เรื่องนี้ต้องขยาย : พระอานนท์ (ตอนที่ 3)

0
26

เรื่องนี้ต้องขยาย (พระอานนท์ ตอนที่ ๓)
๕ กันยายน ๒๕๖๕

วันนี้เรามาทำความเข้าใจในประวัติของท่านพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก ต่อจากตอนที่แล้ว

พระอานนท์นอกจากท่านจะเป็นบัณฑิตผู้รู้ เป็นพหูสูต ผู้ทรงจำได้มากแล้วท่านยังมีรูปงาม น่าเลื่อมใส น่าทัศนายิ่งนัก ยิ่งเป็นพหูสูตด้วย ก็ยิ่งทำให้สังฆมณฑลนี้งดงามยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีบริษัททั้ง 4 นิยมไปหาท่านกันมาก ข้อนี้สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสยกย่องท่านว่า ท่านมีอัพภูตธรรม คือคุณอันน่าอัศจรรย์ 4 ประการ คือ

๑. ถ้าภิกษุบริษัทภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัทเข้าไปหาท่าน

๒. พอได้เห็นรูปเท่านั้นก็มีความยินดี พอได้ฟังธรรมเทศนาของท่านก็ยิ่งมีความชื่นชมเปรมปรีดิ์

๓. แม้เมื่อท่านแสดงธรรมจบลงแล้ว ก็ยังฟังไม่อิ่มไม่เบื่อ

๔. ท่านพระอานนท์เป็นผู้มีรูปราคะ คือ ผู้มีความงามในรูป

พระพุทธองค์ยังทรงเปรียบเทียบท่านซึ่งมีคุณอันน่าอัศจรรย์นี้กับพระเจ้าจักรพรรดิว่า พระเจ้าจักรพรรดินั้นเมื่อขัตติยบริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท และสมณบริษัทเข้าเฝ้า พอได้เห็นก็มีความยินดี ครั้นได้ฟังพระราชดำรัส ก็ยิ่งมีความยินดี แม้ตรัสจบแล้วก็ยังไม่อิ่ม

นอกจากหน้าที่อุปัฏฐากประจำองค์อย่างใกล้ชิดแล้ว ท่านพระอานนท์ ยังปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น

งานรับสนองพุทธบัญชา เช่น ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้ท่านไปประกาศคว่ำบาตรแก่วัฑฒลิจฉวี เพราะเหตุที่วัฑฒลิจฉวีได้สมรู้ร่วมคิดกับพระเมตติยะ และพระภุมมชกะ กล่าวใส่ร้ายท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า เสพเมถุนธรรมกับชายาเดิมของท่าน

*******************************************************

สมัยนั้น เจ้าวัฑฒลิจฉวีเป็นสหายของพระเมตติยะและพระภุมมชกะ

ครั้งนั้น เจ้าวัทฒลิจฉวีได้เข้าไปหาพระเมตติยะและพระภุมมชกะถึงที่พัก ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับพระเมตติยะและพระภุมมชกะดังนี้ว่า

“พระคุณเจ้า โยมไหว้ขอรับ” เมื่อวัฑฒลิจฉวีกล่าวอย่างนี้ พระเมตติยะและพระภุมมชกะก็ไม่ยอมพูดด้วย

แม้ครั้งที่ ๒ เจ้าวัฑฒลิจฉวีก็กล่าวกับพระเมตติยะและพระภุมมชกะดังนี้ว่า “โยมไหว้ ขอรับ”

แม้ครั้งที่ ๒ พระเมตติยะและพระภุมมชกะก็ไม่ยอมพูดด้วย

แม้ครั้งที่ ๓ เจ้าวัฑฒลิจฉวีก็กล่าวกับพระเมตติยะและพระภุมมชกะว่า “โยมไหว้ ขอรับ”

แม้ครั้งที่ ๓ พระเมตติยะและพระภุมมชกะก็ไม่ยอมพูดด้วย

เจ้าวัฑฒลิจฉวีกล่าวต่อไปว่า “โยมมีความผิดอะไรต่อพระคุณเจ้า ทำไม

พระคุณเจ้า จึงไม่ยอมพูดกับโยม”

