เรื่องนี้ต้องขยาย (ตอนที่ ๑๑)
๔ ตุลาคม ๒๕๖๕
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยานของเหล่ามัลลกษัตริย์ แห่งเมืองกุสินารานั้น พระมหากัสสปะอยู่ต่างเมืองครั้นทราบข่าวพระประชวรของพระพุทธองค์ จึงเดินทางพร้อมภิกษุบริวารประมาณ 500 รูป เพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ก่อนเข้าไปยังเมืองกุสินารา ได้พักเหนื่อยอยู่ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง
ขณะนั้นอาชีวกนักบวชนอกพุทธศาสนาคนหนึ่ง ถือดอกมณฑารพเดินออกนอกเมืองมา พระมหากัสสปะจึงเอ่ยถามถึงพระพุทธเจ้า อาชีวกคนนั้นกล่าวว่า ศาสดาของพวกท่านปรินิพพานได้ตั้ง 7 วันแล้ว พวกท่านยังไม่ทราบอีกหรือ
ได้ยินดังนั้น ภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพก็นั่งนิ่งปลงธรรมสังเวช พิจารณาความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร
ฝ่ายภิกษุที่ยังเป็นเสขบุคคลและปุถุชนอยู่จำนวนมากก็พากันร่ำไห้อาลัยอาวรณ์ในพระพุทธองค์
มีขรัวตาบวชเมื่อแก่รูปหนึ่งนามสุภัททะ ได้เห็นภิกษุทั้งหลายร่ำไห้อยู่ จึงปลอบโยนว่านิ่งเสียเถอะ อย่าร้องไห้เลย พระศาสดาปรินิพพานไปก็ดีแล้ว สมัยยังทรงพระชนม์อยู่ทรงจู้จี้สารพัด ห้ามโน่นห้ามนี่ จะทำอะไรก็ดูผิดไปหมด ไม่มีอิสระเสรีภาพเลย บัดนี้เราเป็นอิสระแล้ว ปรารถนาจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้
พระมหากัสสปะได้ยินดังนั้นก็สลดใจ “โอหนอพระบรมศาสดาสิ้นไปยังไม่ข้าม 7 วันเลย สาวกของพระองค์พูดได้ถึงขนาดนี้ ต่อไปนานเข้าจะขนาดไหน”
ท่านรำพึงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะทรงพระชนม์อยู่ทรงมีพระมหากรุณาแก่ท่านเป็นกรณีพิเศษ ได้ประทานบาตรและจีวรแก่ท่าน และทรงรับเอาบาตรจีวรของท่านไปทรงใช้เอง นับว่าทรงไว้วางพระทัยต่อท่านพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง
เมื่อพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ถูกดูหมิ่นจ้วงจาบเช่นนี้จะนิ่งดูดายหาควรไม่
ท่านจึงตัดสินใจทำสังคายนาโดยคัดเลือกพระอรหันต์สาวกผู้ทรงอภิญญาได้จำนวน 499 รูปอีกรูปหนึ่งท่านไม่ยอมเลือก ความจริงท่านต้องการจะเลือกท่านพระอานนท์ แต่ขณะนั้นท่านพระอานนท์ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ครั้นจะเลือกท่านพระอานนท์ก็เกรงจะถูกครหาว่า “เห็นแก่หน้า” แต่ครั้นจะเลือกภิกษุอื่น ไม่เลือกท่านพระอานนท์ ก็เกรงว่าการทำสังคายนาครั้งนี้จักไม่สำเร็จผลอันสมบูรณ์ด้วยดี
เพราะท่านพระอานนท์ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นพหุสูต เป็นธรรมภัณฑาคาริก จึงได้ระบุชื่อพระเถระอื่นๆ 499 รูป แล้วนิ่งเสีย ต่อเมื่อพระสงฆ์ลงมติว่าท่านพระอานนท์ควรจะเข้าร่วมทำสังคายนาครั้งนี้ด้วย ท่านจึงได้รับเข้าเป็นคณะสงฆ์ผู้จะทำสังคายนา ครบจำนวน 500 รูป
เมื่อได้รับคัดเลือกแล้ว ท่านได้เดินทางจากนครกุสินารากลับไปยังนครสาวัตถีอีก ในระหว่างทางท่านได้แสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนจำนวนมากที่เศร้าโศกเสียใจในการปรินิพพานของพระพุทธองค์ เมื่อถึงพระเชตวันมหาวิหาร ท่านก็ได้ปฏิบัติปัดกวาดพระคันธกุฏีเสมือนเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ นอกจากปฏิบัติพระคันธกุฏีแล้ว ท่านได้ใช้เวลาส่วนมากให้หมดไปด้วยการยืนและนั่ง ด้วยความคิดถึงองค์พระบรมศาสดา ไม่ค่อยจะได้จำวัด ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ท่านไม่สบาย ต้องฉันยาระบายเพื่อให้กายเบา ครั้นให้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดในพระเชตวันสำเร็จแล้ว พอใกล้วันเข้าพรรษาจึงได้ออกเดินทางไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อร่วมทำสังคายนา
