรธ-หลง อยู่ครบ จึงบังเกิดความสลดใจยิ่งนัก ได้สำนึกที่จะฝึกฝนตน ตั้งจิตขึ้นมาว่า “ดีหละ เราจะหาที่สงัด เจริญสมณธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้น (ธรรมของผู้สงบระงับกิเลส)”
พระโปฐิละคิดดังนี้แล้ว จึงจัดแจงบาตรและจีวร ออกไปเสียจากหมู่ผู้ที่เป็นสัทธิวิหาริก อันเตวาสิกในเวลาใกล้รุ่ง เพื่อแสวงหาที่สงัดห่างไกลจากผู้คนและหมู่คณะ เมื่อเดินทางมาได้ไกลระยะหนึ่ง จึงพบอาวาสในราวป่าแห่งหนึ่ง จึงได้เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นพระสังฆเถระ (พระผู้ใหญ่สุดในหมู่สงฆ์นั้น) พระโปฐิละจึงทำสามีจิกรรมแล้วกล่าวขึ้นว่า
“ท่านขอรับ ขอให้ท่านโปรดได้เป็นที่พึ่งของกระผมเถิดขอรับ”
พระสังฆเถระนั้น รู้ถึงชื่อเสียงของพระโปฐิละมาก่อน จึงได้เอ่ยปากพูดออกไปว่า
“ผู้มีอายุ ท่านเป็นพระธรรมกถึก สิ่งที่พวกเรารู้ ก็ล้วนเรียนรู้มาจากท่านทั้งนั้น แล้วเหตุไฉน พวกเราถึงจักเป็นที่พึ่งแก่ท่านได้เล่า”
พระโปฐิละจึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงอย่ากล่าวเช่นนี้เลย ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของกระผมเถิด
มิใยที่พระโปฐิละจะอ้อนว้อนสักเพียงใด
พระสังฆเถระเจ้าถิ่นก็มิได้รับปาก ด้วยเพราะคิดว่า
“ภิกษุนี้ยังมีมานะ(ความถือตัว)อยู่มาก ด้วยเพราะความที่เรียนรู้ธรรมมามาก ความถือตัวถือตนจึงเพิ่มพูนมากตามไปด้วย”
เช่นนั้นจึงส่งพระโปฐิละไปหาพระเถระรูปอื่นแทน เพื่อหมายให้ลดมานะนั้น แม้พระเถระอื่น ก็คิดเช่นเดียวกัน
พระโปฐิละจึงถูกส่งตัวไปหาพระเถระรูปต่อๆ มาเป็นลำดับ จนกระทั่ง ถึงพระเถระ รูปสุดท้าย แม้พระเถระนี้ก็ปรารถนาลดมานะของพระโปฐิละให้จงได้ จึงส่งตัวไปให้ สามเณร ซึ่งเพิ่งบวชมาไม่นาน ผู้มีอายุเพียง ๗ ขวบเท่านั้น เป็นผู้อบรมสอนธรรมให้แก่พระโปฐิละ
พระโปฐิละ เมื่อถูกพระเถระแต่ละคณะ แต่ละองค์ต่างล้วนปฏิเสธที่จะสอน จวบจนมาถึงคิวของสามเณรน้อย พระโปฐิละถึงกับต้องประนมมือ แสดงความเคารพ ด้วยความอ่อนน้อม เข้าไปหาสามเณรที่กำลังเย็บผ้าอยู่ในที่พัก แล้วกล่าวว่า
“ท่านสัตบุรุษ(คนที่มีสัมมาทิฏฐิ) ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผม จงสั่งสอนผมให้ได้เข้าถึงคุณวิเศษของมนุษย์ด้วยเถิด”
สามเณรถึงกับสะดุ้งตกใจ พร้อมรีบกล่าวว่า
“ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรกัน ท่านเป็นผู้ใหญ่ เป็นพหูสูต (ผู้มีความรู้มาก) กระผมต่างหากเล่า ที่จะต้อง พึ่งท่าน”
“ท่านสัตบุรุษ ท่านอย่าปฏิเสธผมอีกเลย ท่านเป็นความหวังสุดท้ายของกระผมแล้ว ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผมด้วยเถิด”
สุดที่จะหลีกเลี่ยงได้ สามเณรจึงตั้งกฎทำข้อตกลงเพื่อความมั่นใจเอาไว้ก่อนว่า
