พิลารโกสิยชาดก ว่าด้วย ให้ทานไม่ได้เพราะเหตุ 2 อย่าง (ตอนที่ 1)

0
22

พิลารโกสิยชาดก ว่าด้วย ให้ทานไม่ได้เพราะเหตุ ๒ อย่าง (ตอนที่ ๑)
๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๗

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้มีทานเป็นเครื่องปลื้มใจรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนาดังนี้.

ภิกษุรูปนั้นฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว บวชในพระศาสนา จำเดิมแต่บวชแล้ว เป็นผู้มีทานเป็นเครื่องปลื้มใจ มีอัธยาศัยยินดีในการให้ทาน หากวันใดยังมิได้ให้บิณฑบาตที่ตกลงในบาตรแก่ผู้อื่นก่อนแล้วก็จะไม่ฉัน โดยที่สุดแม้แต่น้ำดื่ม หากยังยังมิได้ให้แก่ผู้อื่นแอนก็จักไม่ดื่ม ท่านเป็นผู้ยินดียิ่งในทานด้วยอาการอย่างนี้.

ครั้งนั้นภิกษุทั้งหลายพากันพรรณนาคุณของภิกษุรูปนั้นในธรรมสภา

พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันถึงเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว รับสั่งให้เรียกภิกษุนั้นมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอมีทานเป็นเครื่องปลื้มใจ มีอัธยาศัยยินดีในการให้ทาน จริงหรือ?

เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า

จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนภิกษุนี้ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส แม้แต่หยดน้ำมันก็ไม่เอาปลายหญ้าจุ่มสนิทให้ใคร คราวนั้นเราทรมานเขาทำให้หมดพยศ ให้ตั้งอยู่ในผลแห่งทาน แม้ในภพต่อๆ มา ก็ยังมิได้ละทานวัตรนั้น

ภิกษุทั้งหลายทูลอาราธนาให้ตรัสเรื่องราว ที่มีมาแล้วแต่อดีต จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ว่า

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลเศรษฐี เจริญวัยแล้วรวบรวมทรัพย์ไว้ได้มากมาย ครั้นบิดาล่วงลับไปก็ได้รับตำแหน่งเศรษฐีต่อ

วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ตรวจตราดูทรัพย์สมบัติแล้วคิดว่าทรัพย์นี้ยังปรากฏอยู่มากเพียงนี้ แต่ผู้ที่ทำให้ทรัพย์เกิดขึ้นไม่ปรากฏ เราควรสละทรัพย์นี้ให้ทานจึงจักชื่อว่า เป็นเจ้าของทานโดยสมบูรณ์ ให้สร้างโรงทานบำเพ็ญทานเป็นการใหญ่ตลอดชีวิต กาลเมื่อจะสิ้นอายุได้ให้โอวาทแก่บุตรไว้ว่า เจ้าอย่าได้ตัดการให้ทานนี้เสีย ครั้งพระโพธิสัตว์นั้นตายไปจึงได้ไปบังเกิดเป็นท้าวสักกะ ณ ดาวดึงส์พิภพ.

กาลต่อมาบุตรของโพธิสัตว์เศรษฐีนั้นก็ให้ทานเช่นนั้นเหมือนกัน แล้วกล่าวสอนบุตรของตนเช่นที่ทำมา ครั้นสิ้นอายุได้เกิดเป็นจันทเทพบุตร บุตรของเขาได้เกิดเป็นสุริยเทพบุตร บุตรของเขาได้เกิดเป็นมาตลีสังคาหกเทพบุตร บุตรของเขาได้เกิดเป็นคนธรรพ์เทพบุตร ชื่อปัญจสิขะ.

