ถามมา ตอบไป

0
16
ถามมา ตอบไป
๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๔
ถาม:
วิธีเอาชนะอารมณ์ศรัทธาจริต ในพระพุทธศาสนากล่าวไว้อย่างไร ?
ตอบ:
ก่อนที่จะรู้วิธีเอาชนะ เราต้องมาทำความรู้จักเข้าใจในอารมณ์ศรัทธาจริตให้แจ่มชัดเสียก่อน
ผู้ที่มีอารมณ์ความศรัทธาเป็นใหญ่ มันจะมีความรู้สึกอ่อนไหว ในทุกสิ่งที่ตนเชื่อ ยิ่งหากมีโมหะความหลง เข้าร่วมด้วย ความเชื่อ ความศรัทธานั้นจะยิ่งกลายเป็นความลุ่มหลง งมงาย จนขาดวิจารณญาณในการแยกแยะว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด เช่นนี้อาจทำให้เชื่อจนงมงายไร้เหตุผล
เหมือนดังพวกภิกษุไปกราบ ‘จิ๊กเขียวปาราชิก’ อยู่ในปัจจุบันนี่แหละ
แต่ถ้าเมื่อใดที่ศรัทธาจริตอยู่ใกล้กับพุทธจริต อารมณ์ความเชื่อนั้นก็จะเป็นคุณแก่ผู้ศรัทธา
วิธีแก้อารมณ์ศรัทธาจริต ควรฝึกตนให้เป็นคนขี้สงสัย และขยันตั้งข้อสังเกตุต่อทุกเรื่องที่จะเชื่อ จงพยายามฝึกตนให้เป็นคนเชื่ออะไรด้วยการใช้สติปัญญา พิจารณาใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วน พร้อมทั้งเจริญกรรมฐานในข้ออนุสติ ๖ อันได้แก่
๑. น้อมจิตระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระบริสุทธิคุณ ๙ ประการ คือ
– ทรงเป็นพระอรหันต์ ประกอบด้วยคุณควรที่จะรับสักการะ
– ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ดีตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ทั้งยังทรงสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ตามได้ด้วย
– ทรงไพบูลย์ด้วยวิชาความรู้ จรณะความประพฤติ
– ทรงเสด็จไปแล้วด้วยดี
– ทรงรู้แจ้งโลก เพราะทรงพระสัพพัญญุตญาณ รู้แจ้งจบทั้งสังขารโลก และโอกาสโลก
– ทรงเป็นสารถี ฝึกบุรุษผู้สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
– ทรงเป็นบรมครู เทพยดา และหมู่มนุษย์ทั้งหลาย
– พระองค์เป็นผู้ตรัสรู้แล้วเต็มที่ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม
– พระองค์ทรงเป็นผู้มีความจำเริญจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์
๒. น้อมจิตระลึกถึงคุณแห่งพระธรรมที่เป็นเครื่องล้าง เครื่องชำระปัญหา และอุปสรรค และความทุกข์ทั้งปวง คุณของพระธรรมคุณมี ๖ ประการ ดังนี้
– สวากขาโต ภควตา ธัมโม หมายถึง ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วด้วยพระปัญญาอันบริสุทธิ์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ทรงประกาศพรหมจรรย์หรือหลักการครองชีวิตอันประเสริฐ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
– สันทิฏฐิโก ผู้ใดปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง
– อกาลิโก หมายถึง ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา
– เอหิปัสสิโก เป็นสิ่งที่ควรเรียกให้มาดู พระธรรมเป็นคุณอันประเสริฐ
– โอปนยิโก หมายถึง ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว
– ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ หมายถึง อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ผลอันเกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้น ทุกคนที่น้อมนำมาปฏิบัติ จะรู้ซึ้งถึงผลแห่งพระธรรมนั้นด้วยตนเอง ทำให้กันไม่ได้ เอาจากกันไม่ได้ และรู้ได้ประจักษ์ในใจของตนเอง
