บทความ
ลงพื้นที่ ทำดีเพื่อพ่อกันอีกที (ตอน ๓)
๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
เช้าวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ เวลาตี ๔ ครึ่ง ฉันตื่นนอนมาด้วยความเปลี้ยอ่อนเพลียอย่างมากๆ อาจเป็นเพราะเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางจากกำแพงเพชรมาเชียงใหม่ อีกทั้งยังฉันอาหารไม่ค่อยจะได้ พอเช้าขึ้นมาก็เริ่มรู้สึกแสบท้อง หมดเรี่ยวแรง หนำซ้ำยังรู้สึกไข้ขึ้นอีก จึงหาน้ำดื่มไปหนึ่งขวด แล้วเริ่มค้นหาเหตุของการเป็นไข้ จึงรู้ว่าไข้เกิดจากช่องท้องอักเสบ อาจเป็นเพราะใช้ร่างกายนี้มากเกินกว่าที่มันจะรับได้ จึงทำให้กล้ามเนื้อต่างๆ เปรี้ย อ่อนแรง
เช้านี้หากจะเจริญสติออกกำลังกายในท่าสมาธิพระโพธิสตัว์คงจะไม่ได้ ร่างกายคงรับไม่ไหว นอกจากจะไม่เป็นคุณแก่ร่างกาย ยังอาจเกิดโทษต่อร่างกายและระบบประสาทต่างๆ อีกด้วย
วันนี้คงทำได้แค่การเจริญอิริยาบถบรรพและลมเจ็ดฐานเท่านั้น โดยมีอากาศดีๆ เป็นปัจจัยสนับสนุนเพื่อการเยียวยาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
หลังจากการเจริญสติประจำวันยามเช้าแล้ว ทำให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า จนถึง ๖ โมงเช้า อาการไข้ทางกายเริ่มทุเลาลง ต้องรีบกระวีกระวาดทำภารกิจประจำวัน เพราะ ๙ โมงเช้าจะมีผู้มาพบ โดยนัดท่านนายก อบต.แม่วิน และชาวบ้านผู้มีฐานะยากจน ไม่มีที่ทำกิน ทั้งหมด ๑๘ ครอบครัวมาพบ
ฉันสั่งให้เจ้าเฟิร์สตระเตรียมข้าวสาร น้ำมันพืช และน้ำตาลทรายเอาไว้ ๑๘ ชุด เพื่อแจกแก่ชาวบ้าน พร้อมทั้งแนะนำแก่ชาวบ้านให้รวมตัวกันตั้งเป็นองค์กรสหกรณ์ จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ฉันจะจัดหาแม่วัวให้แก่กลุ่มๆ ละ ๕-๑๐ ตัว ผลัดเวรกันเลี้ยง ๑ ปี เพื่อให้ได้ลูกวัว แล้วส่งมอบคืนแม่วัวกลับมาเพื่อนำไปมอบให้กลุ่มอื่นๆ ต่อไป พวกเขาจะได้มีรายได้ อีกทั้งเป็นการสร้างสามัคคีในกลุ่ม
ส่วนปัญหาที่ดินทำกิน ฉันยินดีให้ประชาชนที่รวมกลุ่มกันเข้าไปใช้พื้นที่ที่ฉันปลูกป่าเอาไว้หลายแปลง ที่ยังมิได้ยกให้แก่กรมป่าไม้ ซึ่งต้องรอให้ต้นไม้ยืนต้นเติบโต คงต้องใช้เวลาอีก ๔-๕ ปี เช่นนี้ชาวบ้านก็สามารถเข้าไปทำกิน ปลูกพืชผักสวนครัว ถั่วแระ มันเทศ มันฝรั่ง ได้สบายๆ อย่างน้อย ๒-๓ ปี กว่าต้นไม้เนื้อแข็งจะเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาจนทำกินไม่ได้
ซึ่งฉันก็ได้ลงทุนจ้างให้ชาวบ้านมาขุดเป็นขั้นบันได เพื่อใช้ปลูกชา ปลูกพริกไทย ปลูกดีปลี ทางบริษัทพฤกชเวชจะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตชาวบ้าน หากสามารถรวมตัวกันแล้วจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ชาสมุนไพร ผลประโยชน์ที่ผลิตได้ก็จะตกเป็นของชาวบ้านหลังจากหักต้นทุนออกแล้ว
เหตุที่ขอให้ชาวบ้านรวมตัวกันจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ ก็เพราะพวกเขาจะสามารถไปเจรจาขอใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม โดยอาสาเข้าไปช่วยปลูกป่าพร้อมกับการปลูกพืชผักสมุนไพรในขณะที่ต้นไม้ป่ายังไม่โต อย่างน้อยๆ ก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๕-๖ ปี แล้วจึงส่งพื้นที่คืนให้ป่าไม้
ส่วนจะปลูกต้นไม้ป่ากี่ต้นต่อ ๑ ไร่ กรมป่าไม้เป็นผู้กำหนด และทำสัญญากับชาวบ้าน โดยชาวบ้านต้องช่วยดูแลรับผิดชอบต้นไม้ทุกต้น
เช่นนี้ ชาวบ้านกับป่าก็จะอยู่ร่วมกันได้ ทั้งยังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ยากไร้ได้อีกตะหาก
เรียกได้ว่า ได้ทั้งป่า ได้ทั้งคน
ตอนบ่าย ท่านนายกเทศมนตรีแม่วาง คุณไตรลักษณ์ พีรยุทธรางกูล นายก อบต.แม่วิน คุณเกศริน ตุ่นแก้ว พร้อมนายช่าง อบต.คุณเจษดาบัน ธรรมสุ และหัวหน้าสำนักงานปลัด อบต. พร้อมเลขาท่านนายกเทศมนตรี
ทั้งหมดมาขอพบเพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องการขุดลอกลำน้ำแม่วินและลำน้ำแม่เปรียง ทั้ง ๒ ลำน้ำนี้ติดต่อกัน ไม่เคยได้รับการขุดลอกมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว จึงมีสภาพตื้นเขิน
พอถึงฤดูน้ำหลาก น้ำก็เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ทำเกษตรของชาวบ้านจนได้รับความเสียหาย บ้าน วัด โรงเรียน ต่างก็โดนน้ำป่าท่วม มีผู้ได้รับความเดือดร้อนถึง ๓ หมู่บ้าน ๔๐๐ กว่าครัวเรือน
พวกชาวบ้านจึงประชุมกันลงมติให้มีการขุดลอก แต่ยังติดขัดที่งบประมาณไม่เพียงพอ พวกเขาจึงมาขอความช่วยเหลือ
ฉันจึงรับปากว่าจะลงพื้นที่ไปสำรวจลำน้ำและความเดือดร้อน ว่าสามารถจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เอาไว้วันพรุ่งนี้จะมาเล่าให้ฟัง
พุทธะอิสระ