เรื่องดีๆ ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 10 ทรงกระทำ ให้แก่คนไทยทั้งแผ่นดิน ยังไม่ค่อยมีใครได้รับรู้ 25ก.ค.2565

0
18

เรื่องดีๆ ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๑๐ ทรงกระทำ ให้แก่คนไทยทั้งแผ่นดิน ยังไม่ค่อยมีใครได้รับรู้
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ นี้เป็นวันเฉลิมพระชนพรรษา องค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ ๗๐ พรรษา

พวกเราคนไทยลองมาดู รับรู้ สิ่งที่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ทรงกระทำให้แก่คนไทยทุกคนกันดูหน่อย

***********************************************************

1. ด้านการศึกษา

พระองค์พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้อาคารของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลชื่อว่า โรงเรียนอนุบาลทหารมหาดเล็กราชวัลลภ โดยในระยะแรกได้จัดการเรียนการสอนเฉพาะชั้นอนุบาลต่อมาโรงเรียนได้ย้ายไปที่จังหวัดนนทบุรีและได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ นอกจากนี้ยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบเป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกล กระทรวงศึกษาธิการน้อมเกล้าฯ ถวายโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาจำนวน 15 โรงเรียน เป็นโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ ได้แก่

1. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1 จังหวัดนครพนม
2. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 2 จังหวัดกำแพงเพชร
3. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 3 จังหวัดสุราษฎร์ธานี
4. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 1 จังหวัดอุดรธานี
5. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 จังหวัดสงขลา
6. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 3 จังหวัดฉะเชิงเทรา
7. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน) ในพระราชูปถัมภ์ฯ กรุงเทพมหานคร
8. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดโบสถ์) ในพระราชูปถัมภ์ฯ กรุงเทพมหานคร
9. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดประดู่) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดสมุทรสงคราม
10. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา) ในพระราชูปถัมภ์ฯ กรุงเทพมหานคร
11. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตถสารเกษตร) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดปทุมธานี
12. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดสุนทรสถิต) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดสมุทรสาคร
13. โรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย จังหวัดระยอง
14. โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ จังหวัดนนทบุรี
15. โรงเรียนราชปิโยรสายุพราชานุสรณ์ จังหวัดน่าน

พระองค์ทรงให้นำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่มีฐานะยากจนลำบาก แต่ประพฤติดี มีความสามารถในการศึกษา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคง โดยปี 2559 เป็นปีนักเรียนทุนรุ่นแรกสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยนักเรียนทุนพระราชทานต่างน้อมนำ ยึดมั่น ปฏิบัติตนตามแนวพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานว่า “เรียนดี ความรู้ดี การงานดี ชีวิตสดใส ทำประโยชน์ให้กับ ประเทศชาติ” มาเป็นแนวทางในการดำรงตนด้วย โดยเป็นทุนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงระดับปริญญาตรี ต่อมาใน พ.ศ. 2553 มีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.)

– เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 โดยพระองค์ทรงให้นำโครงการทุนการศึกษาฯ มาดำเนินการภายใต้ ม.ท.ศ. โดยสนับสนุนทุนการศึกษาแก่ผู้ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จนถึงปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ทั้งนี้เป็นทุนให้เปล่าและเมื่อจบการศึกษาจะได้รับโอกาสให้สมัครเป็นข้าราชบริพารในพระองค์ ฯ

– วันที่ 10 เม.ย. 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคใต้จำนวน 40 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินส่วนพระองค์ที่ได้จากการจำหน่ายบัตรอวยพร และไดอารี่ภาพวาดฝีพระหัตถ์ ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ โดยพระราชทานเงินช่วยเหลือนักเรียน 27 คน ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม พร้อมช่วยโรงเรียน 267 แห่ง โดยเป็นการช่วยเหลือระยะเร่งด่วน โดยพระองค์มีพระราชดำรัส ว่า ขอบคุณทุกคนที่ซื้อไดอารี่ภาพวาดฝีพระหัตถ์ และเสียสละช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระราชดำรัสว่าจะช่วยเหลือรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนให้ดีที่สุดในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์.

– วันที่ 1 พ.ย. 2564 พระราชทานเงินส่วนพระองค์เพื่อให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ปรับสถานศึกษาเป็นโรงพยาบาลสนาม สถานที่กัดตัว หรือศูนย์พักคอยให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว เมื่อมีการส่งคืนพื้นที่ สถานศึกษาแต่ละแห่งอาจมีภาระต้องชำระค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารให้คืนสู่สภาพเดิมเพื่อจัดการเรียนการสอน ในจังหวัดบุรีรัมย์จำนวน 5 เขตพื้นที่ได้รับการจัดสรรเงินพระราชทานจำนวน 65 โรงเรียน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,653,720 บาท