เมื่อถึงแล้ว ท่านได้ทำความเพียรอย่างหนักเพื่อให้สำเร็จอรหัตตผลก่อนการทำสังคายนาแต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพื่อน ๆ ได้ตักเตือนท่านว่า ในวันรุ่งขึ้นท่านจะต้องเข้าไปนั่งในสังฆสันนิบาตแล้ว ท่านเองเป็นพระเสขบุคคลอยู่ ขอให้ทำความเพียร อย่าประมาท ในคืนนั้น ท่านได้เดินจงกรม กำหนดกายคตาสติ จนจวบปัจจุสมัยใกล้รุ่ง จึงลงจากที่จงกรม หมายใจจะหยุดนอนพักผ่อนในวิหารสักครู่ก่อน เพราะท่านปรารภความเพียรเท่าไหร่ก็ยังไม่สิ้นอาสวะซักที แต่พอเอนกายลงนอน ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและเท้าทั้งสองยังไม่พ้นจากพื้น ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในอิริยาบถที่ไม่ได้ ยืน เดิน นั่ง นอน
ครั้นถึงเวลาประชุมทำสังคายนา พระมหาเถระรูปอื่น ๆ ก็พากันไปยังธรรมสภา ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา เขตเมืองราชคฤห์ กันอย่างพร้อมเพรียง และต่างรูปต่างก็นั่งอยู่ ณ อาสนะของตน ๆ แต่อาสนะของท่านพระอานนท์ยังว่างอยู่ เพราะท่านพระอานนท์คิดใคร่จะประกาศให้พระมหาเถระทั้งหลายได้ทราบว่า ท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงไม่ได้ไปพร้อมกับพระเถระอื่น ๆ เมื่อกำหนดกาลเวลาพอเหมาะแล้ว ท่านจึงชำแรกแผ่นดินลงไป และผุดขึ้น ณ อาสนะแห่งตน แต่บางคัมภีร์กล่าวว่า ท่านเหาะไปทางอากาศตกลงบนอาสนะของท่าน
ก่อนการสังคายนาพระธรรมวินัยจะเริ่ม พระมหากัสสปเถระได้ตั้งปัญหาหลายประการ แก่พระอานนท์ อาทิ
การใช้เท้าหนีบผ้าของพระศาสดาในขณะปะหรือชุนผ้า
การไม่อาราธนาให้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดำรงพระชนม์อยู่ แม้จะได้ทรงแสดงนิมิตโอภาสหลายครั้ง ก่อนที่พระองค์จะปลงสังขาร
การเป็นผู้ขวนขวายให้สตรีเข้ามาบวชในพุทธศาสนา
การไม่กราบทูลถามเรื่องสิกขาบทเล็กน้อย ที่พระพุทธองค์ตรัสให้สงฆ์ถอนได้ว่าคือสิกขาบทอะไรบ้าง
และการจัดสตรีให้เข้าไปถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อนบุรุษภายหลังปรินิพพาน ทำให้น้ำตาของสตรีเหล่านั้นเปื้อนพระพุทธสรีระ
ถึงแม้พระอานนท์เถระจะอ้างเหตุผลมากล่าวแก่ที่ประชุมสงฆ์ แต่เมื่อที่ประชุมสงฆ์เห็นว่าเป็นอาบัติ ท่านก็แสดงอาบัติต่อสงฆ์ หรือแสดงการยอมรับผิด
การแสดงอาบัติของพระอานนท์นั้นเป็นกุศโลบายของพระมหากัสสปเถระที่ต้องการจะวาง ระเบียบวิธีการปกครองคณะสงฆ์ให้ที่ประชุมเห็นว่า อำนาจของสงฆ์นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด คำพิพากษาวินิจฉัยของสงฆ์ถือเป็นคำเด็ดขาด แม้จะเห็นว่าตนไม่ผิด แต่เมื่อสงฆ์เห็นว่าผิด ผู้นั้นก็ต้องยอม เป็นตัวอย่างที่ภิกษุสงฆ์รุ่นหลังจะได้ยอมทำตาม
นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมเกียรติคุณของพระอานนท์เถระ ให้เป็นตัวอย่างของผู้ว่าง่าย เคารพยำเกรงผู้ใหญ่ เป็นปฏิปทาที่ใครๆ พากันอ้างถึงด้วยความนิยมชมชอบในการต่อมา
พุทธะอิสระ
*************************************************
(ภาพจำลองการบรรลุของพระอานนท์ ที่ไม่ได้เป็น 1 ในอิริยาบถ 4 ยืน เดิน นั่ง นอน เลย แต่เป็นการเอนกายลงบนเตียง ในขณะที่เท้าพ้นจากพื้น ศีรษะกำลังจะถึงหมอน)