ประวัติพระปิณโฑลภารทวาชเถระ (ตอนที่ ๒)
๔ กรกฎาคม ๒๕๖๖
กาลต่อมาสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่วัดเวฬุวันมหาวิหารที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ มีเศรษฐีผู้หนึ่งใคร่จะลงเล่นน้ำในแม่น้ำคงคา จึงให้บริวารขึงตาข่ายเป็นรั้วล้อมในท่าที่ตนอาบน้ำอยู่เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์น้ำต่าง ๆ
ขณะนั้นมีไม้จันทน์แดงต้นหนึ่งเกิดที่ริมฝั่งเหนือน้ำขึ้นไป ถูกน้ำเซาะรากโค่นลงไหลมาตามน้ำถูกกระแสน้ำพัดกระทบกับของแข็งหักเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่กระจัดกระจายไปตามน้ำ มีอยู่ก้อนหนึ่งเป็นปุ่มซึ่งแตกออกมา กลิ้งกระทบหินและกรวดทรายกลายเป็นก้อนกลมอย่างดี และมีตะใคร่น้ำเกาะอยู่โดยรอบไหลมาติดที่ตาข่ายนั้น
เศรษฐีให้คนตรวจดูรู้ว่าเป็นไม้จันทน์แดงหรือไม่ พอรู้ว่าใช่ไม้จันทร์แดง แล้วคิดว่า “ไม้จันทน์แดงนี้ ในบ้านของเรามีอยู่มากมาย เราควรจะทำอะไรดีกับไม้จันทน์แดงก้อนนี้”
พลางก็คิดขึ้นได้ว่า “ชนเป็นจำนวนมากต่างก็พูดอวดว่าตนเป็นพระอรหันต์ เรายังไม่รู้ชัดว่าผู้ใดเป็นพระอรหันต์กันแน่ เราควรให้ช่างกลึงปุ่มไม้จันทน์แดงนี้ ทำเป็นบาตรแล้วแขวนไว้ที่ปลายไม้ไผ่ต่อกันให้สูง ๑๕ วา แล้วให้ป่าวประกาศว่าผู้ใดสามารถเหาะขึ้นไปเอาบาตรลงมาได้ จึงจะเชื่อถือว่าผู้นั้นเป็นพระอรหันต์ เราพร้อมด้วยภรรยาและบุตรจะขอถึงผู้นั้นเป็นสรณะที่พึ่งตลอดชีวิต”
เมื่อคิดเช่นนั้นแล้วก็สั่งให้บ่าวไพร่ทำตามที่คิดนั้นทุกประการ
ครั้งนั้น เจ้าสำนักครูทั้ง ๖ คือ ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล
สัญชัยเวลัฎฐบุตร ปกุทธกัจจายนะ และ นิครนถ์นาฎบุตร ต่างก็มีความประสงค์อยากจะได้บาตรไม้จันทน์แดงด้วยกันทั้งนั้น จึงได้ไปพูดกับท่านเศรษฐีว่า
“ท่านเศรษฐี บาตรนี้สมควรแก่เรา ท่านจงยกให้แก่เราเถิด”
“ถ้าท่านต้องการอยากจะได้ ก็จงเหาะขึ้นไปเอาด้วยตนเอง” เศรษฐีกล่าวยืนยัน
ครั้นถึงวันที่ ๖ นิครนถ์นาฎบุตร ได้ใช้ให้ศิษย์ไปบอกแก่เศรษฐีว่า
“บาตรนี้ สมควรแก่อาจารย์ของเรา อย่าให้ถึงกับต้องแสดงฤทธิ์เหาะมาเพราะเหตุเพียงบาตรใบเดียว ซึ่งเป็นวัตถุเล็กน้อยนี้เลย จงมอบให้แก่อาจารย์ของเราเถิด”
ท่านเศรษฐี ก็ยังคงยืนยันเหมือนเดิม นิครนถ์นาฏบุตรจึงวางแผนกับลูกศิษย์ว่า
“เมื่อเราทำท่ายกมือ ยกเท้า แสดงอาการจะเหาะขึ้นไปเอาบาตร พวกเจ้าจงรีบเข้ามาจับมือจับเท้าของเราไว้แล้วกล่าวห้ามว่า อย่าเลยท่านอาจารย์ ไฉนท่านอาจารย์จึงต้องทำถึงเพียงนี้ท่านอย่าได้แสดงคุณความเป็นพระอรหันต์ที่ปกปิดไว้เพราะเหตุเพียงบาตรใบเดียวนี้เลย”
