เรื่องนี้ต้องขยาย (ตอนที่ ๒)
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕
เมื่อได้นำประวัติท่านปิงคิยศิษย์พราหมณ์พาวรีมาเล่าสู่กันฟัง ก็มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย
ในกรณีที่ท่านทูลถามปัญหาแก่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งแรกความว่า
“ข้าพระองค์เป็นคนแก่ มีกำลังน้อย ผิวพรรณเศร้าหมอง นัยน์ตาทั้งสองของข้าพระองค์ไม่แจ่มใส หูสำหรับฟังก็ไม่ค่อยได้ยิน”
(เหล่านี้เป็นอารัมภบทแสดงปัญหาแห่งคำถาม)
ส่วนคำถามที่แท้จริงคือ
“ขอข้าพระองค์อย่างได้เป็นคนหลงฉิบหายเสียในระหว่างเลย
ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้ ซึ่งเป็นเครื่องละชาติและชราในอัตภาพนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า”
มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย คือ
“ขอข้าพระองค์อย่างได้เป็นคนหลงฉิบหายเสียในระหว่าง”
อธิบายว่า คำว่าในระหว่าง หมายถึง ระหว่างที่ยังมิได้หลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ พยาธิ ทุกข์โทมนัส
และระหว่างที่กำลังเพียรพยายามที่จะแสวงหาและลงมือปฏิบัติธรรมอันเป็นเครื่องหลุดพ้น รวมทั้งในระหว่างที่ยังไม่ได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดนั้นด้วย
เหล่านี้คือสิ่งที่ท่านปิงคิยหลานของพราหมณ์พาวรีหวาดกลัว
ส่วนประเด็นคำถามข้อต่อมาคือ
“ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้ ซึ่งเป็นเครื่องละชาติและชราในอัตภาพนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า”
คำถามส่วนนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย คือ ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้
อธิบายว่า ธรรมที่ควรรู้และเหมาะสำหรับคนแก่ผู้มีร่างกายเสื่อมโทรมอยู่ตลอดเวลา นอกจากจะเป็นธรรมที่ต้องรวบรัดทันต่อสังขารที่กำลังเสื่อมไปทุกขณะ ยังต้องเป็นธรรมที่เข้าใจและปฏิบัติตามได้ไม่ยาก
ด้วยเพราะผู้ฟังและปฏิบัติมีกำลังอันน้อยมีเวลาเหลือน้อย
อีกทั้งยังต้องเป็นธรรมที่ให้ผลอย่างแม่นยำ เด็ดขาด รวบรัด ชัดเจน สามารถกำจัดชาติ ชราได้จริงในปัจจุบันนี้
องค์สมเด็จพระชินศรีทรงตอบปัญหาแก่ท่านปิงคิยศิษย์พราหมณ์พาวรีว่า
“ดูกรปิงคิย ชนทั้งหลายได้แลเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังทุกข์ยากเดือดร้อนอยู่ ด้วยเหตุเพราะมีรูปทั้งหลาย แล้วยังประพฤติตนเป็นผู้มัวเมาประมาทอยู่ ชนเหล่านั้นก็จะย่อยยับด้วยเหตุเพราะมัวเมา หลงติดอยู่ในรูป
ดูกรปิงคิย เพราะเหตุดังกล่าวนี้ ท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาท จงละในรูปทั้งหลายเสีย เพื่อความไม่เกิดอีกต่อไป”
องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตอบปัญหาแห่ปิงคิยว่า
“ก็ในเมื่อรูปนี้มันเป็นต้นเหตุแห่งชาติ ชรา ทุกข์ เช่นนั้นก็จงละว่าง วางจากรูปนี้เสีย เมื่อไม่มีรูป ชาติ ชรา ทุกข์จะตั้งอยู่กับสิ่งใด”
เป็นที่น่าเสียดายที่ท่านปิงคิยมัวแต่พะว้าพะวัง ห่วงใยต่อลุงอันเป็นที่รักเคารพยิ่งของตนว่า
พระธรรมขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้า ช่างไพเราะงดงามจับจิตจับใจยิ่งนัก หากท่านอาจารย์มาฟังกับหูตนก็คงจะดียิ่ง
ด้วยจิตที่ห่วงพะวงเช่นนี้ แม้พระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าจะวิเศษเพียงใด ก็มิอาจทำให้จิตที่มีแต่อารมณ์ฟุ้งซ่าน ได้ซึมซับถึงรสพระธรรมอันวิเศษนั้นได้
ในเวลาต่อมาปิงคิยได้สติจึงทูลถามปัญหาต่อองค์พระบรมศาสดาเป็นคำรบสามความว่า
“ทิศใหญ่สี่ ทิศน้อยสี่ รวมทั้งทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ รวมเป็นสิบทิศ และสิ่งไรๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ไม่ได้รู้แจ้ง เป็นอันไม่มี”
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ อะไรเรียกว่า ทิศใหญ่ ๔ ทิศ ทิศน้อย ๔ ทิศ ทิศเบื้องบน และทิศเบื้องล่าง
อธิบายว่าคำว่าทิศใหญ่ หมายถึง ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก
คำว่า ทิศน้อยสี่ทิศ หมายถึง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ส่วนทิศเบื้องบน หมายถึง ทิศที่อยู่เหนือหัวขึ้นไป
และทิศเบื้องล่างหมายถึง ทิศที่อยู่ใต้ฝ่าเท้าลงไป
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคำถามคำรบสามคือคำว่า
“สิ่งไรๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ไม่ได้รู้ และไม่รู้แจ้ง นั้นไม่มี”