๓. น้อมจิตระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ผู้ทรงจำ ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย อันพระบรมศาสดาทรงตรัสรู้ไว้ดีแล้ว ทั้งยังลงมือปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัยนั้นอย่างถูกต้อง แล้วนำเอาพระธรรมวินัยนั้นมาเผยแพร่ให้หมู่สัตว์ ผู้จมทุกข์ให้ปฏิบัติตามได้ คุณของพระสงฆ์มี ๙ ประการ เรียกว่า “สังฆคุณ” คือ
– สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ แปลว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว หมายถึง พระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติตามทางสายกลาง (มัชฌิมปฏิปทา) ไม่หย่อนนัก ไม่ตึงนัก ปฏิบัติไม่ถอยหลัง ปฏิบัติกลมเกลียวกับพระศาสนดา ไม่ปฏิบัติเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
– อุชุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ แปลว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติตรง หมายถึง ไม่ปฏิบัติเป็นคนลวงโลก ไม่มีมายาสาไถย ปฏิบัติมุ่งตรงต่อข้อปฏิบัติอันยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน ปฏิบัติตรงต่อพระศาสดา และเพื่อนพระสาวกด้วยกัน ไม่มีข้อลี้ลับที่จะปิดบังอำพรางไว้ในใจ
– ญายะปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ แปลว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง หมายถึง ปฏิบัติไม่ผิดเพี้ยนไปจากหลักคำสอนของพระศาสดา ไม่ผิดไปจากธรรมเนียมอันดีงาม ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบแบบแผน
– สามีจิปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ แปลว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติสมควร หมายถึง สมควรที่จะได้รับความเคารพนับถือ เป็นผู้ปฏิบัติในศีลสังวร ปฏิบัติตนให้เป็นผู้ตื่นอยู่
– อาหุเนยโย เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ได้รับการแสดงความเคารพด้วยเครื่องสักการะเนื่องในเทศกาลต่างๆ
– ปาหุเนยโย พระสงฆ์สาวกเป็นผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทาง และเป็นผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว ไม่ว่าท่านจะโคจรไปสู่ที่ใด ย่อมยังประโยชน์สุขและประโยชน์เกื้อกูลให้เกิด ณ ที่นั้น ผู้เลื่อมใสจึงเปิดประตูบ้านต้อนรับด้วยความปีติ ที่ได้พบเห็นอันถือเป็นมงคลในชีวิตอย่างหนึ่ง
– ทักขิเณยฺโย พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้บริสุทธิ์ สมควรที่จะได้รับของบริจาคทาน (ทักษิณาทาน) และจะต้องได้รับผลดีอย่างแน่นอน
– อัญชลิกรณี พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เป็นผู้บริสุทธิ์ ย่อมตั้งอยู่ในฐานะที่ควรแก่กระทำอัญชลีคือการกราบไหว้ให้ความเคารพ ยกย่อง
– อนุตฺตรัง ปุญฺญักเขตฺตัง โลกัสส เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นยิ่งกว่า
๔. น้อมจิตระลึกถึงคุณของศีล ว่าผู้ใดที่ปฏิบัติตามจักส่งผลให้มีสุขคติ โภคะทรัพย์และบรรลุธรรมขั้นสูงสุดได้ แม้ขณะที่ปฏิบัติในศีลนั้น ก็สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติและสังคมเป็นปกติสุขได้
๕. ระลึกถึงคุณแห่งการให้ การเสียสละ การบริจาค ว่ามันสามารถทำให้ความคับแค้น ความเห็นแก่ตัวที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกผู้ทุกนายลดน้อยถดถอยลง ทั้งยังทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้นอีกมาก
๖. น้อมระลึกถึงคุณของเทวดาว่ามีคุณ คือ หิริ ละอายชั่ว โอตตัปปะ เกรงกลัวต่อบาป
กรรมฐานหรืออนุสติทั้ง ๖ นี้ คือ เครื่องคุณที่ควรระลึกอยู่ต่อเนื่องเนืองๆ เพื่อแก้อารมณ์ศรัทธาแบบผิดๆ ให้ถูกต้อง
โปรดติดตามตอนต่อไป
พุทธะอิสระ