“ท่านอาจารย์ หากท่านยินยอมอดทนอยู่ในคำสั่งสอนของกระผมได้ กระผมก็จะยอม เป็นที่พึ่งของท่าน เช่นกัน”
พระโปฐิละ จึงกล่าวว่า “ผมรับรองขอรับ แม้ท่านสัตบุรุษจะบอกให้ผมเข้าไปลุยในกองไฟ ผมก็จะเข้าไปสู่กองไฟนั้นทันที”
สามเณรได้ฟังเช่นนั้นแล้ว มองไปที่รอบบริเวณ แลเห็นสระน้ำแห่งหนึ่ง พอหันกลับมาดู พระโปฐิละ ที่ครองจีวร ชั้นดี มีราคาแพงมาก จึงต้องการทดสอบใจของพระโปฐิละ ว่ายินยอมลดมานะได้จริงหรือไม่ จึงสั่งว่า
“ท่านอาจารย์ ท่านจงลงไปในสระนี้ ทั้งที่นุ่งห่มครองจีวรอยู่ ท่านทำได้หรือไม่”
มิได้ชักช้าเลย พระโปฐิละได้ฟังคำสั่งเพียงแค่ครั้งเดียว ก็ก้าวเท้าลงสู่สระน้ำทันที พอลงไปได้ลึก ถึงเอว จีวรเปียกน้ำ ไปมากแล้ว เท่านี้ก็เป็นที่พอใจของสามเณร จึงตะโกนไปว่า
“จงขึ้นมาจากน้ำเถิด ท่านอาจารย์”
พระโปฐิละขึ้นจากน้ำแล้ว สามเณรได้พาไปดูที่จอมปลวกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีรูเป็นช่องอยู่ ๖ ช่อง แล้วสอนธรรม แก่พระโปฐิละว่า
“ช่องเหล่านี้ของจอมปลวก มีตัวเหี้ยเข้าไปอาศัยอยู่ภายใน หากต้องการจับตัวเหี้ยนี้ จะต้องอุดรูไว้ ๕ ช่อง แล้วเฝ้าคอยดูแต่ช่องที่ ๖ จึงจะจับตัวเหี้ยที่เข้าออกช่องนั้นได้ ดุจเดียวกับทวารทั้ง ๖ (ตา,หู,จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ) นั้น แม้ท่านก็จงสำรวมทวารทั้ง ๕ ไว้ แล้วคอยดูแลรักษามโนทวาร(จิตใจ) ก็จะจับกิเลส ที่เข้าออกในใจได้”
ด้วยธรรมะเพียงเท่านี้ ความแจ่มแจ้งได้เกิดขึ้นแก่ภิกษุโปฐิละผู้เป็นพหูสูตทันที ราวกับดวงไฟใหญ่ลุกโพลง ขึ้นสว่างไสว พระโปฐิละ ถึงกับโพล่งออกไปว่า
“พอล่ะ! ท่านสัตบุรุษผู้ประเสริฐ เพียงคำสอนเท่านี้แหละ ก็เพียงพอแล้วที่ทำให้ผมแจ่มแจ้งแล้ว”
ขณะเดียวกันนั้นเอง พระศาสดาประทับนั่งในพระวิหารที่อยู่ห่างไกลจากพระโปฐิละถึง ๑๒๐ โยชน์ ได้ทรงทราบด้วยข่ายพระญาณแล้วดำริว่า
“ภิกษุใบลานเปล่าผู้นี้เป็นผู้มีปัญญา (กว้างขวาง) ดุจแผ่นดินด้วยประการฉะนี้, การที่เธอตั้งตนไว้ชอบเช่นนี้ ย่อมสมควร.”
แล้วทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีไปปรากฏเฉพาะหน้าภิกษุโปฐิละ พร้อมทรงตรัสพระคาถานี้ว่า
โยคา เว ชายตี ภูริ อโยคา ภูริสงฺขโย
เอตํ เทฺวธา ปถํ ญตฺวา ภวาย วิภวาย จ
ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ.
ปัญญาย่อมเกิดด้วยการลงมือกระทำ, ความสิ้นไปแห่งปัญญาเพราะ ไม่ลงมือกระทำ, บัณฑิตรู้ทาง ๒ แพร่งแห่งความเจริญและความเสื่อมนั่นแล้ว พึงตั้งตนไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้ นั้นย่อมควรยิ่ง
พอสิ้นสุดคำอุทานของพระศาสดา พระโปฐิลเถระก็ได้ตั้งอยู่ในพระอรหัตตผลพร้อมปฏิสัมภิทาญาณ
สมดังบทโศลกที่กล่าวว่า
รู้จริง ไม่ต้องจำ ทำได้มีประโยชน์
รู้ไม่จริง ถึงจำ ทำไม่ได้มีแต่โทษ
เจริญธรรม
พุทธะอิสระ
——————————————–