เรื่องนี้ต้องขยาย : พระเทวทัต (ตอนที่ 5)

0
33

เรื่องนี้ต้องขยาย (ตอนที่ ๕)
๒๑ กันยายน ๒๕๖๕

หลังจากที่สังคม ประชาชนในกรุงราชคฤห์ได้รับรู้ว่า พระเทวทัตมักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการตำแหน่งพระพุทธเจ้าจนนำมาซึ่งความคิดและกระทำปฏิการในการฆ่าพระพุทธเจ้า แต่ไม่สำเร็จ

เวลาต่อมามหาชนทั้งหลายจึงพากันคว่ำบาตรพระเทวทัต ด้วยการไม่ใส่บาตร ไม่ลุกรับกราบไหว้

พระเทวทัตเสื่อมลาภสักการะแล้ว พร้อมกับสานุศิษย์ แม้จะเที่ยวขออาหารในสกุลทั้งหลายก็ได้มาอย่างยากลำบาก ประชาชนทั้งหลายต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงเที่ยวขอในสกุลทั้งหลาย ดุจดังขอทาน คนตกยาก น่าอนาถเช่นนี้เล่า

ทั้งยังกำหนดทานที่ตนเองต้องการแก่ผู้ที่ให้ท่าน จนต้องพากันขวนขวาย แสวงหา มาให้แก่พระเทวทัตและบริวาร

ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินมหาชนโจษจัน นินทากันเช่นนั้นจึงพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระเทวทัตพร้อมกับบริวารจึงกระทำตนเยี่ยงขอทานเช่นนี้เล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาค … ตรัสถามว่า ดูกรเทวทัตข่าวว่าเธอพร้อมกับบริษัทเที่ยวขอในสกุลทั้งหลายมาฉันจริงหรือ

พระเทวทัตทูลรับว่า จริงพระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษไฉนเธอจึงได้พร้อมด้วยบริษัทเที่ยวขออาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉันเล่า การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอ พึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่า

(ปาจิตตีย์ โภชนวรรคสิกขาบทที่ ๒ – ๘๑.๒ ก. ถ้าทายกเขามานิมนต์ ออกชื่อโภชนะทั้ง ๕ อย่าง คือข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าไปรับของนั้นมา หรือฉันของนั้นพร้อมกันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัย คือ เป็นไข้อย่าง ๑ หน้าจีวรกาลอย่าง ๑ เวลาทำจีวรอย่าง ๑ เดินทางไกลอย่าง ๑ ไปทางเรืออย่าง ๑ อยู่มากด้วยกันบิณฑบาตไม่พอฉันอย่าง ๑ โภชนะเป็นของสมณะอย่าง ๑)

ครั้นแล้วทรงทำธรรมมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติโภชนะสำหรับ ๓ คนในสกุลแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๓ ประการ คือ

เพื่อข่ม บุคคลผู้เก้อยาก ๑

เพื่ออยู่ผาสุกของภิกษุผู้มีศีล เป็นที่ รัก ๑

เพื่ออนุเคราะห์สกุลด้วย หวังว่าภิกษุทั้งหลายที่มีความปรารถนาลามก อย่าอาศัย ฝักฝ่ายทำลายสงฆ์ ๑

ในการฉันเป็นหมู่ หากไม่ประกอบด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๗ อย่าง ต้องปรับอาบัติปาจิตตีย์ทุกคำกลืน ฯ

**************************************************

เกียรติคุณอีกอย่างหนึ่งที่ท่านพระอานนท์พุทธอุปัฏฐากได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ คือ มีฝีมือทางช่าง

สาเหตุที่ทรงชมเชย มีว่าครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จจากนครราชคฤห์ไปสู่ทักษิณาคิรีชนบท ได้ทอดพระเนตรเห็นคันนาของชาวมคธเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคันนาสั้น ๆ คั่นในระหว่าง แล้วตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า จะเย็บจีวรอย่างนั้นได้ไหม?

