เรื่องนี้ต้องขยาย (พระมหากัสสปะ ตอนที่ ๑)
๙ ตุลาคม ๒๕๖๕
เราท่านทั้งหลายได้ทราบถึงคุณูปการที่พระมหากัสสปะมหาเถระได้กระทำต่อพระธรรมวินัย จนเราท่านทั้งหลายได้เรียนรู้ ศึกษาพระธรรมวินัยขององค์พระบรมศาสดากันอยู่ทุกวันนี้
วันนี้เรามาดูอัตชีวประวัติของท่านพระมหากัสสปะว่ามีรายละเอียด เรื่องราวที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง
พระมหากัสสปะมีนามว่า ปิปผลิ เป็นบุตรของกปิลพราหมณ์ เกิดที่หมู่บ้านมหาติตถะ แคว้นมคธ
เมื่ออายุเข้าย่างสู่ 20 ปี มารดาบิดาของท่านรบเร้าให้ท่านแต่งงาน ท่านปฏิเสธเพราะตั้งใจว่าเมื่อดูแลมารดาบิดาจนทั้งสองเสียชีวิตแล้วก็จะออกบวช แต่มารดาบิดาของท่านยังยืนยันให้ท่านแต่งงานเพื่อดำรงวงศ์ตระกูล
ปิปผลิมานพจึงจ้างช่างหล่อทองคำเป็นรูปหญิงสาว ประดับด้วยผ้านุ่งสีแดง ดอกไม้ และเครื่องประดับต่าง ๆ แล้วบอกมารดาว่าถ้าหาหญิงสาวลักษณะตามรูปปั้นนี้ได้จึงจะยอมแต่งงาน มารดาของท่านจึงให้พราหมณ์ ๘ คนนำรูปหล่อไปตามหาหญิงสาวที่มีลักษณะตามนั้น
พราหมณ์ทั้งแปดคน รับสิ่งของทองหมั้นแล้วก็เที่ยวแสวงหาไปจนกระทั่งถึงเมืองสาคละ
ในพระนครนั้น มีธิดาของพราหมณ์โกสิยโคตรคนหนึ่ง ชื่อว่า ภัททกาปิลานี อายุ ๑๖ ปี รูปร่างสะสวยงดงามสมกับเป็นผู้มีบุญ พราหมณ์เหล่านั้นครั้นได้เห็นแล้ว จึงเข้าไปสู่ขอกับบิดามารดาของนาง เมื่อตกลงกันแล้วจึงมอบสิ่งของทองหมั้น กำหนดวันอาวาหมงคล และส่งข่าวให้กปิลพราหมณ์ได้ทราบ
ส่วนปิปผลิมาณพเมื่อได้ทราบดังนั้น ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะแต่งงานเลย จึงเข้าไปในห้อง เขียนจดหมายบอกความประสงค์ของตนให้นางทราบ
“นางผู้เจริญ จงได้สามีที่มีชาติและโคตร โภคสมบัติเสมอกับนาง อยู่ครอบครองเรือน เป็นสุขเถิด ฉันจักออกบวช ต่อไปภายหลังเธอจะได้ไม่ต้องเดือดร้อน”
ครั้นเขียนเสร็จแล้ว มอบให้คนใช้นำไปส่ง
แม้นางภัททกาปิลานี ก็มีความประสงค์เหมือนกับปิปผลิมาณพเช่นเดียวกัน จึงได้เขียนจดหมายที่มีความหมายเช่นเดียวกับจดหมายของปิปผลิมาณพแล้วให้คนใช้นำจดหมายไปส่ง ทั้งสองมาพบกันระหว่างทาง ต่างไต่ถามความประสงค์ของกันและกันแล้วจึงฉีกจดหมายออกอ่าน แล้วทิ้งจดหมายฉบับนั้นเสียในป่า เขียนจดหมายมีเนื้อความ แสดงความรักซึ่งกันและกันขึ้นมาใหม่แล้วนำไปให้คนทั้งสอง
ครั้นกาลต่อมาการอาวาหมงคลเป็นการสำเร็จเรียบร้อย โดยคนทั้งสองไม่ได้มีความประสงค์ สักแต่ว่าอยู่ร่วมกันเท่านั้น ไม่ได้ถูกต้องกันเลย แม้จะขึ้นสู่เตียงนอนก็ไม่ได้ขึ้นทางเดียวกัน ปิปผลิมาณพขึ้นข้างขวา นางภัททกาปิลานีขึ้นข้างซ้าย เมื่อเวลานอนก็พากันตั้งพวงดอกไม้สองพวงไว้กลางที่นอน เพราะกลัวร่างกายจะถูกต้องกัน ต่างฝ่ายต่างถือพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีบุตรหรือธิดาด้วยกัน
