บทความ
สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ดีชั่วเลวหยาบ
๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
ดีเอสไอชี้มูลความผิดคดีรถหรูสมเด็จช่วงแห่งวัดปากน้ำ กรรมการมหาเถรสมาคม หัวหน้าผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช
ว่าเป็นรถที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผิดกฎหมายอาญา
“ดีเอสไอ” แถลงการณ์กรณีตรวจสอบรถหรูสมเด็จช่วง ทั้ง ๔ ขั้นตอน
(๑) การนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์
(๒) การประกอบชิ้นส่วนขึ้นเป็นรถสมบูรณ์
(๓) การชำระภาษีสรรพสามิต
(๔) การจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก
ชี้ปลอมแปลงหลายจุด ผิดกฎหมายในทุกขั้นตอน
อ่านรายละเอียดได้ที่
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/687423
____________________________
หากจะมองในมุมของกฎหมาย คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามหลักฐาน
แต่ถ้ามองในมุมพระธรรมวินัย แม้ดีเอสไอจะยังไม่แถลงว่าใครผิดบ้าง
แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้สมเด็จช่วงและบริวารต่างรู้แล้วว่า รถเป็นของโจร ผิดกฎหมาย
หากยังดื้อรั้นดันทุรังที่จะถือครองไว้
ถือว่าพฤติกรมส่อเจตนา เป็นการละเมิดอาบัติร้ายแรงถึงขั้นปาราชิก
ด้วยเพราะพระวินัยปาราชิกสิกขาบทที่ ๒
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑
มหาวิภังค์ ภาค ๑
[๑๕๒] ๓. ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไกลไปกับพวกเกวียน บุรุษคนหนึ่งเกลี้ยกล่อม ภิกษุนั้นด้วยอามิสแล้ว เห็นด่านภาษี จึงส่งแก้วมณีซึ่งมีราคามากให้แก่ภิกษุนั้น ด้วยขอร้องว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงช่วยนำแก้วมณีนี้ผ่านด่านภาษีด้วย จึงภิกษุนั้นนำแก้วมณีนั้นให้ผ่านด่านภาษีไปแล้ว ได้มีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้ว กระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว.
สุงกฆาตวิภาค
[๑๑๐] ที่ชื่อว่า ด่านภาษี ได้แก่สถานที่ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งไว้ที่ภูเขาขาดบ้าง ที่ท่าน้ำบ้าง ที่ประตูบ้านบ้าง ด้วยทรงกำหนดว่า จงเก็บภาษีแก่บุคคลผู้ผ่านเข้าไปในสถานที่นั้น
ภิกษุผ่านเข้าไปในด่านภาษีนั้น แล้วมีไถยจิตจับต้องทรัพย์ที่ควรเสียภาษี ซึ่งมีราคา ๕ มาสกก็ดี เกินกว่า ๕ มาสกก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ย่างเท้าก้าวที่ ๑ ล่วงด่านภาษีไป ต้องอาบัติถุลลัจจัย ย่างเท้าก้าวที่ ๒ ล่วงด่านภาษีไป ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุยืนอยู่ภายในด่านภาษี โยนทรัพย์ให้ตกนอกด่านภาษี ต้องอาบัติปาราชิก หลบเลี่ยงภาษี ต้องอาบัติทุกกฏ
ทีนี้ก็ต้องหันไปถามสมเด็จช่วงว่า รู้เห็นถึงขบวนการนำเข้ารถคันนี้มาหรือไม่ หากรู้แล้วยินดี ก็หนีไม่พ้นอาบัติปาราชิก
หากไม่รู้แล้วไม่ยินดี พร้อมมอบคืนให้ เรื่องก็จบ
แต่ถ้ารู้แล้ว แล้วทำเฉย ถือว่าพฤติกรรมส่อเจตนา ปรับอาบัติตามราคาทรัพย์นั้น
แต่ถ้าจะมองในประเด็นครอบครองสิ่งผิดกฎหมาย ผู้ครอบครองอาจมีความผิดตาม พรบ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ทวิ ฐานการรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากร มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งปรับทั้งจำ
พุทธะอิสระ