ภิกษุทั้งสองตอบว่า “จริงอย่างนั้นแหละ วัฑฒะ พวกเราถูกพระทัพพมัลลบุตรเบียดเบียน ท่านก็ยังทำเพิกเฉยอยู่ได้”

เจ้าวัฑฒลิจฉวีถามว่า “โยมจะช่วยได้อย่างไร ขอรับ”

ภิกษุทั้งสองตอบว่า “วัฑฒะ ถ้าท่านเต็มใจช่วย วันนี้แหละ พระผู้มีพระภาคต้องให้พระทัพพมัลลบุตรสึก”

เจ้าวัฑฒลิจฉวีถามว่า “พระคุณเจ้า โยมจะทำอย่างไร จะช่วยได้ด้วยวิธีไหน”

ภิกษุทั้งสองตอบว่า “มาเถิด วัฑฒะ ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับครั้นถึงแล้ว จงกราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า

‘พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้ไม่สมควร ไม่เหมาะสม ทิศที่เคยปลอดภัยก็กลับมีภัย ทิศที่ไม่เคยมีเสนียดจัญไรก็กลับมีเสนียดจัญไร ทิศที่ไม่มีอุปัททวะก็กลับมีอุปัททวะ ในทิศที่ไม่เคยมีลมก็กลับมีลมแรง น้ำก็ดูเป็นเหมือนน้ำร้อนขึ้นมา ปชาบดีของหม่อมฉันถูกพระทัพพมัลลบุตรทำมิดีมิร้าย”

เจ้าวัฑฒลิจฉวีรับคำของพระเมตติยะและพระภุมมชกะแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควรได้กราบทูลกับพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า

“พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้ไม่สมควร ไม่เหมาะสม ทิศที่เคยปลอดภัยก็กลับมีภัย ทิศที่ไม่เคยมีเสนียดจัญไรก็กลับมีเสนียดจัญไร ทิศที่ไม่มีอุปัททวะก็กลับมีอุปัททวะ ในทิศที่ไม่เคยมีลมก็กลับมีลมแรง น้ำก็ดูเป็นเหมือนน้ำร้อนขึ้นมา ปชาบดีของหม่อมฉันถูกพระทัพพมัลลบุตรทำมิดีมิร้าย”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า

“ทัพพะ เธอจำได้ไหมว่าได้ทำตามที่เจ้าวัฑฒะนี้กล่าวหา”

ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร”

แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระทัพพมัลลบุตร ฯลฯ

แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า “ทัพพะ เธอจำได้ไหมว่าได้ทำตามที่เจ้าวัฑฒะนี้กล่าวหา”

พระทัพพมัลลบุตรก็กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร”

“ทัพพะ บัณฑิตย่อมไม่แก้คำกล่าวหาอย่างนี้ ถ้าเธอทำก็จงบอกว่าทำ ถ้าเธอไม่ได้ทำก็จงบอกว่าไม่ได้ทำ”

“พระองค์ผู้เจริญ ตั้งแต่เกิดมา ข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้จักการเสพเมถุนธรรมแม้ในความฝัน ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อตอนตื่นอยู่”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้นสงฆ์จงคว่ำบาตร เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ ห้ามสมโภคกับสงฆ์”

สงฆ์พึงคว่ำบาตรอุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ

๑. ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ลาภของภิกษุทั้งหลาย

๒. ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ประโยชน์ของภิกษุทั้งหลาย

๓. ขวนขวายเพื่อความอยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย

๔. ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลาย

๕. ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน

๖. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า

๗. กล่าวติเตียนพระธรรม

๘. กล่าวติเตียนพระสงฆ์

ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คว่ำบาตรอุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้

ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงคว่ำบาตรอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า

ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เจ้าวัฑฒลิจฉวีใส่ความท่านพระทัพพมัลลบุตร ด้วยสีลวิบัติที่ไม่มีมูล ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวีห้ามสมโภคกับสงฆ์ นี่เป็นญัตติ

ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เจ้าวัฑฒลิจฉวีใส่ความท่านพระทัพพมัลลบุตร ด้วยสีลวิบัติที่ไม่มีมูล สงฆ์คว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ห้ามสมโภคกับสงฆ์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการคว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ห้ามสมโภคกับสงฆ์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง

ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง

เจ้าวัฑฒลิจฉวีถูกสงฆ์คว่ำบาตร ห้ามสมโภคกับสงฆ์แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

ต่อมาพระบรมศาสดาจึงทรงมีรับสั่งพระอานนท์ ไปแจ้งข่าวการคว่ำบาตรของสงฆ์แก่วัฑฒลิจฉวี
ครั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของเจ้าวัฑฒลิจฉวี ได้กล่าวกับเจ้าวัฑฒลิจฉวีดังนี้ว่า

“วัฑฒะ สงฆ์คว่ำบาตรท่านห้ามสมโภคกับสงฆ์”

ครั้นเจ้าวัฑฒลิจฉวีทราบข่าวว่า สงฆ์คว่ำบาตร ห้ามสมโภคกับสงฆ์ จึงสลบล้มลงที่นั้นเอง
ขณะนั้น มิตรอมาตย์ญาติสาโลหิตของเจ้าวัฑฒลิจฉวี ได้กล่าวกับเจ้าวัฑฒ ลิจฉวีดังนี้ว่า

“ท่านอย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญเลย พวกเราจะขอให้พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ยกโทษให้”

ครั้งนั้นแล เจ้าวัฑฒลิจฉวีพร้อมกับโอรสและชายา มิตรอมาตย์ญาติสาโลหิตมีผ้าเปียกผมเปียก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาทแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

“พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้กระทำความผิด เพราะความโง่เขลาเบาปัญญาที่ได้ใส่ความพระทัพพมัลลบุตรด้วยสีลวิบัติที่ไม่มีมูล ขอพระผู้มีพระภาคจงให้อภัยโทษแก่หม่อมฉัน เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด”

พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า

“เอาเถิด การที่ท่านได้ทำความผิดเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาที่ได้ใส่ความพระทัพพมัลลบุตรด้วยสีลวิบัติที่ไม่มีมูล เพราะเหตุที่เห็นความผิดเป็นความผิดแล้วแก้ไขให้ถูกต้อง ข้อนั้นเรารับ เพราะการที่บุคคลเห็นความผิดเป็นความผิดแล้ว แก้ไขให้ถูกต้องและสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้นสงฆ์จงหงายบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ให้สมโภคกับสงฆ์ได้ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงหงายบาตรอุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ

๑. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ลาภของภิกษุทั้งหลาย

๒. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ประโยชน์ของภิกษุทั้งหลาย

๓. ไม่ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย

๔. ไม่ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลาย

๕. ไม่ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน

๖. ไม่กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า

๗. ไม่กล่าวติเตียนพระธรรม

๘. ไม่กล่าวติเตียนพระสงฆ์

ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หงายบาตรอุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้

ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงหงายบาตรอย่างนี้ เจ้าวัฑฒลิจฉวีนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย แล้วนั่งกระโหย่ง ประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า

“ท่านผู้เจริญ สงฆ์คว่ำบาตรข้าพเจ้า ห้ามสมโภคกับสงฆ์ ข้าพเจ้านั้นกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้แล้ว ขอการหงายบาตรกับสงฆ์”

พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ.

พึงขอแม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ

ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า

ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์คว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ห้ามสมโภคกับสงฆ์ เจ้าวัฑฒลิจฉวีนั้นกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอการหงายบาตรต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงหงายบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ให้สมโภคกับสงฆ์ได้ นี่เป็นญัตติ

ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์คว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ห้ามสมโภคกับสงฆ์ เจ้าวัฑฒลิจฉวีนั้นกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอการหงายบาตร สงฆ์หงายบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ให้สมโภคกับสงฆ์ได้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการหงายบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ให้สมโภคกับสงฆ์ได้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง

เจ้าวัฑฒลิจฉวี สงฆ์หงายบาตร ให้สมโภคกับสงฆ์ได้แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงเวสาลีตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางภัคคชนบท

**************************************************

พุทธะอิสระ

——————————————–