สืบเนื่องเรื่องเกิดจากคลับเฮาส์ : เวลานี้วัดบางวัดมีการจัดงานตักบาตรเทโวโรหณะหรือตักบาตรดาวดึงส์ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันมหาปวารณาของคณะสงฆ์ทั่วโลก

0
31

สืบเนื่องเรื่องเกิดจากคลับเฮาส์
๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๖

มีผู้สนทนาในรายการคลับเฮาส์ให้ทราบว่า เวลานี้วัดบางวัดมีการจัดงานตักบาตรเทโวโรหณะหรือตักบาตรดาวดึงส์ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันมหาปวารณาของคณะสงฆ์ทั่วโลก

วันมหาปวารณาถือเป็นวันที่องค์พระบรมศาสดาทรงกำหนดเป็นพระธรรมวินัยเอาไว้ให้สงฆ์ผู้จำพรรษากาลครบถ้วนไตรมาส (๓ เดือน) ประชุมกันในพระอุโบสถ เพื่อทำสังฆกรรม หลังจากเจริญมนต์ทำวัตรแล้ว ก็พากันนั่งห่างไม่เกินหัตถบาสหรือ ๑ คืบพระสุคต แต่ต้องไม่เกิน ๑ ศอก ปลงอาบัติ (อันที่จริงควรต้องปลงอาบัติก่อนทำวัตรเสียด้วยซ้ำ)

ครั้งเมื่อปลงอาบัติแล้ว จึงกล่าวคำปวารณาต่อกันและกัน โดยพระภิกษุผู้แก่พรรษากว่าจะหันหน้าเข้าหาหมู่สงฆ์ทั้งปวง แล้วกล่าวคำว่า

สังฆัมภันเต ปะวาเรมิทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิฯ

ทุติยัมปิภันเต สังฆัง ปะวาเรมิทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิฯ

ตะติยัมปิภันเต สังฆัง ปะวาเรมิทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิฯ

“ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ หากท่านทั้งหลาย ถ้าได้เห็นก็ดี ถ้าได้ยินก็ดี หรือระแวงสงสัยก็ตาม ว่า…กระผมได้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วยจิตที่หวังดีและเอ็นดู เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว รู้แล้ว จักประพฤติตัวให้ถูกต้อง ชอบด้วยธรรมวินัย เพื่อความสำรวม เจริญในพระธรรมวินัย สืบไป”

หมู่สงฆ์ผู้รับปวารณาพร้อมกันประนมมือรับการปวารณา จบแล้วจึงพากันเปล่งสาธุแล้วกราบ

เพื่อให้การปวารณาสำเร็จประโยชน์สมบูรณ์ในการลดละอัสมิมานะ ความถือตัวถือตน ภิกษุแม้เป็นผู้แก่พรรษากว่าก็ก้มกราบหมู่สงฆ์ หมู่สงฆ์ผู้รับปวารณา ก็พร้อมก้มกราบผู้กล่าวปวารณา

วนกันไปเช่นนี้จนครบหมดทุกองค์

เหล่านี้คือพระวินัยกรรม อันเป็นข้ออนุญาตที่ให้พระสงฆ์ได้กระทำต่อกันและกัน

จะไม่ทำไม่ได้

หากไม่กระทำการปวารณา ก็จะไม่ได้รับอานิสงส์ของการจำพรรษา และไม่สามารถรับกฐินได้

แต่….แต่ การสนทนาถามกันในคลับเฮาส์ มีคำถามเข้ามาว่า วัดบางวัด จัดให้มีการตักบาตรเทโวโรหณะด้วยในวันปวารณา

นี่คือความวิปริตผิดเพี้ยนกันไปใหญ่

เพราะหากมีการตักบาตรเทโวโรหณะในวันปวารณา ผู้คนก็จะเข้าใจว่า เวลาในการจำพรรษาของพระสงฆ์ได้สิ้นสุดลงแล้วในวันปวารณานั้น

ซึ่งอันที่จริงแล้วหลังจากปวารณาแล้วยังจะต้องอยู่จำวัดต่อในอาวาสนั้นอีก ๑ คืน รุ่งขึ้นเช้า จึงจะถือว่าเป็นการสิ้นสุดการจำพรรษาครบ ๓ เดือน บริบูรณ์

ด้วยเหตุนี้องค์พระบรมศาสดาจึงทรงกำหนดวันที่จะเสด็จลงจากกาลจำพรรษาที่ดาวดึงส์ ณ หน้าประตูเมืองสังกัสสนคร ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑

มหาชนทั้งหลายจึงได้พากันมารอเฝ้าเพื่อจะถวายอาหารบิณฑบาต

๗ วันก่อนวันออกพรรษา มหาชนที่เฝ้ารอการเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้าได้เข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานะเพื่อขอให้ไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่าจะเสด็จลงจากเทวโลกเมื่อไหร่