– วันที่ 18 ตค 64 พระราชทานเงินช่วยเหลือโรงเรียนในสังกัด สพป.ขอนแก่น เขต 1-5 เป็นเงินทั้งสิ้น 1,489,110 บาท เพื่อให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆปรับสถานศึกษาเป็นโรงพยาบาลสนาม หรือสถานที่กักตัวหรือศูนย์พักคอยให้แก่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งหลังจากภารกิจเป็นโรงพยาบาลสนามหรือสถานที่กักตัวหรือศูนย์พักคอยแล้วเสร็จ เมื่อมีการส่งคืนพื้นที่และอาคารสถานที่ให้แก่สถานศึกษาแล้ว สถานศึกษาแต่ละแห่ง อาจมีภาระต้องชำระค่าสาธารณูปโภคและค่าใช้จ่ายซ่อมแซม ปรับปรุงอาคาร ให้คืนสู่สภาพเดิมเพื่อจัดการเรียนการสอน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินและแนวทางการดำเนินงานในการใช้จ่ายเงินพระราชทาน ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวกำหนด

2. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้นเพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พระองค์มีพระราชปณิธานให้เอาใจใส่รักษาพยาบาลพสกนิกรของพระองค์ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วหน้าเสมอกัน
– เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินจำนวน 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายสมุดไดอารี่ภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์ เพื่อสมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

– เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินจำนวน 2,407 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อเครื่องมือครุภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ แก่โรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์และพยาบาล และสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเป็นเงินที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวายในการร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 และเงินรายได้จากการจัดงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว “สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์

– พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้แต่งตั้ง คณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี ด้วยหัวใจ อันเนื่องมาจากมีพระราชดำริที่จะพระราชทานความช่วยเหลือโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ในเรื่องการจัดหาอุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ตลอดจนการให้จิตอาสา พระราชทาน ๙๐๔ วปร. ได้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือ ทั้งทางด้าน การแพทย์ การพยาบาล การอบรมให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ เช่น การปฐม พยาบาลเบื้องต้น

– วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 เวลา 13.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)” ซึ่งเป็นหนึ่งใน “โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน” เพื่อรับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้เอสซีจีดำเนินการก่อสร้างให้โรงพยาบาลต่าง ๆ 20 แห่งทั่วประเทศ

– 23 ก.ค. 2564 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยประชาชนและบุคลากรณ์การแพทย์ในภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างยิ่ง โดยพระราชทานทรัพย์เพื่อสมทบทุนและจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลและสถานที่ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ได้แก่

1. พระราชทานทรัพย์ จำนวน 100 ล้านบาท (100,000,000 บาท) สมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช

2. พระราชทานทรัพย์ จำนวน 2.4 พันล้านบาท (2,407,144,487.59 บาท) แก่โรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์ และสถานพยาบาล 27 แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์

3. พระราชทานทรัพย์ จำนวน 345 ล้านบาท (345,000,000 บาท) แก่เรือนจำ ทัณฑสถาน และโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำ 44 แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์

– วันที่ 4 สิงหาคม 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชิญเงินพระราชทาน จํานวน 99,900,000 บาท มอบแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ทําเนียบรัฐบาล เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของวัด โรงเรียน สถาบันอาชีว ศึกษา มหาวิทยาลัยและหน่วยงานของเหล่าทัพ ทั่วประเทศ ที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย สถานที่กักตัว และสถานที่ฌาปนกิจศพ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564 และเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2564

3. โครงการจิตอาสา

ความเป็นมาของจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หน่วยราชการในพระองค์ 904 ร่วมกันจัดโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีความสมัครสมานสามัคคี มีความสุขและประเทศชาติมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน โดยมีหน่วยราชการในพระองค์ 904 เป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน และให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการใหญ่โครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ มีหน้าที่ควบคุม อำนวยการและประสานการปฏิบัติเพื่อให้การจัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ เป็นไปอย่างต่อเนื่องถูกต้องตามพระราโชบายและสมพระเกียรติ การแบ่งประเภทของจิตอาสา มี 3 ประเภท จิตอาสาพัฒนา จิตอาสาภัยพิบัติ จิตอาสาเฉพาะกิจ

4. ด้านศาสนา

– เมื่อวันที่ 11 มิ.ย 2558 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมกรมการศาสนา (ศน.) พล.อ.ต.วีระพันธุ์ ภูวจินดา รองหัวหน้าการเงินฝ่ายที่ประทับในพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผู้แทนอัญเชิญเช็คพระราชทานจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จำนวน 5,791,516.82 บาท มอบให้ ศน.เพื่อนำไปใช้ในการจัดตั้งกองทุนสำหรับการบูรณะวัดสุนทรสถิต อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร และการเผยแผ่งานด้านพระพุทธศาสนา มีนายกฤษศญพงษ์ ศิริ อธิบดี ศน.เป็นผู้รับมอบ โดยนายกฤษศญพงษ์กล่าวว่า ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เพื่อรับสนองงานและเผยแพร่พระเกียรติคุณในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ศน.จึงนำเงินพระราชทาน จัดตั้งเป็นกองทุนภายใต้ชื่อ “กองทุนเผยแผ่พระพุทธศาสนาและบูรณะพัฒนาศาสนสถานในพระพุทธศาสนา” โดยเริ่มต้นดำเนินกิจกรรมการบูรณะวัดสุนทรสถิตตามพระราชประสงค์เป็นโครงการแรก จากนั้นจะดำเนินกิจกรรมด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งบูรณะวัดและศาสนสถานทั่วประเทศต่อไป

– เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 4 ส.ค.2564 พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชิญเงินพระราชทานจำนวน 88,800,000 บาท ไปถวายแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร สมทบทุนแก่วัดต่างๆที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย สถานที่กักตัว และที่ฌาปนกิจศพ

5.ด้านที่ดิน

– เมื่อเวลา 20.03 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเอก ประยุทธ์ และหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ เฝ้าฯ รับพระราชทานโฉนดที่ดินในพระปรมาภิไธย ซึ่งมีที่ตั้งในกรุงเทพมหานคร และในส่วนภูมิภาค เพื่อใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ทำงานสถานศึกษา และเพื่อเป็นประโยชน์ในทางราชการตลอดไป ดังนี้

1. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เฝ้าฯ รับพระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 14 ไร่ 2 งาน 72.70 ตารางวา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 92.30 ตารางวา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

2. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เฝ้าฯ รับพระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 65.70 ตารางวา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชวินิต และโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 22 ตารางวา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชวินิต มัธยม

3. พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก เฝ้าฯ รับพระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 1,059 ไร่ 1 งาน 36.70 ตารางวา ตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี และเนื้อที่ 493 ไร่ 1 งาน 63 ตารางวา ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี เพื่อประโยชน์ในทางราชการของกองทัพบก

4. พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เฝ้าฯ รับพระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 185 ไร่ 1 งาน 85.20 ตารางวา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายนเรศวร จังหวัดเพชรบุรี

5. พลตำรวจโท วิชิต ปักษา ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เฝ้าฯ รับพระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 275 ไร่ 3 งาน 57.20 ตารางวา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายพระราม 6 (พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน) จังหวัดเพชรบุรี เพิ่มเติมจากที่ได้พระราชทานเมื่อปี 2560

6. พลตรี ประยุกต์ อุ่นอบ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก ที่ 15 เฝ้าฯ รับพระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 173 ไร่ 40.80 ตารางวา อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เพื่อประโยชน์ในทางราชการของมณฑลทหารบก ที่ 15 พระรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน) จังหวัดเพชรบุรี เพิ่มเติมจากที่ได้พระราชทานเมื่อปี 2560

7. นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เฝ้าฯ รับพระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 25 ไร่ 84 ตารางวา บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เพื่อประโยชน์ในทางราชการของจังหวัดเพชรบุรี

8. รองศาสตราจารย์ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เฝ้าฯ รับพระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 60 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

9. รองศาสตราจารย์ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เฝ้าฯ รับพระราชทานโฉนดที่ดิน เนื้อที่ 37 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

อนึ่ง เมื่อปี 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานโฉนดที่ดินในพระปรมาภิไธยแก่ส่วนราชการต่าง ๆ ไปแล้ว เพื่อใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ทำงาน และเพื่อเป็นประโยชน์ในทางราชการ

อาทิ กองทัพบก รับพระราชทานโฉนดที่ดิน เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 79 ไร่ 2 งาน 60.9 ตารางวา เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารโครงการพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าของแผ่นดิน
และโฉนดที่ดิน วังปารุสก์ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 1.5 ตารางวา เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์

สำนักข่าวกรองแห่งชาติ รับพระราชทานโฉนดที่ดิน วังปารุสก์ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 9 ไร่ 26.5 ตารางวา เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ,

กองบัญชาการตำรวจนครบาล รับพระราชทานโฉนดที่ดิน วังปารุสก์ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 19 ไร่ 2 งาน 52 ตารางวา เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาล,

กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15 รับพระราชทานโฉนดที่ดิน พระรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน) อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 21 ไร่ 1 งาน 48.5 ตารางวา เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15 และพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ของชาติ และศิลปะจังหวัดเพชรบุรี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับพระราชทานโฉนดที่ดิน ค่ายนเรศวร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 584 ไร่ 2 งาน 99.5 ตารางวา เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน,

กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน รับพระราชทานโฉนดที่ดิน ค่ายพระรามหก (พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน) อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 1,244 ไร่ 24.2 ตารางวา เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และพิพิธภัณฑ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

กระทรวงมหาดไทย รับพระราชทานโฉนดที่ดิน พระราชวังสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ 148 ไร่ 2 งาน 88.8 ตารางวา เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกระทรวงมหาดไทย และพิพิธภัณฑ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับพระราชทานโฉนดที่ดิน คลอง 6 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 300 ไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ และสถานที่ทำงานขององค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย รับพระราชทานโฉนดที่ดิน ตำบลปทุมวัน อำเภอสามเพ็ง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 67 ไร่ 67 ตารางวา เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

***********************************************************

พุทธะอิสระ

——————————————–