เรื่องนี้ต้องขยาย : พระนางมหาปชาบดีโคตรมี (ตอนที่ 1)

0
62

พระมหาปชาบดีโคตรมี (ตอนที่ ๑)
๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๕

เป็นพระราชธิดาแห่งโกลิยะ เป็นพระมาตุจฉา (พระน้านางเธอ) ของพระโคตมพุทธเจ้า เพราะเป็นพระขนิษฐภคินีของพระนางสิริมหามายา พุทธมารดา และเป็นภิกษุณีรูปแรก ทรงได้เรียนกรรมฐานและทรงปฏิบัติอย่างจริงจัง จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าทรงยกย่องท่านว่าเป็นเอตทัคคะ คือเลิศกว่าผู้อื่นในทางรัตตัญญู (คือผู้มีรู้ราตรีนาน)

เมื่อพระนางสิริมหามายาสวรรคตแล้ว หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ 7 วัน ในกาลต่อมาพระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงตั้งพระนางมหาปชาบดีโคตมีไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี ซึ่งพระนางได้ทรงถวายการอภิบาลเจ้าชายสิทธัตถะ เสมือนเป็นพระราชโอรสของพระองค์เอง พระนางมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งพระนามว่า เจ้าชายนันทะ และมีพระราชธิดาพระองค์หนึ่งพระนามว่า เจ้าหญิงรูปนันทา

พระนางได้ทรงแสดงความประสงค์จะบวชต่อพระพุทธเจ้าในคราวที่พระองค์เสด็จไปโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ

พระนางได้ทูลขอถึงสามครั้ง พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสห้ามไว้ทั้งสามครั้งว่า อย่าชอบใจการที่สตรีออกบวชเป็นบรรชิตเลย

พระนางทรงน้อยพระทัย เสียพระทัย แล้วเสด็จกลับไป

ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปเมืองเวสาลีและประทับอยู่ที่ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน พระนางปชาบดีโคตมีพร้อมด้วยเหล่านางบริวารจำนวนมาก จึงได้ปลงพระเกศา ห่มผ้ากาสายะ เป็นการแสดงเจตนาที่จะบวชอย่างแรงกล้า โดยเสด็จไปยังกูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เมืองเวสาลี เพื่อทรงทูลขออุปสมบท โดยพระนางได้ทรงแจ้งพระประสงค์ต่อพระอานนท์ให้นำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ขอให้พระนางพร้อมทั้งเหล่านางบริวารได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนา
ท่านพระอานนท์เห็นพระนางมีพระบาททั้งสองพอง ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก จึงสอบถาม แล้วทราบว่าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

ท่านพระอานนท์ขอให้พระนางรออยู่สักครู่ แล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อทูลขออนุญาต ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลขอถึงสามครั้ง พระผู้มีพระภาคก็ทรงตรัสห้ามทั้งสามครั้งว่า อย่าชอบใจการที่สตรีออกบวชเป็นบรรพชิตเลย

ท่านพระอานนท์จึงทูลถามว่าเมื่อสตรีบวชเป็นบรรพชิต ควรจะทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผลหรือไม่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ควร

ท่านพระอานนท์จึงกราบทูลว่าถ้าสตรีเมื่อบวชเป็นบรรพชิตควรทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผล พระนางมหาปชาบดีโคตมีซึ่งเป็นพระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาคทรงมีอุปการะมาก ขอสตรีได้บวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาค เถิดพระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ก็ได้อานนท์ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมียอมรับครุธรรม ๘ ประการ ไม่ละเมิดตลอดชีวิต ข้อนั้นจะเป็นอุปสัมปทา คือ การขอบวชและได้บวชแล้วของพระนาง

ครุธรรม ๘ ประการ

๑. ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น

๒. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ

๓. ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามวันอุโบสถ ๑ เข้าไปฟังคำสั่งสอน ๑ จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน

๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน หรือโดยรังเกียจ (แม้แต่ภิกษุหรือสถานที่ ที่ตนรังเกียจก็ตาม)

๕. ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย

๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขาอันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการครบ ๒ ปีแล้ว

๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง

๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ ให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี

ท่านพระอานนท์กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าพระนางมหาปชาบดีโคตมีได้ยอมรับครุธรรม ๘ ประการ และอุปสมบทแล้ว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่าถ้าสตรีไม่ได้บวชเป็นบรรพชิต พรหมจรรย์จักตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจะพึงตั้งอยู่ได้ตลอดพันปี

สตรีได้บวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่ทรงประกาศแล้ว พรหมจรรย์จักไม่ตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจักตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปีเท่านั้น

แล้วทรงกล่าวต่อไปว่าสตรีได้บวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยใด ธรรมวินัยนั้นเป็นพรหมจรรย์ไม่ยั่งยืน เปรียบเหมือนตระกูลเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีหญิงมาก มีชายน้อย ตระกูลเหล่านั้นถูกพวกโจรกำจัดได้ง่าย และเปรียบเหมือนหนอนขยอกที่ลงใน นาข้าวสาลีที่สมบูรณ์ นาข้าวสาลีนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน

พระะผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติครุธรรม ๘ ประการแก่ภิกษุณี เพื่อไม่ให้ภิกษุณีละเมิดตลอดชีวิต เปรียบเหมือนคั่นดินกั้นทำนบสระใหญ่ไว้ เพื่อไม่ให้น้ำไหลไป ฉะนั้น

เมื่อพระมหาปชาบดีโคตมีทูลถามพระผู้มีพระภาคว่าพึงปฏิบัติในนางสากิยานีที่มาด้วยอย่างไร พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้นางทั้งหลายเหล่านั้นอุปสมบทภิกษุณี

วันต่อมาพระมหาปชาบดีโคตมีได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์เพื่อกราบทูลขอพรกะพระผู้มีพระภาคให้ทรงอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่ภิกษุและภิกษุณี ตามลำดับผู้แก่ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต และทรงทำธรรมีกถาว่า ภิกษุไม่พึงทำการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่มาตุคาม รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฎ

วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อนนะจ๊ะ ง่วงนอนแล้ว

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02MtHZdDXjAYeqHHijUMvL2EgwqqmmCfd36NdCY8h3MYpY7SREGR8GSQddJBPhYhFFl