พระกาฬุทายีเถระ (ตอนที่ 4)

0
60

พระกาฬุทายีเถระ (ตอนที่ ๔)
๖ กันยายน ๒๕๖๖

ความเดิมตอนที่แล้ว จบลงตรงที่องค์พระบรมศาสดาทรงแสดงเวทนาอันพิสดารทั้ง ๑๐๘ แก่พระอานนท์ ที่นำเอาปัญหาของพระอุทายีเถระ ได้สนทนากับคฤหัสถ์ผู้มีอาชีพเป็นช่างไม้ ด้วยเรื่องเวทนา ๓ คือ สุขเวทนา อทุกขเวทนา และอุเบกขาเวทนา

แต่คฤหัสถ์ช่างไม้เถียงว่า เวทนานั้นมีอยู่แค่ ๒ อย่างคือ สุขเวทนา และทุกขเวทนาเท่านั้น ส่วนอุเบกขาเวทนา จักเป็นเวทนาอันปราณีตขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น

พระอานนท์นำเรื่องนี้มาทูลองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าขอให้ทรงแสดงเวทนาอันพิสดารอันมีทั้ง เวทนา ๒ เวทนา ๓ เวทนา ๔ เวทนา ๖ เวทนา ๑๘ เวทนา ๓๖ เวทนา ๑๐๘

วันนี้เราท่านทั้งหลายมาตามดูอัตชีวประวัติของท่านพระอุทายีเถระกันต่อ

สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์และท่านพระอุทายีอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้พระนครโกสัมพี ท่านพระอุทายีได้ถามท่านพระอานนท์ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยปริยายต่าง ๆ ว่ากายนี้เป็นอนัตตา ดังนี้ ฉันใด

แม้วิญญาณนี้ ท่านอาจจะบอกได้หรือไม่ว่า วิญญาณนี้ก็เป็นอนัตตา ฉันนั้น ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ท่านอาจบอกได้ว่าวิญญาณนี้เป็นอนัตตาฯ และถามท่านพระอุทายีเถระว่า เมื่อเหตุและปัจจัยแห่งจักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณดับไปไม่มีเหลือแล้ว วิญญาณเหล่านั้นจะปรากฏหรือไม่ ?

ท่านพระอุทายีเถระตอบว่า ไม่ปรากฏเลย ดังนั้นท่านพระอานนท์เถระจึงสรุปว่า แม้เพราะเหตุนี้ วิญญาณนี้เป็นอนัตตา ฯ

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมว่า โพชฌงค์ ๗ เป็นหนทางและข้อปฏิบัติอันยังให้ตัณหาสิ้นไป เป็นธรรมแห่งการทำลายกิเลส

ท่านพระอุทายีได้ทูลขอให้พระองค์ทรงแสดงวิธีเจริญโพชฌงค์ ๗ ประการนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ดังนี้

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญ สติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัย วิราคะ อาศัยนิโรธ อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความเบียดเบียน ย่อมละตัณหาได้ เพราะละตัณหาได้ จึง ละกรรมได้ เพราะละกรรมได้ จึงละทุกข์ได้

เพราะสิ้นตัณหา จึงสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จึงสิ้นทุกข์ ด้วยประการดังนี้แล

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัย วิราคะ อาศัยนิโรธ อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความเบียดเบียน ย่อมละตัณหาได้ เพราะละตัณหาได้ จึง ละกรรมได้ เพราะละกรรมได้ จึงละทุกข์ได้

เพราะสิ้นตัณหา จึงสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จึงสิ้นทุกข์ ด้วยประการดังนี้แล

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญ วิริยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัย วิราคะ อาศัยนิโรธ อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความเบียดเบียน ย่อมละตัณหาได้ เพราะละตัณหาได้ จึง ละกรรมได้ เพราะละกรรมได้ จึงละทุกข์ได้

เพราะสิ้นตัณหา จึงสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จึงสิ้นทุกข์ ด้วยประการดังนี้แล

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญ ปีติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัย วิราคะ อาศัยนิโรธ อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความเบียดเบียน ย่อมละตัณหาได้ เพราะละตัณหาได้ จึง ละกรรมได้ เพราะละกรรมได้ จึงละทุกข์ได้

เพราะสิ้นตัณหา จึงสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จึงสิ้นทุกข์ ด้วยประการดังนี้แล

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัย วิราคะ อาศัยนิโรธ อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความเบียดเบียน ย่อมละตัณหาได้ เพราะละตัณหาได้ จึง ละกรรมได้ เพราะละกรรมได้ จึงละทุกข์ได้

เพราะสิ้นตัณหา จึงสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จึงสิ้นทุกข์ ด้วยประการดังนี้แล

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญ สมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัย วิราคะ อาศัยนิโรธ อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความเบียดเบียน ย่อมละตัณหาได้ เพราะละตัณหาได้ จึง ละกรรมได้ เพราะละกรรมได้ จึงละทุกข์ได้

เพราะสิ้นตัณหา จึงสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จึงสิ้นทุกข์ ด้วยประการดังนี้แล

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัย วิราคะ อาศัยนิโรธ อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความเบียดเบียน ย่อมละตัณหาได้ เพราะละตัณหาได้ จึง ละกรรมได้ เพราะละกรรมได้ จึงละทุกข์ได้

