ถามมา ตอบไป
๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๔
ถาม:
เห็นข่าวท่านมหาสมปอง ออกมาไลฟ์สดพร้อมเสียงสะอึกสะอื้นว่าตนจะโดนจับสึก จึงอยากจะทราบว่า มหาสมปองทำผิดอะไร ผู้ปกครองจึงจะมาจับสึก ?
ตอบ:
ทำไมคุณไม่ไปถามคนที่จะสั่งให้จับสึกล่ะ มาถามฉัน แล้วฉันจะรู้ไหม
แต่ถ้าจะให้ฉันวิเคราะห์ดูจากพฤติกรรมของมหาสมปองกับมหาไพรวัลย์ แล้วไปเทียบดูกับหลักพระธรรมวินัย คงจะต้องชี้แจงให้ผู้ถามได้ทราบว่า มหาทั้งสองรูปมีพฤติกรรมที่ละเมิดพระธรรมวินัย เป็นอาบัติอย่างไร
‘พูดตลกคะนอง’
พระพุทธองค์ห้ามพระพูดตลกคะนองและพูดเรื่องชาวบ้าน ห้ามพูดเดรัจฉานกถา เช่น พูดเรื่องทางโลก เป็นต้น และในพระวินัยมหาวิภังค์ ตรัสไว้ว่า (อรรถกถา เสขิยกัณฑ์ วรรคที่ ๖) ภิกษุไม่พึงเปล่งคำตลกคะนอง ปรารภพระรัตนตรัยโดยปริยายใดๆ
‘โฆษณาสรรพคุณให้อย่างเลิศเลอไม่กระดากปาก’
ทั้งๆ ที่ฐานานุรูปของตนนั้นเป็นถึงสมณะหรือเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา เป็นสาวกขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงอนุญาตให้เป็นตัวแทนของพระองค์ในการเผยแผ่หลักธรรม อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์ หาใช่ทำตนเป็นสาวกของบริษัทเอกชนที่มุ่งแสวงหากำไรและผลประโยชน์เป็นอาจิณไม่ การกระทำดังกล่าวเป็นโลกวัชชะ ที่ย่อมถูกสังคมติเตียน และอาจต้องอธิกรณ์เข้าข่ายอวดอุตริมนุสธรรม
‘ยอมรับไปเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ให้กับสโมสรฟุตบอลซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเอกชน’
เพื่อหวังสร้างภาพลักษณ์ทำการตลาดสร้างกำไรให้กับสโมสร
อาบัติสังฆาทิเสสข้อที่ ๑๓ คือ ทำตัวเป็นเหมือนคนรับใช้ ยอมตนให้คฤหัสถ์ใช้สอย ประจบคฤหัสถ์ เป็นต้น
‘รองเท้ายี่ห้อดังมีราคาแพง ทำนองโปรโมตสินค้า ซึ่งดูแล้วไม่แตกต่างไปจากดาราดังรับจ้างโฆษณาสินค้า จะต่างกันก็เพียงเพศภาวะเท่านั้น’
ถ้าภิกษุ ๒ รูปนี้นำไปใช้ก็เข้าข่ายผิดพระวินัยที่ห้าม ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ หมวดว่าด้วยหนังสือหรือจัมมขันธกะความว่า
“ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้รองเท้าสีต่างๆ มีผู้ติเตียนจึงทรงห้ามใช้ เธอใช้หูรองเท้า (ประกอบรองเท้าคีบ) สีต่างๆ มีผู้ติเตียน ก็ทรงห้ามอีก เธอยักย้ายไปใช้รองเท้าลักษณะต่างๆ เช่น รองเท้าปิดส้น ปิดหลังเท้า และรองเท้าสวยงาม ประดับประดาต่างๆ ซึ่งคฤหัสถ์นิยมใช้กัน ก็ทรงห้ามทั้งหมด นอกจากนั้น ยังทรงห้ามรองเท้าที่ทำด้วยหนังสัตว์ ซึ่งคฤหัสถ์ในสมัยนั้นใช้กันเช่น รองเท้าทำด้วยหนังราชสีห์ เสือโคร่ง และอูฐ เป็นต้น”
‘การรับเงินค่าตอบแทนวิทยากร’
พระวินัยปิฎก ในพระมหาวิภังค์ ตรัสไว้ว่า “อนึ่ง ภิกษุใด รับ ก็ดี ให้รับ ก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือ ยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์” อันถือเป็นอาบัติ เป็นโลกวัชชะ หรือการกระทำที่ทำให้ชาวโลกติเตียนได้
นี่ยังไม่นับรวมถึงพฤติกรรมที่เข้าไปสู่สถานที่ที่ภิกษุไม่ควรไป เรียกที่เช่นนั้นว่า อโคจร เช่น ไปดูเขาแข่งกีฬาฟุตบอล หรือไม่เดินช้อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั้งสถานที่บันเทิงเริงรมย์ต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสถานที่ต้องห้าม สำหรับสมณะชาวศากยะทั้งสิ้น
เมื่อภิกษุใดละเมิดข้อห้ามดังกล่าวอยู่เป็นอาจิน ก็จักเข้าข่ายที่บัญญัติไว้ในกฎนิคหกรรมและการสละสมณเพศ มาตรา ๒๗
มาตรา ๒๗ : พระภิกษุรูปใดต้องคำวินิจฉัยให้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก ไม่ยอมรับนิคหกรรมหรือประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิน หรือไม่สังกัดอยู่ในวัดหนึ่งกับทั้งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มหาเถรสมาคมมีอำนาจวินิจฉัยและมีคำสั่งให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้
พระภิกษุผู้ต้องคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศตามความในวรรคก่อน ต้องสึกภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัยนั้น
ทั้งหมดนี้คือพฤติกรรมที่ พุทธะอิสระ และสังคม สังเกตเห็นและรับรู้ได้ ส่วนจะมีผลให้เกิดคำวินิจฉัยถึงให้สึกหรือไม่นั้น
ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของผู้ปกครองสงฆ์
ถ้าเป็นพุทธะอิสระ พฤติกรรมประจบคฤหัสถ์ ทำตนเป็นผู้รับใช้คฤหัสถ์ เช่นนี้ถือว่าเป็นการทำลายตระกูลสงฆ์
ขึ้นอยู่กับพระผู้ปกครองจะพิจารณา และมองเห็นปัญหาดังกล่าวเหล่านี้หรือไม่
พุทธะอิสระ