พระภัททกาปิลานีเถรี (ตอนที่ ๘)
๒๒ มีนาคม ๒๕๖๗
ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ พระราชาและพระเทวีได้เกิดธรรมสังเวชในการปรินิพพานของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๕๐๐ องค์ จึงทรงผนวชอยู่ในพระราชอุทยาน
ขณะที่มหามุนีนันทราชและมหามุนาเทวี ได้ถือบวช พร้อมตั้งมั่นอยู่ในความเพียรทางจิตจนได้ฌานสมาบัติขั้นสูง
ครั้งเมื่อถึงกาลกิริยามหามุนีทั้งสองจึงได้ไปบังเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาส จวบจนกาลเวลาล่วงเลยไป ๑ อสงไขย (ยาวเท่ากับ ๑ ตามด้วย ๐ จำนวน ๑๔๐ ตัว) ยุคสมัยพระบรมศาสดาสมณโคดมพุทธเจ้า องค์ปัจจุบัน ท้าวมหาพรหมทั้งสองจึงได้มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ต่างฝ่ายต่างมีทรัพย์สินควรกันคนละ ๘๐ โกฎิ
ท้าวมหาพรหมนันทราช ได้บังเกิดในท้องภรรยาหลวงของกบิลพราหมณ์ ซึ่งอยู่ในตระกูลกัสสปะโคตร ส่วนมหาพราหมณ์มุนาเทวีได้มาบังเกิดในตระกูลโกสิยพราหมณ์ มีนามว่า ภัททากาปิลานี
เมื่อทั้งสองถูกพ่อแม่บังคับให้แต่งงานโดยมิได้เต็มใจ จังได้สัญญากันไว้ว่า จะรักษาพรหมจรรย์จวบจนบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายสิ้นอายุขัยลง จึงได้พากันออกบวช ในพระศาสนาของพระสมณโคดมบรมศาสดา มีนามว่า พระมหากัสสปมุนี และ นางภัททกาปิลานีเถรี
และด้วยอำนาจแห่งมหากุศลกรรมที่ทั้งสองได้กระทำเอาไว้มาแล้วด้วยดีอย่างสม่ำเสมอแต่ในอดีต ประกอบด้วยแรงสัจจะอธิษฐาน พร้อมทั้งทำเหตุปัจจัยให้สมบูรณ์
ทั้งสององค์จึงได้รับการยกย่องจากองค์พระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
พระมหากัสสปะเป็นผู้เลิศในด้าน การถือธุดงค์ และครองจีวรเศร้าหมอง เลิศยิ่งกว่าภิกษุสงฆ์
มหาเถรีภัททกาปิลานีภิกษุณี ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศในด้านผู้มีบุพเพนิวาสานุสสติญาณ อันเลิศกว่าหมู่ภิกษุณีสงฆ์ทั้งปวง
ด้วยอำนาจแห่งมหากุศลกรรมที่กระทำอย่างต่อเนื่อง ยาวนานถึงพระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานผ่านพ้นไปแล้วถึง ๓ พระองค์ คือ พระปทุมุตตระพุทธเจ้า , พระวิปัสสีพุทธเจ้า , พระกัสสปทศพลพุทธเจ้า
ครั้นกาลเวลาผ่านพ้นไปจนลุถึงพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระสมณโคดม ความมุ่งมั่น หมั่นเพียรพยายามของทั้งสององค์จึงประสบความสำเร็จในยุคของพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สมณโคดมในปัจจุบัน
สมดังพุทธภาษิตที่ว่าด้วย
“วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ
บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร”
“กาลาคตญฺจ น หาเปติ อตฺถํ
คนขยันย่อมไม่พรากจากประโยชน์ชั่วตามกาล”
“วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา
เกิดเป็นคนควรพยายามจนลุถึงสิ่งที่มุ่งหวัง”
“โกสชฺชํ ภยโต ทิสฺวา วิริยามฺภญฺจ เขมโต
อารทฺธวิริยา โหถ เอสา พุทฺธานุสาสนี
ท่านทั้งหลายจงระลึกรู้อยู่เสมอว่าความเกียจคร้านถือเป็นภัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต
และการปรารภความเพียรอยู่ว่าเป็นความปลอดภัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต
นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
“สพฺพทา สีลสมฺปนฺโน ปญฺญวา สุสมาหิโต
อารทฺธวิริโย ปหิตตฺโต โอฆํ ตรติ ทุตฺตรํ.
ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล มีปัญญา มีใจตั้งมั่นคงที่ดีแล้ว
ปรารภความเพียร ตั้งมั่นไว้ในกาลทุกเมื่อ
ย่อมข้ามโอฆะที่สรรพสัตว์ผู้ไม่มีความเพียรข้ามได้ยาก”
เจริญธรรม
พุทธะอิสระ
——————————————–