เมื่อตกลงวางแผนกันเรียบร้อยแล้ว นิครนถ์นาฎบุตร จึงเข้าไปพูดขอบาตรกับเศรษฐี เมื่อได้รับคำปฏิเสธเช่นเดิม จึงแสดงท่าจะเหาะขึ้นไปเอาบาตร
บรรดาศิษย์ทั้งหลายก็พากันเข้าห้ามฉุดรั้งไว้แล้ว ตามที่นัดหมายกันเอาไว้
นิครนถ์นาฏบุตรจึงพูดกับเศรษฐีว่า
“เราจะเหาะขึ้นไปเอาบาตรอยู่แล้วทีเดียว แต่บรรดาศิษย์ทั้งหลายของเราต่างพากันมาห้ามฉุดรั้งเราไว้อย่างที่เห็นนี้ ดังนั้น ขอท่านจงให้บาตรแก่เราเถิด”
เศรษฐีก็ยังไม่ยอมให้เช่นเดิม
เวลาผ่านไป 7 วัน ยังไม่มีใครสามารถเหาะนำบาตรแก่นไม้จันทร์ลงมาได้ ทำให้ชาวเมืองต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่า ในโลกนี้คงไม่มีพระอรหันต์แล้วละมั้ง
ในขณะเดียวกัน พระมหาโมคคัลลานเถระกับพระปิณโฑลภารทวาช กำลังออกบิณฑบาตรอยู่เรือนบ้านจึงได้ฟังชาวเมืองที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่มีพระอรหันต์ในโลกนี้แล้ว
ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ยินถ้อยคำนั้นเข้า จึงกล่าวกะท่านพระปิณโฑลภารทวาชะว่า
พวกชนเหล่านี้ พูดเป็นทีเหมือนจะปรามาส ดูแคลน ย่ำยีพระพุทธศาสนา ท่านจงไปเถิด จงเหาะไปในอากาศ แล้วถือเอาบาตรนั้น
ปิณโฑลภารทวาชะกล่าวว่า
ท่านโมคคัลลานะ ท่านเป็นผู้มีฤทธิ์อันเลิศกว่าบรรดาสาวกทั้งปวง ท่านจงเหาะไปถือเอาบาตรนั้นมาเองเถิด แต่หากเมื่อท่านไม่ถือเอา ผมก็จักเหาะขึ้นไปถือเอา
กล่าวดังนี้แล้วท่านปิณโฑลภารทวาชะก็เข้าจตุตถฌาน มีอภิญญาเป็นบาท ถอยออกจากฌานแล้ว เอาปลายเท้าคีบหินดาดประมาณ ๑ คาวุต แล้วเหาะขึ้นไปในอากาศพร้อมหินใหญ่ก้อนนั้นเหมือนปุยนุ่น แล้วเหาะเวียนไปในเบื้องบนพระนครราชคฤห์ ๗ รอบ
แผ่นหินดาดนั้นก็ปรากฏเหมือนดังเป็นฝาปิดพระนครไว้ ปิดบังแสงอาทิตย์เสียสิ้น พวกชาวพระนครเห็นดังนั้นก็เกิดความตกใจ ร้องว่า “หินจะตกทับพวกชาวนครแล้ว ” แล้วพากันหาที่หลบซ่อน หรือหาวัตถุต่าง ๆ เช่น กระด้ง กะถัง ตะกร้า และภาชนะต่างๆ ที่ตนสามารถคว้าได้หาได้ในเวลานั้น เป็นต้นมาปิดศีรษะไว้
ครั้นเมื่อครบ ๗ รอบแล้ว พระ เถระจึงได้แสดงตนให้มหาชนได้เห็น
มหาชนเห็นพระเถระแล้ว กล่าวว่า
“ท่านปิณโฑลภารทวาชะผู้ เจริญ ท่านจงจับหินของท่านไว้ให้มั่น อย่าให้ตกลงมาใส่พวกข้าพเจ้า ขอพระคุณเจ้าโปรดกรุณา อย่าทำให้พวกเราเป็นอันตรายเลย ”
ท่านพระเถระจึงใช้นิ้วเท้าคีบหินแผ่นนั้น เหวี่ยงให้กระเด็นไปจากประตูพระนครแล้วแผ่นหินนั้นก็กลับไปตั้งอยู่ในที่เดิม
พุทธะอิสระ
——————————————–