เมื่อบิดามารดาของปิปผลิมาณพถึงแก่กรรมแล้ว ทรัพย์สมบัติและหน้าที่การงานทุกอย่างจึงเป็นภาระของสองสามีภรรยา และเนื่องจากตระกูลทั้งสองเป็นตระกูลมหาเศรษฐีมีทรัพย์ของแต่ละตระกูลมากถึง ๘๐ โกฏิ เมื่อรวมสองตระกูลเข้าเป็นตระกูลเดียวกันแล้วทรัพย์สมบัติก็ยิ่งมากมายมหาศาล มีสัตว์เลี้ยงและคนงานจำนวนมาก สองสามีภรรยาต้องบริหารสั่งการทุกอย่าง
จนกระทั่งวันหนึ่ง ในขณะที่ปิปผลิกำลังตรวจดูทาสและกรรมกรทำงานพรวนดินอยู่ในไร่นา ได้เห็นนกกาจิกกินไส้เดือนเป็นต้น ก็รู้สึกสงสารและสลดใจที่สัตว์เหล่านั้นต้องตายเพราะตนเป็นเหตุ ส่วนนางภัททกาปิลานี ก็ให้คนนำเมล็ดถั่วงาออกมาตากที่ลานหน้าบ้าน เห็นหมู่นกกามาจิกกินตัวหนอนและแมลงต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในถั่วงา ก็เกิดความสงสารและสลดใจเช่นกัน
เมื่อสองสามีภรรยามีโอกาสอยู่ด้วยกันตามลำพังจึงได้สนทนาถึงเรื่องความในใจของกันและกันแล้ว จากนั้นทั้งสองก็มีความคิดตรงกันว่า
“ผู้อยู่ครองเรือน แม้จะไม่ได้ลงมือทำการงานเอง แต่ก็ต้องคอยรับบาปที่ทาสและกรรมกรทำให้”
จึงเกิดความเบื่อหน่ายในการครองเรือน ปรารถนาจะละเสียซึ่งเพศฆราวาส เลยพร้อมใจกันสละทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้ญาติและบริวารส่วนทั้งสองสามีภรรยาพากันออกบวชเป็นดาบส อธิฐานเพศบรรพชิตบวชอุทิศต่อพระอรหันต์ในโลกแล้วเดินร่วมทางกันไปอยู่ช่วงหนึ่ง
พอถึงทางแยกแห่งหนึ่งจึงแยกจากกัน ปิปผลิเดินไปทางขวา ส่วนนางภัททกาปิลานีเดินไปทางซ้าย
นางเดินทางไปพบสำนักปริพาชกแล้วได้เข้าไปขอบวชในสำนักนั้น เนื่องด้วยขณะนั้น พระผู้มีพระภาคยังมิได้ทรงอนุญาตให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา ต่อเมื่อพระนางปชาบดีโคตรมีได้บวชแล้ว นางจึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระเถระ ศึกษาพระกรรมฐาน บำเพ็ญ
วิปัสสนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล
ส่วนปิปผลิมานพเดินทางไปตามลำดับ ได้พบพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับที่ภายใต้ร่มไทรระหว่างกรุงราชคฤห์กับนาลันทา เห็นพุทธจริยาน่าเลื่อมใสแปลกกว่านักบวชอื่น ๆ ที่ตนเคยพบมา ปลงใจเชื่อว่าต้องเป็นพระอรหันต์แน่นอน จึงน้อมกายกราบถวายบังคมแทบพระบาท กราบทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา
พระศาสดา ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ด้วยการประทานโอวาท ๓ ข้อว่า
๑. กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความเกรงใจ ไว้ในภิกษุที่เป็นผู้เฒ่าและปานกลางอย่างดีที่สุด
