ประวัติพระสาคตะเถระ (ตอนที่ ๔)
๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
ตอนที่แล้วจบลงตรงที่ องค์พระบรมศาสดาทรงมีพุทธบัญชาให้พระสาคตะเถระแสดงฤทธิ์ที่มีอานุภาพเหนือมนุษย์ ให้ชาวพระนครจัมปาทั้ง ๘ หมื่นคน ได้ทัศนาเพื่อจูงใจให้เกิดศรัทธา เลื่อมใส
ในเวลาต่อมาองค์พระผู้มีพระภาค จึงทรงแสดงอนุปุพพิกถา ธรรมเครื่องฟอกจิต คือ
1. ทานกถา คือ อานิสงส์ของการให้ทาน
2. สีลกถา คือ อานิสงส์ของการรักษาศีล
3. สัคคกถา คือ ผลของกามคุณ
4. กามาทีนวกถา คือ โทษของกาม
5. เนกขัมมานิสังสกถา คือ อานิสงส์ของการถือบวช
เมื่อทรงทราบว่า ชนทั้ง ๘ หมื่นมีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ
ทุกข์ คือ สิ่งที่ทนได้ยาก
สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
นิโรธ คือ ความออกห่างจากกองทุกข์
มรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่นิโรธหรือนำไปถึงความดับทุกข์ มีองค์ประกอบอยู่แปดประการ คือ
๑. ความเห็นชอบ เห็นว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกกรม เห็นว่าสรรพสิ่งในโลกล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และต้องดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเห็นในอริยสัจทั้ง ๔ (เหล่านี้เรียกว่าผู้มีสัมมาทิฏฐิ)
๒. ดำริชอบ คือการดำริออกจากกาม ดำริที่จะไม่พยาบาท ดำริที่จะไม่เบียดเบียน (เรียกว่าสัมมาสังกัปปะ)
๓. เจรจาชอบ คือการไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบ พูดแต่เรื่องจริง พูดแล้วผู้ฟังเกิดปัญญา (เรียกว่าสัมมาวาจา)
๔. ประพฤติชอบหรือการงานชอบ มีความประพฤติหรือการงานที่ปราศจากโทษ ละกายวาจาทุจริต ประพฤติกายวาจาสุจริต ไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น (เรียกว่าสัมมากัมมันตะ)
๕. เลี้ยงชีวิตชอบ หาเลี้ยงชีวิตโดยถูกต้องตามธรรมนองคลองธรรม ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำอาชีพใดที่เป็นเหตุให้ละเมิดศีลธรรม (เช่นนี้เรียกว่าสัมมาอาชีวะ)
๖. เพียรชอบ ได้แก่ เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว มิให้เสื่อมไป (เหล่านี้เรียกว่า สัมมาวายามะ)
๗. ระลึกชอบ คือการมีสติระลึกในกาย ในเวทนา ในจิต และในธรรม (เรียกว่าสัมมาสติ)
๘. ตั้งใจชอบ คือการตั้งใจไว้ในองค์ฌานทั้ง ๔ ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือทางสายกลาง
ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่ชาวพระนครจัมปาทั้ง ๘ หมื่นคน ต่างรู้เห็นตามความเป็นจริง ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา จิตของพวกชนเหล่านั้นดุจดังผ้าขาวที่ปราศจากมลทินอันควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันตั้งมั่นแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้วปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่สงสัยในคำสอนของพระศาสดา
ชาวพระนครจัมปา ผู้มีดวงตาเห็นธรรมจึงพร้อมกันกราบสุภาษิตทูลต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระพุทธเจ้าข้า
ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า
พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเหล่านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำพวกข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป
ทีนี้เราท่านทั้งหลายมาตามดูบุพกรรมในอดีตชาติของท่านพระสาคตะเถระกันต่อ
ในอดีตพระเถระบังเกิดในตระกูลพราหมณ์แห่งหนึ่ง ในกรุงหงสวดี ปรากฏนามว่า โสภิตะ
ครั้นเมื่อเติบใหญ่บรรลุนิติภาวะแล้ว ได้ศึกษาและสำเร็จในศิลปะทั้งปวง ถึงฝั่งแห่งเวท ๓ เรียนไวยากรณ์แห่งสนิฆัณฑุศาสตร์ และเกฏุภศาสตร์ พร้อมด้วยประเภทแห่งอักขระมีอิติหาสศาสตร์ เป็นผู้ชำนาญในโลกายตศาสตร์และมหาปุริสลักษณศาสตร์
อยู่มาวันหนึ่ง ท่านเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระผู้งดงามด้วยสิริแห่งมหาปุริสลักษณะ ๓๒ เสด็จไปยังประตูพระอุทยานมีใจเลื่อมใสยิ่ง ได้กระทำการกล่าววาจาสุภาษิตสรรเสริญคุณพระบรมศาสดาเป็นอเนกประการ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับดังนั้นจึงทรงประทานพยากรณ์ว่า ในอนาคตเธอจักเป็นสาวกนามว่า สาคตะในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่าโคดม
ต่อมา โสภิตมาณพได้ไปยังพระวิหาร ในขณะกำลังฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ใน ตำแหน่งเอตทัคคะผู้ยอดเยี่ยมกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายในการเข้าเตโชธาตุ
ตนจึงตั้งความปรารถนาให้ได้ถึงตำแหน่งนั้นในพระศาสนาของพระศาสดาองค์ใดองค์หนึ่งในอนาคต
เธอจึงทำกุศลกรรมอย่างใหญ่แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าและพระสาวก แล้วอธิษฐานปรารถนาที่จะตำแหน่งเช่นนั้นบ้างอนาคต แต่นั้นท่านก็ยังสั่งสมบุญทั้งหลาย ดำรงอยู่ตลอดอายุ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติตลอดแสนกัป เสวยมนุษย์สมบัติในมนุษย์ทั้งหลาย
ในพุทธกาลนี้ บังเกิดในครอบครัวพราหมณ์ ในกรุงสาวัตถี บิดามารดาจึงตั้งชื่อท่านว่า สาคตมาณพ ต่อมา สาคตมาณพนั้น ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาได้ศรัทธา จึงขอบวชแล้วทำสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดขึ้น ต่อมาจึงบรรลุความเป็นผู้ชำนาญในสมาบัตินั้น ทั้งยังแสดงฤทธิ์ปราบพยศพญานาคอัมพติฏฐกะ แต่ยังไม่บรรลุพระอรหันต์
ซึ่งในเวลาต่อมา ท่านจึงปฏิบัติวิปัสสนา เจริญปัญญา จนบรรลุพระอรหันต์ พร้อมปฏิสัมภิทาญาณในที่ที่ท่านหลีกลี้ออกไปปลีกวิเวกทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจนั้นเอง
หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้เรียนรู้ถึงผลแห่งความเพียรที่พระสาคตะเถระท่านได้มุ่งมั่นปฏิบัติทั้งทางสมณะ และวิปัสสนา จนบรรลุถึงเป้าหมายอันสูงสุดของชาติภพในที่สุด
เจริญธรรม
จบแล้วจ้า
พุทธะอิสระ
——————————————–