บทความ
สู้มา ๒ ปี แผ่นดินนี้ได้อะไร
๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
ทำความจริงที่เกิดขึ้นในสังฆมณฑลให้ปรากฏ เพื่อให้สังคมได้รับรู้
ทำให้สังคมได้รับรู้ถึงความจริงที่ว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงใช้สิทธิตามพระวินัยทรงโจทก์ ภิกษุธมฺมชโย ว่าเป็นผู้ต้องอาบัติปาราชิก ด้วยข้อหาฉ้อโกงเงินวัดธรรมกายจำนวน ๙๕๙,๓๐๐,๐๐๐ บาท และมีชื่อครอบครองที่ดินกว่า ๔๐๐ แปลง จำนวนกว่า ๒,๐๐๐ ไร่ และอวดอุตริมนุสธรรม เพื่อหวังลาภสักการะ ทรงโจทก์ท่ามกลางมหาเถระสมาคม
หากว่ากันตามพระวินัย หมู่สงฆ์ผู้รับรู้เรื่องจะต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาไต่สวน หรือไม่ก็สั่งการให้เจ้าคณะปกครองไต่สวน หาความจริงและลงโทษ
แต่ด้วยมิจฉาทิฐิของมหาเถรฯ และเจ้าคณะปกครอง เห็นบุคคลและนิกายใหญ่กว่าพระธรรมวินัย เลยพยายามปกป้องธมฺมชโย ผู้เป็นนิกายเดียวกัน โดยไม่สนใจว่าธมฺมชโย ต้องอาบัติปาราชิก
ทั้งที่พระองค์ปกครองโดยมิได้ทรงแยกแยะว่าใครเป็นธรรมยุต ใครเป็นมหานิกาย
เมื่อทรงใช้สิทธิตามพระวินัยแล้ว กลับไม่ได้รับการตอบสนองจึงทรงใช้อำนาจของสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ซึ่งมีอำนาจบัญชาการคณะสงฆ์ทุกฝ่าย ทุกนิกาย ประทานคำวินิจฉัยลงโทษให้คืนเงินและจับพระธมฺมชโยสึก
มหาเถรฯ เลือกที่จะให้คืนเงิน แต่ไม่ยอมจับสึก จนเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ต้องทรงคว่ำบาตร ด้วยการไม่ทรงร่วมประชุมมหาเถรสมาคมด้วย ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จนถึงทรงประชวรและสิ้นพระชนม์
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๔ ทรงเสด็จมาปรารภถึงปัญหาคณะสงฆ์ และทรงขอให้ช่วยหาวิธีจัดการกับอลัชชีตนนี้ เพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของพระธรรมวินัยสืบไป
ซึ่งในเวลานั้น ฉันต้องขอสารภาพว่า ไม่ได้เคยรับรู้เรื่องราวของธรรมกายและเจ้าสำนักธรรมกายเสียด้วยซ้ำ
หลังจากที่เจ้าพระคุณสมเด็จได้ทรงปรารภถึงปัญหาของเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และทรงแสดงรายละเอียดให้ฉันได้รับรู้
จึงทำให้ฉันต้องหันมาศึกษา ตรวจสอบ ถึงพฤติกรรมของเจ้าสำนักธรรมกาย และสิ่งที่สำนักนี้สอน
จนได้รับรู้เรื่องราวความผิดปกติของเจ้าลัทธิธรรมกายที่ได้ย่ำยีพระธรรมวินัยอย่างเลวร้ายสุดจะรับได้
จึงเป็นที่มาของการตกปากรับคำทำงานให้เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช
ตัวอย่าง ความชั่วร้ายที่ธรรมกาย ย่ำยี ดูหมิ่นพระบรมศาสดา พระธรรมวินัย คือ คำสอนที่ว่า นิพพาน เป็นอัตตา ไม่ใช่อนัตตา ซึ่งคัดค้าน ต่อคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ทรงสอนเรื่องนิพพานเอาไว้ ๒ อย่าง คือ
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! นิพพานธาตุ มี ๒ อย่าง คือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ กับอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน ? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่พึงทำอันได้ทำเสร็จแล้ว วางภาระแล้ว มีประโยชน์ของตนอันได้บรรลุแล้วสิ้นเครื่องผูกพันในภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นยังมีอินทรีย์ ๕ ดำรงอยู่ เพราะเหตุที่อินทรีย์ ๕ ยังไม่หมดสิ้นไป จึงประสบสิ่งที่น่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้าง เสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ความสิ้นราคะ โทสะ โมหาของภิกษุนั้น เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน ? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่พึงทำอันได้ทำเสร็จแล้ว วางภาระแล้ว มีประโยชน์ของตนอันได้บรรลุแล้ว สิ้นเครื่องผูกพันในภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ การเสวยอารมณ์ทั้งปวงของภิกษุนั้น ดับสนิท นี้เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ”
พุทธะอิสระ