๒. เราจักฟังธรรมซึ่งประกอบด้วยกุศล เราจักตั้งใจฟังธรรมนั้นแล้วพิจารณาเนื้อความ
๓. เราจักไม่ละสติ ที่เป็นไปในกาย คือพิจารณาเอาร่างกายเป็นอารมณ์
เมื่อท่านอุปสมบทแล้วทำความเพียรไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล หลังจากอุปสมบทได้ ๘ วัน พุทธบริษัททั้งหลายรู้จักท่านในนาม “พระมหากัสสะ” ท่านได้ช่วยรับภารธุระอบรมสั่งสอนพระภิกษุและพุทธบริษัทอื่น ๆ จนมีภิกษุเป็นบริวารจำนวนมาก ท่านมีปกติสมาทานธุดงค์ ๓ ประการ อย่างเคร่งครัด คือ:-
๑) ถือการนุ่งห่มบังสุกุลเป็นวัตร
๒) ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
๓) ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
เพราะการปฏิบัติในธุดงค์คุณทั้ง ๓ ประการนี้อย่างเคร่งครัด พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้ทรงธุดงค์
นอกจากนี้ พระบรมศาสดายังทรงยกย่องท่านในทางอื่น ๆ อีกหลายประการ กล่าวคือ:-
ครั้งหนึ่ง ท่านติดตามพระพุทธองค์ไปประทับที่ภายใต้ร่มไม้ต้นหนึ่งท่านได้พับผ้าสังฆาฏิของท่านเป็น ๔ ชั้นแล้วปูถวายให้พระพุทธองค์ประทับนั่งพระพุทธองค์ตรัสว่า:-
“กัสสปะ ผ้าสังฆาฏิของเธอนุ่มดี”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์ทรงใช้สอยเถิด พระเจ้าข้า”
“กัสสปะ แล้วเธอจะใช้อะไรทำสังฆาฏิเล่า ?”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อใดที่พระองค์เลิกใช้ผ้าของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ ก็จะใช้เป็นสังฆาฏิต่อพระเจ้าข้า”
พระบรมศาสดาทรงสดับเช่นนั้นจึงได้ประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ ให้แก่ท่านพระมหากัสสปะแล้วทรงยกย่องท่านอีก ๔ ประการคือ:-
๑) กัสสปะ มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วยตถาคต เป็นผู้มักน้อยสันโดษภิกษุทั้งหลายควรถือเป็นแบบอย่าง
๒) กัสสปะ เมื่อเธอเข้าไปใกล้ตระกูลแล้ว ชักกายและใจออกห่างประพฤติตนเป็นคนใหม่ ไม่คุ้นเคย ไม่คะนองกาย วาจา และใจ ในสกุลเป็นนิตย์ จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลนั้นตั้งจิตเป็นกลางว่า “ผู้ใคร่ลาภจงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญจงได้บุญ ตนได้ลาภแล้วมีจิตเป็นฉันใด ผู้อื่นก็มีใจเป็นฉันนั้น”
๓) กัสสปะ มิจิตประกอบด้วยเมตตา กรุณา แสดงธรรมแก่ผู้อื่นโดยมิได้ปิดบังอำพราง
๔) ทรงแลกเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิกับท่านไปใช้สอย ทรงสอนภิกษุให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ โดยยกพระมหากัสสปะขึ้นเป็นตัวอย่าง
วันนี้จบแค่นี้ก่อนนะจ๊ะ เอาไว้มาเล่าต่อวันหน้า
พุทธะอิสระ
——————————————–