(รวมความแล้ววงวารของพระโพธิสัตว์ตลอด ๕ ชั่วคนได้บำเพ็ญทานวัตรมาตลอดชีวิต จึงได้ไปเกิดเป็นอธิบดีของเทพที่มีหน้าที่ต่างๆ)

แต่บุตรชั้นที่ ๖ เป็นคนไม่มีศรัทธา มีจิตกระด้างไม่รักการให้ทานเป็นคนตระหนี่ เขาให้คนรื้อโรงทานเผาเสียให้โบยตีพวกยาจกที่มารอเฝ้ารับทานอยู่ทุกวี่วัน จนพวกยากจนเหล่านั้นต่างพากันหนีหายไปสิ้น แม้หยาดน้ำผึ้งก็ไม่รินให้แก่ใครๆ แม้เพียงปลายหญ้าคา.

ในกาลครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชตรวจตราดูบุพกรรมของพระองค์ ใคร่ครวญว่าวงศ์ทานของเรายังอยู่ดีกันหรือไม่หนอ จึงทรงทราบว่า

บุตรของเราบำเพ็ญทานเกิดเป็นจันทเทพบุตร

บุตรของจันทเทพบุตรเกิดเป็นสุริยเทพบุตร

บุตรของสุริยเทพบุตรเกิดเป็นมาตลีเทพบุตร

บุตรของมาตลีเทพบุตรเกิดเป็นปัญจสิขเทพบุตร

แต่บุตรชั้นที่หกได้ตัดวงศ์ทานของเราให้ขาดสะบัดเสียแล้ว องค์ท้าวสักกเทวราชจึงได้ทรงมีพระดำริว่า เราจักทรมานลูกหลานเศรษฐีผู้มีใจลามกผู้นี้ให้รู้จักคุณของผลทานแล้ว จึงมีรับสั่งให้หาจันทสุริยมาตลีและปัญจสิขเทพบุตรชายทั้ง ๔ มาตรัสว่า

ดูก่อนสหาย เศรษฐีญาติของเจ้าคนที่ ๖ ได้ตัดสายทานกุศลของพวกเราให้ขาดสิ้นแล้ว ทั้งยังมีกิริยาโหดร้ายเผาทำลายโรงทาน ขับไล่ทุบตีพวกยาจกที่มารอรับทาน เป็นผู้มีอุปนิสัยตระหนี่ไปเสีย ไม่ให้อะไรแก่ใครๆ มาเถิดท่านทั้งหลาย พวกเราจักไปทรมานเศรษฐีผู้นั้น ตรัสดังนี้แล้วท้าวสักกเทวราช พร้อมบริวารทั้ง ๔ ได้เหาะลงมายังกรุงพาราณสีพร้อมกัน

ขณะนั้น เศรษฐีไปเฝ้าพระราชา ขณะเดินมาแล้วแลดูระหว่างถนนอยู่ที่ซุ้มประตูที่ ๗ ท้าวสักกะตรัสกะเทพบุตรทั้ง ๔ ว่า เวลาเราเข้าไปแล้ว ท่านทั้งหลายจงตามเข้าไปตามลำดับ ดังนี้แล้วแปลงกายเป็นพราหมณ์ไปยืนอยู่ในซุ้มประตูหน้าเรือนของเศรษฐี

พร้อมตรัสว่า ดูก่อนมหาเศรษฐีผู้เจริญ ท่านจงให้โภชนะแก่ข้าพเจ้าบ้างเถิด

เศรษฐีกล่าวว่า ท่านพราหมณ์ที่นี้ไม่มีภัตสำหรับท่าน ไปที่อื่นเถิด

ท้าวสักกะตรัสว่า ท่านมหาเศรษฐีผู้เจริญ เมื่อสมณพราหมณ์ทั้งหลายมาขอภัตจากท่าน ถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐที่ท่านควรให้มิใช่หรือ

เศรษฐีตอบว่า ท่านพราหมณ์ ภัตนี่หุงสุกแล้วก็ดี ที่จะพึงหุงก็ดี ไม่มีในเรือนของเรา ท่านจงไปขอที่อื่นเถิด.