(ด้วยเหตุเพราะผ้าบังสุกุลแต่ละชิ้นที่พระไปเก็บมาแต่ละชิ้น กว้างยาวไม่เท่ากัน หากใช้แผนภูมิพื้นนาของชาวมคธ ก็จะสำเร็จประโยชน์แก่ภิกษุผู้เป็นเจ้าของผ้านั้น)

ท่านทูลรับว่า เย็บได้ และต่อมาท่านเย็บจีวรให้พระหลายรูปแล้วนำไปถวายให้ทอดพระเนตร พระพุทธองค์ทอดพระเนตรแล้วตรัสชมเชยในท่ามกลางสงฆ์ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด เป็นเจ้าปัญญา ซาบซึ้งถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวโดยย่อให้พิสดารได้ ทำผ้ากุสิก็ได้ ทำผ้าอัฑฒกุสิ ผ้ามณฑล ผ้าอัฑฒมณฑล ผ้าวิวัฏฏะ ผ้าอนุวิวัฏฏะ ผ้าคีเวยยกะ ผ้าชังเฆยยกะ และผ้าพาหันตะก็ได้”

ผ้ากุสิ คือ ผ้ายาวที่ติดขอบจีวรทั้งด้านยาวและด้านกว้าง (อนุวาต)

ผ้าอัฑฒกุสิ คือ ผ้าสั้นที่แทรกอยู่เป็นตอนๆ ในระหว่างผ้าผืนยาว

ผ้ามณฑล คือ ผ้ามีบริเวณกว้างใหญ่ในแต่ละตอนของจีวร ๕ ตอน (จีวร ๕ ขัณฑ์)

ผ้าอัฑฒมณฑล คือ ผ้ามีบริเวณเล็กๆ

ผ้าวิวัฏฏะ คือ ตอน (ขัณฑ์) ของผ้าที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งเย็บผ้ามณฑลและอัฑฒมณฑลเข้าด้วยกัน

ผ้าอนุวิวัฏฏะ คือ ผ้า ๒ ตอน (ขัณฑ์) ที่อยู่ ๒ ด้านของจีวร

ผ้าคีเวยยกะ คือ ผ้าที่เอาด้ายเย็บเล็มทาบเข้ามาทีหลัง เพื่อทำให้แน่นหนาบริเวณที่พันรอบคอ

ผ้าชังเฆยยกะ คือ ผ้าที่เอาด้ายเย็บทาบเข้าทีหลัง บริเวณที่ปิดแข้ง

ผ้าพาหันตะ คือ ผ้าทั้งสองด้าน (ของจีวร) ที่ภิกษุเมื่อห่มจีวรขนาดพอดี จะม้วนมาพาดไว้บนแขน หันหน้าออกด้านนอก

นอกจากนี้พระอานนท์เป็นผู้ที่ประหยัดและฉลาดในเรื่องนี้มาก ดังเหตุการณ์ที่พระมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งนครโกสัมพี เสื่อมใสในการแสดงธรรมของพระอานนท์ จึงได้ถวายจีวรจำนวน 500 ผืน แด่พระอานนท์ เมื่อพระเจ้าอุเทนทราบจึงตำหนิพระอานนท์ว่ารับจีวรไปจำนวนมาก เมื่อได้โอกาสจึงนมัสการถามว่าเอาจีวรไปทำอะไร

อุเทน: “พระคุณเจ้า ทราบว่าพระมเหสีถวายจีวรพระคุณเจ้า 500 ผืน พระคุณเจ้ารับไว้ทั้งหมดหรือ”

อานนท์: “ขอถวายพระพร อาตมาภาพรับไว้ทั้งหมด”

อุเทน: “พระคุณเจ้ารับไว้ทำไมมากมายนัก”

อานนท์: “เพื่อแบ่งถวายแก่พระภิกษุผู้มีจีวรเก่าคร่ำคร่า”

อุเทน: “แล้วจีวรเก่าคร่ำคร่านั้นเอาไปทำอะไร”

อานนท์: “เอาไปทำผ้าปูที่นอน”

อุเทน: “จะเอาผ้าปูที่นอนเก่าไปทำอะไร”

อานนท์: “เอาไปทำผ้าปูพื้น”

อุเทน: “จะเอาผ้าปูพื้นเก่าไปทำอะไร”

อานนท์: “เอาไปทำผ้าเช็ดเท้า”

อุเทน: “จะเอาผ้าเช็ดเท้าเก่าไปทำอะไร”

อานนท์: “เอาไปโขลกขยำกับโคลนแล้วฉาบทาฝา”

พระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใสว่าพระสมณบุตรเป็นผู้ประหยัด จึงถวายผ้าจีวรอีก 500 ผืนแด่พระอานนท์

พุทธะอิสระ

——————————————–