และแล้วมหาเถรก็ลอยตัว
๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙
วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มิ.ย. ๕๙ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่ผ่านมา
มีการประชุมมหาเถรสมาคม โดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม ได้นำเรื่องของธัมมชโยเข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรให้พิจารณาหารือ
ที่ประชุมมหาเถรมีความเห็นว่ากรณีคดีของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยมีธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ตกเป็นผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง ฟอกเงิน รับของโจรนั้น
ทางมหาเถรสมาคมมีความเห็นว่า “เป็นเรื่องส่วนบุคคล” ไม่ใช่เรื่องของวัดนะจ๊ะ
ดังนั้นจึงให้ปฏิบัติตามมติมส.ที่ ๖๕/๒๕๔๔ ให้คดีความต่างๆ ของภิกษุสงฆ์ อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะปกครองตามลำดับชั้น นับตั้งแต่เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส
และให้ทุกคดียุติแค่เจ้าคณะหน
เพราะเช่นนี้แหละ พุทธะอิสระจึงไปยื่นหนังสือให้เจ้าคณะภาค เจ้าคณะหนปลดเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีออกจากตำแหน่งเหตุเพราะไม่ทำหน้าที่อย่างซื่อตรง ถือว่าชอบด้วยพระธรรมวินัย ชอบด้วยกฎหมายและมติมหาเถรสมาคมปี ๔๔ แล้ว (ครั้งที่ ๔/๒๕๔๔ มติที่ ๖๕/๒๕๔๔ เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เรื่อง การปฎิบัติตามอำนาจหน้าที่)
แต่ที่ไม่ยื่นเรื่องให้ปลดเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต่อเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล ก็เพราะว่าสมณศักดิ์ของเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล ยังต่ำกว่าเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จึงคงไม่สามารถทำการลงโทษว่ากล่าวตักเตือนแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่มียศสูงกว่าตนได้
แต่สำหรับเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี มีสมณศักดิ์ที่พระเทพรัตนสุธี แต่ละเว้นไม่ทำหน้าที่ผู้ปกครองที่ดี
จึงสมควรจะถูกปลดออกจากตำแหน่งเพราะละเมิดมติมหาเถรสมาคมปี ๔๔ และกฎหมายปกครองคณะสงฆ์อย่างชัดเจน
ส่วนเรื่องที่พุทธะอิสระไปยื่นเรื่องให้เจ้าคณะภาค ๑ วัดชนะสงครามและเจ้าคณะใหญ่หนกลาง วัดพิชยญาติการามให้สอบอธิกรณ์ ข้อกล่าวหาธัมมชโยเป็นปาราชิก ๒ สิกขาบท คือ ยักยอกทรัพย์เกิน ๕ มาสก ในกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ต้องอาบัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๓
และอวดอุตริมนุสธรรมกรณีสตีฟ จ๊อบ ในปาราชิกสิกขาบทที่ ๔
รวมทั้งมีพฤติกรรมจาบจ้วงย่ำยีพระธรรมวินัย บิดเบือนคำสอน บัญญัติในสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้บัญญัติ กล่าวตู่พระพุทธเจ้า
ความผิดเหล่านี้ พุทธะอิสระได้นำหลักฐานและสำนวนคำร้องทุกข์กล่าวโทษไปยื่นให้เจ้าคณะภาค ๑ เจ้าคณะใหญ่หนกลางไว้พิจารณาสอบสวนแล้ว
มาดูกันว่าเจ้าคณะปกครองทั้งหลายจะทำตามมติมหาเถรสมาคมเมื่อปี ๔๔ หรือไม่
พวกเราพุทธบริษัทผู้พระธรรมวินัยและความถูกต้องจะคอยดูว่า เจ้าคณะปกครองจะเลือกคนหรือเลือกพระธรรมวินัย
พุทธะอิสระ
(อ้างอิงมติมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๔/๒๕๔๔ มติที่ ๖๕/๒๕๔๔ เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เรื่อง การปฎิบัติตามอำนาจหน้าที่ “มีมติให้เจ้าคณะใหญ่ทุกหนปฎิบัติพร้อมกับเจ้าคณะทุกระดับ ทุกกรณี ให้เป็นที่ยุติในเขตปกครองแต่ละหน”)