ฝนมาแล้ว สงฆ์ต้องอยู่ประจำที่

0
115

หลังจากวันอาสาฬหปุรณมี ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ ผ่านไป
รุ่งขึ้นเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ จะเป็นวันที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางระเบียบการจำพรรษาของพระภิกษุสมณศากยวงศ์เอาไว้ว่า
เป็นวันเข้าพรรษาต้น เรียก ปุริมิกา
หลังจากวันอาสาฬหปุรณมีผ่านพ้นไปแล้ว ๑ วัน
ภิกษุทั้งหลายยังเดินทางไม่ถึงอาวาสที่จะอยู่จำพรรษา หรือยังไม่มีอาวาสที่จะอยู่จำพรรษา
องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุนั้นจำพรรษาหลังจากวันอาสาฬหปุรณมีไปแล้ว ๑ เดือนได้ เรียกว่าการจำพรรษาหลัง หรือปัจฉิมิกา
ทั้งการจำพรรษาต้น หรือการจำพรรษาหลัง ล้วนต้องจำพรรษาให้ครบเวลา ๓ เดือน
องค์พระบรมศาสดาทรงปรับอาบัติทุกกฎแก่ภิกษุผู้ไม่จำพรรษาในช่วงฤดูฝนเอาไว้ด้วย
อีกทั้งยังทรงอนุญาตให้พระภิกษุเดินทางออกจากอาวาสที่จำพรรษาอยู่ได้ไม่เกิน ๗ วัน ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น ๔ อย่างคือ
๑. ไปเพื่อพยาบาลเพื่อนสหธรรมิก หรือพยาบาลบิดามารดา
๒. ไปเพื่อห้ามปราบเพื่อนภิกษุที่มีความกระสันต้องการจะลาสิกขา
๓. ไปเพื่อกิจของสงฆ์
๔. ไปเพื่อบำรุงศรัทธาของทายก ทายิกา ผู้มานิมนต์ และมีภารธุระอื่นๆ ที่จำเป็น
การที่ภิกษุจะออกจากอาวาสในช่วงฤดูจำพรรษาต้องแจ้งธุระและความต้องการของตนแก่หมู่สงฆ์ พร้อมแจ้งวันไปและวันกลับ แต่ต้องไม่เกิน ๗ วัน
การที่หมู่สงฆ์มาอยู่รวมกันในอาวาสทำให้เกิดธรรมเนียมปฏิบัติทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายทายก ทายิกา
เช่น ธรรมเนียมถวายผ้าวัสสิกสาฎกหรือผ้าอาบน้ำฝน ซึ่งเป็นพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์สามารถรับผ้านอกจากไตรจีวรได้เฉพาะในช่วงฤดูฝน พอสิ้นฤดูฝนแล้วผ้านั้นใช้ไม่ได้
หากจะใช้ต้องสละให้เป็นของกลางเสียก่อน เรียกผ้านี้ว่าบริขารโจร คือภิกษุรูปอื่นๆ ก็สามารถหยิบฉวยมาใช้ได้ตามความจำเป็น
ที่เป็นเช่นนี้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุสะสม อันจะนำมาซึ่งการพอกพูนกิเลสอาสวะ
ด้วยธรรมเนียมนี้ ทายกทายิกาจึงเข้ามามีส่วนร่วมด้วยการเป็นผู้หาผ้าอาบน้ำฝนนั้นมาถวาย
ซึ่งผ้านั้นตามพุทธบัญญัติทรงกำหนดความกว้างความยาวเอาไว้ คือ ๖ คืบพระสุคต กว้าง ๒ คืบครึ่ง ตามมาตราปัจจุบันคือ ยาว ๔ ศอก ๓ กระเบียด กว้าง ๑ ศอก ๑ คืบ ๔ นิ้ว ๑ กระเบียดเศษ
เมื่อมีพุทธานุญาตให้ภิกษุสามารถรับผ้าอาบน้ำฝนจากทายกทายิกาได้
พวกทายกทั้งหลายจึงคิดถวายสิ่งของอื่นๆ ที่จำเป็นต่อสมณสารูป เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน กำยาน เป็นต้น
นอกจากการถวายสมณบริขารตามกำลังแล้ว
ทายกทายิกาก็พากันเข้าไปในอาวาสนั้นเพื่อรักษาศีล ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม เจริญภาวนาตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน
บางคนก็อธิษฐานเข้าพรรษาเหมือนกับพระภิกษุกับเขาด้วย
ด้วยมุ่งหวังจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงนิสัยแก้ไขพฤติกรรม ทำจิตให้ผ่องใส ทำกุศลให้เกิดกับใจ
เพื่อมุ่งหวังมรรคผลนิพพานตามกำลังของตน
ส่วนผู้ที่มิได้อธิษฐานพรรษาก็เลือกที่จะเข้าวัดฟังธรรม รักษาศีลเจริญภาวนา ถวายทาน เฉพาะวันโกน วันพระ ตามเหตุตามปัจจัย
บางพวกก็ตระเตรียมอาหารถวายพระบิณฑบาตอยู่หน้าบ้านของตนทุกเช้าจนกว่าจะออกพรรษา
รวมความว่า การเข้าพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ตามพุทธบัญญัติ แล้วยังเป็นการอนุเคราะห์สงเคราะห์ญาติโยมตามเหตุปัจจัยดังกล่าวมา
สรุปว่าเทศกาลเข้าพรรษา คือเทศกาลบำเพ็ญบุญกุศล สั่งสมบารมี อธิษฐานทำความดีทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ ตลอดเวลา ๓ เดือนจนกว่าจะปวารณาออกพรรษา
แล้วร่วมกันถวายผ้าพระกฐินทานสืบไปหลังจากออกพรรษา

พุทธะอิสระ