เพราะสิ้นตัณหา จึงสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จึงสิ้นทุกข์ ด้วยประการดังนี้แล

ทีนี้เราท่านทั้งหลาย มาตามดูอดีตชาติของท่านพระอุทายีเถระว่ามีความเป็นมาอย่างไร

ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ไป ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านได้เกิดในสกุลอำมาตย์ในพระนครหงสวดี มีทรัพย์และธัญญาหารเหลือล้น ท่านได้เข้าไปยังพระวิหารหังสาราม ถวายบังคมพระตถาคตพระองค์นั้น เมื่อได้สดับธรรมอันไพเราะ และทำสักการะแด่พระปทุมุตตระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ ในตำแหน่งแห่งผู้ทำสกุลให้เลื่อมใส จึงได้หมอบลงแทบเบื้องพระบาทแห่งองค์พระบรมศาสดาปทุมุตตระ แล้วได้กราบทูลว่า ท่านขอตั้งสัจจะอธิษฐานให้ได้เป็นภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายผู้ทำสกุลให้เลื่อมใส ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง เหมือนเช่นภิกษุรูปนั้นเถิด

ครั้งนั้น พระปทุมุตตระบรมศาสดาผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา ได้ตรัสพยากรณ์แก่ว่า ท่านจะได้ฐานะนี้สมดังปรารถนาปรารถนา บุคคลใดเมื่อได้ทำสักการะในพระสัมพุทธเจ้าแล้ว ย่อมไม่เป็นผู้ปราศจากผล ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ ท่านจะได้เกิดในศาสนาของพระบรมศาสดาสัมมาสัมทพุทธเจ้าอันมีพระนามว่า โคดม ผู้สมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช ท่านจะได้ชื่อว่ากาฬุทายี ครั้งนั้นเมื่อท่านได้สดับพระพุทธพยากรณ์แล้ว ท่านก็เป็นผู้เบิกบาน มีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระบรมศาสดาด้วยปัจจัยทั้งหลาย ตราบเท่าสิ้นชีวิต เพราะกุศลวิบากของกรรมนั้นและเพราะตั้งเจตน์จำนงไว้ เมื่อท่านสิ้นชีวิตแล้ว ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

จวบจนถึงกาลสมัยพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราอุบัติ พระกาฬุทายีเกิดในตระกูลอำมาตย์ ในกรุงกบิลพัสดุ์นั่นเอง. ในวันเดียวกับวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ นั่นเอง โดยถือว่าท่านเป็นสหขาติ ๑ ใน ๗ อย่างที่เกิดขึ้นพร้อมพระโพธิสัตว์ คือ

ต้นโพธิพฤกษ์ ๑ ขุมทรัพย์ ๔ แห่ง ๑ ม้ากัณฐกะ ๑ มารดาของพระราหุล (พระนางพิมพา) ๑ อานนท์ ๑ นายฉันนะ๑ และกาฬุทายีอำมาตย์ ๑ รวม ๗ อย่าง

ในวันนั้นนั่นเอง มารดาบิดาให้เขานอนบนที่นอนที่ทำด้วยผ้าเนื้อดีชนิดหนึ่ง แล้วพาไปสู่ที่บำรุงของพระโพธิสัตว์.ครั้นถึงวันตั้งชื่อ มารดาบิดาได้ตั้งชื่อเขาว่า อุทายี เพราะเหตุที่เขาเกิดในวันที่ชาวพระนครทั้งสิ้นมีจิตเบิกบาน.เนื่องจากการประสูติพระราชโอรส คือเจ้าชายสิทธัตถะ แต่คนทั้งหลายกลับเรียกชื่อท่านว่า กาฬุทายี (กาฬ + อุทายี) เพราะเมื่อเกิดท่านมีผิวพรรณค่อนข้างคล้ำ
ในฐานะของลูกชายของอำมาตย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ และเป็นสหชาติกับเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านจึงเป็นเพื่อนเล่นกับพระโพธิสัตว์มาตั้งแต่เยาว์วัย ครั้นเมื่อได้เจริญวัยแล้วท่านก็ได้เป็นอำมาตย์คนหนึ่งของพระเจ้าสุทโธทนะ

จนได้ออกบวชในสำนักของพระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมบริวารอีก ๑๐,๐๐๐ คน

ทั้งยังได้รับการสรรเสริญยกย่องว่าเป็นภิกษุผู้ทำให้ตระกูลทั้งหลายเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง
จบแล้วจ๊ะ หวังว่าสิ่งที่ท่านทั้งหลายได้ศึกษา ได้อ่าน ได้สดับอัตชีวประวัติของท่านอุทายีเถระคงจักได้เข้าถึงข้อธรรมอันลุ่มลึกในเรื่อง อนัตตลักขณสูตรกันบ้าง

หากไม่เข้าใจ ยังเข้าไม่ถึงก็ให้กลับไปอ่านอีกหลายๆ ครั้ง เพื่อให้เข้าใจ เข้าถึง จักเป็นคุณอย่างยิ่งแก่ชีวิตที่มีอยู่ในสถานการณ์โลกปัจจุบัน

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02b1soYNW5Dfb7qxSDbo2jFXnUfLUWC7ASBNrVQMXjyHURsrNA12KSYcziAKemZnual