ท้าวสักกะจำแลงตรัสว่า ท่านมหาเศรษฐี เราจักกล่าวสรรเสริญท่านอย่างหนึ่งท่านจงฟัง

เศรษฐีตอบว่า เราไม่ต้องการความสรรเสริญของท่าน ท่านจงไปเถิดอย่ายืนอยู่ที่นี้เลยเกะกะ
ท้าวสักกะทำเป็นไม่ได้ยินคำของเศรษฐี ได้ตรัสคาถา ๒ คาถาว่า :

สัตบุรุษทั้งหลายแม้ไม่หุงกินเอง ได้โภชนะมาแล้ว ก็ไม่ปรารถนาจะบริโภคผู้เดียว ท่านหุงโภชนะไว้มิใช่หรือ การที่ท่านไม่ให้นั้น เป็นการไม่สมควรแก่ท่านอย่างยิ่ง

บุคคลให้ทานไม่ได้ด้วยเหตุ ๒ อย่างนี้ คือความตระหนี่ ๑ ความประมาท ๑ บัณฑิตผู้รู้แจ้ง เมื่อต้องการผลบุญพึงให้ทานด้วยเมตตาโดยแท้.

เศรษฐีได้ฟังคำท้าวสักกะแล้วกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงเข้าไปนั่งที่เรือนเถิด อาจจะยังพอมีข้าวสุกขนมสดเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย ท่านอาจจักได้หน่อยหนึ่ง ท้าวสักกะได้เข้าไปนั่งสวดสรรเสริญอยู่ภายในอาสนะที่เศรษฐีจัดให้

ลำดับนั้น จันทเทพบุตรได้แปลงกายเป็นพราหมณ์เข้ามาขอภัตกะเศรษฐีนั้นและเมื่อเศรษฐีกล่าวว่า ภัตสำหรับท่านไม่มีจงไปเสียเถิด จึงกล่าวว่า ท่านมหาเศรษฐี พราหมณ์คนหนึ่งนั่งอยู่แล้วภายในเรือน เรายังได้ยินเสียงสวดพราหมณ์สรรเสริญท่านอยู่กระมัง เราจักเข้าไปสวดบ้าง

แม้เศรษฐีจะพยายามผลักไส กล่าวว่า ไม่มี ไม่มีเสียงสวดของพราหมณ์ใดๆ ทั้งนั้น ท่านจงออกไป

จันทเทพจำแลงจึงกล่าวว่า ท่านมหาเศรษฐี เชิญท่านฟังบทสรรเสริญของเราก่อน

แล้วกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :

คนผู้ตระหนี่กลัวความยากจน ย่อมไม่ให้อะไรๆ แก่ผู้ใดเลย ความกลัวจนนั่นแหละจะเป็นภัยแก่คนผู้ไม่รู้จักให้ คนตระหนี่ย่อมกลัวความอดอยากข้าวอยากน้ำ ความกลัวนั่นแหละจะกลับมาเป็นสมบัติของคนผู้นั้นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า.

เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงฟอกชำระมลทิน กำจัดความตระหนี่ด้วยการให้ทานเถิด เพราะผลบุญจากการให้ทานนั้นย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายทั้งในโลกนี้และโลกหน้า.

เศรษฐีได้ฟังคำของจันทเทพบุตรเช่นนั้นแล้วจึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเข้าไปนั่งรอรับข้าวสุกขนมสด อาจจะยังมีหลงเหลืออยู่บ้างเล็กน้อย ท่านอาจจักได้หน่อยหนึ่ง

จันทเทพบุตรจึงเข้าไปนั่งบนอาสนะใกล้กับท้าวสักกะ

กาลต่อมาสุริยเทพบุตรจำแลงเป็นพราหมณ์ ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปชั่วขณะหนึ่งแล้วจึงเข้ามายังเรือนของเศรษฐีเพื่อจะขอภัตพร้อมได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-

ทานที่ผู้ใดให้ได้ยาก ควรต้องกำจัดความตระหนี่เสียก่อนแล้วจึงให้ได้ การทำทานทั้งที่มีความตระหนี่อยู่ ย่อมทำได้ยากโดยแท้ อสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่ทำทานตามที่สัตบุรุษเขาทำกันเป็นนิจ ธรรมของสัตบุรุษคนพาลรับรู้ได้ยาก.

