เรื่องนี้ต้องขยาย : พระอานนท์ (ตอนที่ 6)

0
31

เรื่องนี้ต้องขยาย (พระอานนท์ ตอนที่ ๖)
๑๑ กันยายน ๒๕๖๕

หลังจากที่พระอานนท์ทูลขอให้พระบรมศาสดาทรงแสดงกรรมฐานเพื่อการบรรลุพระอรหันต์แก่ภิกษุชาวเวสาลีแล้ว

ในเวลาต่อมาทรงมอบหมายให้พระอานนท์ไปรับกิจนิมนต์จากพระเจ้าปเสนทิโกศลแทนพระพุทธองค์เรื่องมีดังนี้

****************************************************

วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จไปเฝ้าพระศาสดา ขณะนั้นฉัตตปาณิอุบาสกอยู่ในที่เฝ้าแล้ว เขาเห็นพระราชากำลังเสด็จมาจึงคิดว่า

“เราควรลุกขึ้นต้อนรับหรือไม่หนอ?”

ในที่สุดเขาตกลงใจไม่ลุกขึ้น เพราะคิดว่ากำลังนั่งอยู่ในสำนัก ของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ คือพระพุทธเจ้า หากจะลุกรับพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็จะเป็นการขาดความเคารพในพระศาสดา

พระราชาปเสนทิโกศลเห็นฉัตตปาณิอุบาสกไม่ลุกรับ มีพระมนัสขุ่นเคือง แต่ไม่กล้าตรัสอะไร ถวายบังคมพระศาสดาแล้วประทับ ณ ที่อันสมควรแก่พระองค์

พระศาสดาทรงทราบ ความขุ่นเคืองในพระทัยของพระราชา มีพระพุทธประสงค์จะบรรเทาความขุ่นเคืองนั้น

จึงตรัสพรรณนาคุณของฉัตตปาณิอุบาสกว่า

“มหาบพิตร ฉัตตปาณิอุบาสกนี้ เป็นบัณฑิตได้เห็นธรรมแล้ว รอบรู้ในพุทธพจน์รู้จักประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ สิ่งที่ควรและไม่ควร…”

เมื่อพระราชาทรงสดับคุณกถา ของฉัตตปาณิอุบาสกอยู่ พระหฤทัยก็อ่อนลง

ต่อมาอีกวันหนึ่ง พระราชาประทับยืนอยู่บนปราสาท ทอดพระเนตรเห็นฉัตตปาณิอุบาสกกั้นร่มสวมรองเท้าเดินผ่านมาทางพระลานหลวง จึงรับสั่งให้ราชบุรุษเรียกมา อุบาสกหุบร่มถอดรองเท้า เข้าไปเฝ้ายืนอยู่ ณ ที่ควรแก่ตนแห่งหนึ่ง

พระราชาตรัสถามว่า ทำไมจึงหุบร่มและถอดรองเท้าเสียเล่า

อุบาสก : ข้าพระองค์ทราบว่า พระราชารับสั่งหา

พระราชา : ท่านเพิ่งรู้วันนี้เองหรือว่าเราเป็นพระราชา

อุบาสก : ข้าพระพุทธเจ้าทราบมานานแล้ว

พระราชา : ทราบมานานแล้ว ถ้ากระนั้น วันก่อนท่านนั่งอยู่ในสำนักพระศาสดาเห็นเราแล้ว ทำไมจึงไม่ลุกรับ

อุบาสก : ข้าแต่มหาราช วันนั้นข้าพระพุทธเจ้านั่งอยู่ในสำนักของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ หากลุกรับพระราชาประเทศราชก็จะเป็นการขาดความเคารพในพระศาสดา

พระราชา : ช่างเถอะอุบาสก เรื่องแล้วไปแล้วแต่เขาเล่าลือกันว่า ท่านเป็นผู้ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ทั้งปัจจุบันและอนาคต ท่านรอบรู้ในพระพุทธพจน์จะช่วยสอนธรรมแก่พวกเราในวังจะได้หรือไม่?

อุบาสก : ข้าพระองค์ไม่สามารถทำได้พระเจ้าข้า

พระราชา : ทำไม?

อุบาสก : เพราะธรรมดาพระราชมณเฑียรมีโทษมาก การทำดีและไม่ดีในราชสำนักนั้นเป็นกรรมหนัก

พระราชา : อย่าคิดอย่างนั้นเลยอุบาสก ท่านอย่าได้นึกถึงวันก่อนที่ไม่ได้ลุกรับเราเราไม่ได้ถือโทษเลย

อุบาสก : ข้าแต่สมมุติเทพ สถานที่โคจรของคฤหัสถ์ก็มีโทษมาก ขอพระองค์ได้โปรดนิมนต์บรรพชิตรูปใดรูปหนึ่งมาสอนธรรมเถิด

พระราชาปเสนทิโกศลจึงเสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดาทูลว่า พระนางมัลลิกาเทวี และพระนางวาสภขัตติยา มีพระประสงค์จะเรียนธรรม ขอให้พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เสด็จไปสู่ราชนิเวศน์เพื่อเสวยเป็นเนืองนิตย์ และแสดงธรรมแก่พระมเหสีทั้งสอง

พระศาสดาตรัสว่า การที่พระพุทธเจ้าจะไปเสวยภัตตาหารในที่แห่งเดียว เป็นประจำนั้นไม่ควร

พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงว่า ถ้ากระนั้นขอให้มอบให้เป็นหน้าที่ของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

พระศาสดาทรงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของพระอานนท์

วันหนึ่ง พระศาสดาตรัสถามถึงผลการเรียนธรรมของพระมเหสีทั้งสองของพระราชาปเสนทิโกศลกับพระอานนท์

พระเถระทูลว่า พระนางมัลลิกาเทวีนั้นทรงตั้งพระทัยศึกษาโดยเคารพท่องพระพุทธพจน์โดยเคารพ

ส่วนพระนางวาสภขัตติยาไม่เรียนโดยเคารพ (คือไม่ตั้งพระทัยเรียน) ไม่ท่องพระพุทธพจน์โดยเคารพ

พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของพระอานนท์แล้วจึงตรัสว่า

“อานนท์ ธรรมที่เรากล่าวดีแล้วย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ตั้งใจเรียน ฟัง ท่อง และปฏิบัติตามเหมือนดอกไม้สีสวยแต่ไม่มีกลิ่น แต่พระธรรมของเราจะมีผลดียิ่งแก่ผู้เรียนผู้ฟังปฏิบัติตามโดยเคารพ”

*****************************************************

ในบรรดาพระภิกษุที่ว่ายากสอนยากนั้น ไม่มีใครเกินพระฉันนะ พระฉันนะหรือเดิมชื่อนายฉันนะ

เป็นผู้ที่เกิดพร้อมเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ เป็นผู้รับใช้ใกล้ชิด ในยามที่เจ้าชายออกบวชก็ออกตามเสด็จพร้อมด้วยม้ากัณฐกะ จึงได้ชื่อว่าเป็นสหชาติ (ผู้เกิดในเวลาเดียวกันพร้อมกัน) เพราะอย่างนี้ จึงได้หยิ่งทะนงตนเองว่าเป็นคนใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาแต่ไหนแต่ไร จึงไม่ค่อยยอมรับการว่ากล่าวตักเตือนจากพระรูปอื่น แม้พระพุทธเจ้าจะไม่เคยให้ท้ายเลยก็ตาม

พระฉันนะชอบด่าพระอัครสาวกสองท่านคือ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะว่า

“อันตัวเรานั้นเป็นผู้เดินทางไปพร้อมกับพระพุทธเจ้าในคราวท่านออกผนวชส่วนพระสองรูปนี้กลับเที่ยวประกาศตนว่า เป็นพระสารีบุตรบ้าง
เป็นพระโมคคัลลานะบ้าง เที่ยวประกาศตนว่าเป็นพระอัครสาวก”

พระพุทธเจ้าทรงทราบ ก็เรียกมาว่ากล่าวตักเตือน พระฉันนะก็นิ่งรับฟัง พอพระพุทธเจ้าเสด็จไป ก็เริ่มด่าพระอัครสาวกอีก แม้พระองค์จะเรียกมาตักเตือนอีกจนถึงครั้งที่ ๓ ว่าพระอัครสาวกทั้งสองรูปเป็นกัลยามิตรที่ดีเป็นผู้ประเสริฐ จงคบกัลยาณมิตรเพื่อนผู้ดีงามเช่นนี้เถิด

แม้กระนั้น พระฉันนะได้ฟังโอวาทแล้วก็ยังไม่เชื่อฟัง ยังคงด่าพระอัครสาวกอีกต่อไป

พระพุทธเจ้าจึงตรัสแก่บรรดาพระภิกษุว่า ภิกษุทั้งหลาย ขณะที่เรายังคงอยู่ พวกเธอคงไม่อาจอบรมสั่งสอนฉันนะได้ แต่เมื่อเราปรินิพพานไปแล้ว จึงจะสามารถทำได้

พระอานนท์จึงกราบทูลถามว่า จะให้ทำเช่นไรต่อพระฉันนะ

พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า ให้ลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนะ

ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว พระสงฆ์ก็ประกาศลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ

พอพระฉันนะได้ยินเช่นนั้นก็เกิดความทุกข์ขึ้นในใจ จิตใจเศร้าหมองเป็นลำดับ จนล้มสลบลงถึง ๓ ครั้ง เมื่อฟื้นคืนสติก็ได้อ้อนวอนต่อคณะสงฆ์ว่า

ขอท่านทั้งหลายให้โอกาสกระผมเถิด ว่าแล้วก็กลับตนประพฤติตนใหม่เป็นพระภิกษุที่ดี จนปฏิบัติธรรมได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

************************************************

พุทธะอิสระ

——————————————–