พระมหาโมคคัลลานะฟังถ้อยคำร้องขอนั้น แล้วจึงได้เหาะขึ้นไปเฝ้าองค์พระผู้มีพระภาคเจ้า ยังดาวดึงส์เทวโลก

พระเถระได้เข้าไปถวายบังคมแล้วทูลว่าพุทธบริษัทประสงค์จะเฝ้าพระองค์เต็มทีและอยากจะทราบว่าจะทรงเสด็จลงสู่มนุษย์โลกเมื่อไหร่และที่ไหน พระศาสดาจึงตรัสถามพระเถระว่า

“สารีบุตร พี่ชายของเธอ จำพรรษา ณ ที่ใด”

พระเถระกราบทูลว่า

“จำพรรษาอยู่สังกัสสนคร พระเจ้าข้า”

พระศาสดาจึงตรัสตอบว่า

“ในวันที่ ๗ แต่วันนี้ไปเราจักลงที่ประตูเมืองสังกัสสะ หลังวันมหาปวารณาในแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ผู้ใคร่จะพบเราก็จงไปที่นั่นเถิด และตรัสต่อว่า สังกัสสนครจะอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถี ๓๐ โยชน์ ในหนทางนั้นทุรกันดารใครๆ ก็มิอาจไปโดยง่าย จึงจำเป็นต้องเตรียมเสบียง เพื่อประกอบอาหารเลี้ยงแก่มหาชน และพึงบอกแก่คนเหล่านั้นว่าจงเป็นผู้รักษาอุโบสถปฏิบัติตนให้เหมือนกับอยู่ในวิหาร เพื่อเตรียมกาย วาจา ใจ รอฟังธรรมเถิด”

พระมหาโมคคัลลานะจึงกลับมาบอกประชาชนทั้งหลายตามนั้น

โดยมีองค์ราชาและมหาเศรษฐี คฤหบดี ทั้ง ๔ หัวเมือง รับภาระจัดหาอาหารและน้ำถวายแก่หมู่ภิกษุและมหาชน

ประชาชนต่างก็พากันมาชุมนุมกัน ณ สถานที่ดังกล่าว เพื่อรอเข้าเฝ้าพระพุทธองค์

นี่จึงเป็นที่มาของวันตักบาตรเทโวโรหณะ

อันที่จริงความวิปริตผิดเพี้ยน ที่วัดบางวัดได้กระทำ หาได้มีแค่ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะไม่ แม้แต่การรับกฐินทาน อันเป็นวินัยกรรมที่องค์พระบรมศาสดาทรงกำหนดให้อาวาสที่มีภิกษุจำพรรษาภายในอาวาสนั้นๆ แต่ละวัดต้องไม่ต่ำกว่า ๕ รูป จึงจะสามารถรับผ้ากฐินทานนั้นได้

หากอาวาสใดมีพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูป ก็ไม่สามารถรับผ้ากฐินทานได้ แม้จะพยายามจะรับ ผ้านั้นก็ไม่ได้อานิสงส์ของกฐิน ทั้งภิกษุผู้รับ และทายกผู้ถวาย

หากจะได้รับผล ก็ได้แค่การถวายทานธรรมดาทั่วๆ ไปเท่านั้น แต่ก็มีหลายวัดพยายามจะหลอกชาวบ้านให้เชื่อว่า

ภิกษุจำพรรษาแม้ไม่ถึง ๕ รูป ก็รับกฐินได้ ทั้งนี้เพียงแค่ต้องการลาภที่เกิดจากการถวายกฐินเท่านั้น หาได้ต้องการรักษาพระธรรมวินัยกรรมไม่

และมิได้ต้องการอานิสงส์ของการกรานผ้ากฐิน ที่กำหนดไว้ในพระธรรมวินัย ซึ่งจะมีอานิสงส์เกิดขึ้นแก่พระภิกษุผู้รับอนุโมทนาผ้านั้นและทายกผู้ถวายอย่างมหาศาล

แต่นักบวชบางวัด ก็มากระทำให้อานิสงส์แห่งการถวายกฐิน อับเฉา ไม่สมค่ากับคำว่า กาลทาน คือ ปีหนึ่งมีโอกาสทำทานกฐินนี้ได้แค่ครั้งเดียวในแต่ละวัด

นี่เพราะความละโมบของภิกษุบางพวก และความขลาดเขลาของทายกบางคน จึงทำให้วินัยกรรมของพระพุทธเจ้าต้องมาวิปริตผิดเพี้ยน

เวรกรรม เวรกรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0gYDZkvZDp9hffE6QcX83cUjp7xHDLWJocK52uNMFqnQ1x3TrGRYUgLWNwpx2quMLl