เพราะเหตุนั้น การละไปจากโลกนี้ของสัตบุรุษกับอสัตบุรุษจึงต่างกัน อสัตบุรุษย่อมไปสู่ทุคติภพ สัตบุรุษย่อมไปสู่สุคติภพ.

เมื่อได้ฟังคาถาของสุริยเทพจำแลงเช่นนั้น จึงคิดว่า เรามิได้ตระเตรียมสิ่งของที่จะบริจาคให้แก่สมณะ ชี พราหมณ์มาก่อน เห็นทีควรต้องเชิญสมณะผู้นี้เข้าไปรับข้าวสุกขนมสดภายในเรือนอีกคนเสียแล้ว

คิดเช่นนั้นแล้ว เศรษฐีจึงกล่าวว่า ท่านจงเข้าไปนั่งอยู่ในอาสนะใกล้ๆ กับพราหมณ์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าจักทำข้าวสุกขนมสดที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยมาถวายอาจจักได้หน่อยหนึ่ง.

ต่อแต่นั้นมาตลีเทพบุตรปล่อยให้เวลาล่วงไปชั่วขณะหนึ่งแล้วจึงแปลงกายเป็นสมณะ เข้ามายังเรือนของเศรษฐีเพื่อที่จะขอภัต

เศรษฐีเห็นเช่นนั้นจึง ได้กล่าวว่า อะไรกันนี่ วันนี้มันเป็นวันชุมนุมสมณะ ชี พราหมณ์หรือยังไง ทำไมถึงได้เข้ามาขอภัตกันหลายคนนัก

มาตลีเทพบุตรจำแลงจึงได้กล่าวคาถาที่ ๗ ว่า

บัณฑิตแม้อัตคัดขัดสน ก็ยังขวนขวายที่จักให้ทานแม้เพียงเล็กน้อย สัตว์บางพวกแม้มีไทยธรรมมากก็ให้ไม่ได้ ทักษิณาทานที่บุคคลให้จากของเล็กน้อย ด้วยจิตศรัทธา ก็นับว่าประเสริฐกว่าด้วยการให้ทานจำนวนพัน.

เศรษฐีกล่าวกะมาตลีเทพบุตรจำแลงว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเข้าไปนั่งในอาสนะใกล้ๆ กับสมณพราหมณ์เหล่านั้นเถิด

กาลต่อมา ปัญจสิขเทพบุตรปล่อยให้เวลาล่วงไปพักหนึ่งแล้วจึงจำแลงกายมาขอภัต

เมื่อเศรษฐีเห็นพราหมณ์อีกคนเข้ามาขออาหารอีกคนนั้น จึงกล่าวว่าไม่มีแล้วไปเสียเถิด

ปัญจสิขเทพบุตรจำแลงจึงกล่าวว่า เราไม่ไปดอกท่าน ก็ในเรือนของท่านเวลานี้เห็นจะมีเสียงสวดของพราหมณ์อยู่กระมัง

ปัญจสิขเทพบุตร จึงกล่าวธรรมกถาแก่เศรษฐี ด้วยคาถา ๘ บทว่า :-

แม้ผู้ใดเที่ยวไปขออาหารมาด้วยความสุจริต ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติธรรม อนึ่ง บุคคลผู้เลี้ยงบุตรและภรรยาของตนอยู่แต่ภัตมีน้อย ก็สามารถเฉลี่ยให้แก่สมณะ ชี พราหมณ์ได้ โดยไม่ตระหนี่บุคคลผู้นั้นชื่อว่าประพฤติธรรม

ประโยชน์อันใดที่คนตั้งแสนจะฆ่าสัตว์เพือนำมาบูชาแก่คนผู้ควรบูชาจำนวนพัน ผลบุญที่ได้ย่อมไม่ถึงแม้เสี้ยวแห่งผลทานของคนเข็ญใจที่มีใจแบ่งปันภัตนั้นโดยเมตตา

จบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0b1dywKGH4bsGJd7iMYJA83sFL3HYqUQX31VHUmgVf36nXMPrZ8QnnKrSpxXRrboRl