อธิบายความว่า ปิงคิยะเมื่อได้สดับฟังการตอบปัญหาที่พระบรมศาสดาทรงตอบศิษย์คนอื่นทั้ง ๑๕ คน จึงได้รับรู้ว่า องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้มีคุณอันประเสริฐ ๙ ประการ คือ
๑. อรหํ – เป็นพระอรหันต์ คือ เป็นผู้บริสุทธิ์ ไกลจากกิเลส ทำลายกำแพงแห่งสังสารวัฏได้แล้ว เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ควรได้รับความเคารพบูชา เป็นต้น
๒. สมฺมาสมฺพุทฺโธ – เป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง
๓. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน – เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชา คือความรู้ และจรณะ คือความประพฤติ
๔. สุคโต – เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว
๕. โลกวิทู – เป็นผู้รู้แจ้งโลก
๖. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ – เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ฝึกได้ ไม่มีใครยิ่งไปกว่า
๗. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ – เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
๘. พุทฺโธ – เป็นผู้รู้ผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว
๙. ภควา – ทรงเป็นผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนให้เหมาะสมแก่อุปนิสัยของสัตว์
ด้วยพระคุณอันประเสริฐดังกล่าวปิงคิยะจึงได้กล่าวในเชิงสรรเสริญ
ส่วนข้อคำถามที่แท้จริงที่ปิงคิยะถามก็คือ
“ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้ เพื่อเป็นเครื่องละชาติ และชราในขณะที่อยู่ในอัตภาพนี้แก่ข้าพระองค์เถิด”
อธิบายความว่า ธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้ หมายถึง ธรรมที่เหมาะสมสำหรับชาติวุฒิ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ หรือธรรมที่เหมาะเฉพาะร่างกายและจิตใจ นิสัยของท่านปิงคิยะเอง
ท้ายของคำถามท่านปิงคิยะได้มุ่งเน้นว่า พระธรรมที่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงแสดงแก่ตน ต้องเป็นธรรมเพื่อความดับชาติและชราของตนเท่านั้น
ด้วยการถามว่า
“ธรรมที่เป็นเครื่องดับชาติและชรา ในอัตภาพนี้”
องค์สมเด็จพระชินศรีบรมศาสดาจึงทรงมีพุทธบรรหารขานไขปัญหาว่า
ดูกรปิงคิยะ เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำแล้วเกิดความเดือดร้อน อันมีความชราเข้ามาถึงตัว
อธิบายความในพระพุทธธรรมคำที่ทรงสอนว่า ปิงคิยะเมื่อเห็นหมู่มนุษย์ หมายถึง มนุษย์ผู้มีอันรู้เดียงสาจนถึงวันแก่ชราใกล้ตาย
อธิบายคำว่า เมื่อท่านเห็นได้แก่ เห็นด้วยสติปัญญาของตนแบบชนิดฉุดใจคิด เกิดข้อสงสัย แล้วขวนขวาย แสวงหาคำตอบ
อธิบายคำว่า ผู้ถูกตัณหาครอบงำ หมายถึง ความทะยานอยากทั้ง ๓ ประการ คือ
๑. กามตัณหา คือ ความทะยานอยากในกามคุณทั้ง ๕ อันมี รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งเป็นอารมณ์ที่น่าพึงพอใจเรียกว่า อิฏฐารมณ์
๒. ภวตัณหา หมายถึง ความทะยานอยากในสิ่งที่อยู่ในภพภูมิที่ตนเกิด และทะยานยากในภพภูมิอื่นๆ เช่น อยากไปเกิดในสุคติภพ เป็นต้น
๓. วิภวตัณหา หมายถึง ความไม่อยากที่จะเกิด จะเป็น จะมี จะดี จะได้ ในภพภูมิที่ตนอยู่ และในภพอื่นๆ
อธิบายคำว่า เกิดความเดือดร้อนอันมีความชรามาถึงตัว
หมายถึง ไม่ว่าท่านจะทะยานอยาก มักมากซักปานใด สุดท้ายก็หนีไม่พ้นความเดือดร้อนทั้งกายและจิตใจ ทั้งกลางวันและกลางคืน จากความทะยานอยากนั้นๆ และไม่ว่าท่านจะเพียรพยายามดิ้นรนกระเสือกกระสน ขวนขวาย ตะกายอยากซักปานใด สุดท้ายท่านก็หนีไม่พ้นความคร่ำครา แก่ชราอยู่ดี
ดูก่อนปิงคิยะ เพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาท
อธิบายคำว่า ไม่ประมาท หมายถึง การเฝ้าดูรับรู้ และสัมผัสในสิ่งที่ทะยานอยากอย่างมีสติตื่นรู้ ว่านี่คือ ภาพมายา และใช้ปัญญาใคร่ครวญ พินิจพิจารณาให้เห็นโทษเห็นภัยในตัณหา เห็นโทษเห็นภัยในความคร่ำคราแก่ชรา แล้วขวนขวายหาวิธีลดละเลิก ความทะยานอยากนั้นๆ เสีย
ดูก่อนปิงคิยะ จงละเสียซึ่งตัณหา เพื่อความไม่ต้องกลับมาเกิดอีก
อธิบายความว่า ที่ทรงสอนเช่นนี้เหตุเพราะตัณหาความทะยานอยาก เป็นฟันเฟื่องสำคัญทำหน้าที่ครอบงำจิตมนุษย์ให้ได้กลับมาเกิดในภพชาติต่อๆ ไป
ส่วนจะได้เกิดเป็นอะไรก็ขึ้นอยู่กับอำนาจของกรรมที่ตนเองกระทำ อันมีเหตุมาจากความทะยานอยากของตนนั้นเอง
วันนี้ขออธิบายขยายความเหตุการณ์พฤติกรรมและพระพุทธธรรมที่เกี่ยวกับท่านปิงคิยะ เอาไว้แต่เพียงแค่นี้
พุทธะอิสระ
——————————————–