เรื่องนี้ต้องขยาย : พระอุรุเวลกัสสปะ (ตอนที่ 3) 31ก.ค.2565

0
52

เรื่องนี้ต้องขยาย (พระอุรุเวลกัสสปะ ตอนที่ ๓)
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕

หลังจากที่ท่านอุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ ๓ พี่น้อง พร้อมบริวาร ๑,๐๐๐ คน ได้บวชเป็นพระภิกษุสาวกของพระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว

ในเวลาต่อมาพระบรมศาสดาได้ทรงพิจารณาดูอุปนิสัยของเหล่าภิกษุทั้ง ๑,๐๐๓ รูป ว่าควรที่จะได้สดับพระธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ได้แล้ว

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย คือ แล้วคุณสมบัติแบบไหนถึงจะชื่อว่าอุปนิสัยที่ควรฟังธรรมเพื่อความพ้นทุกข์เล่า

อธิบายว่า คุณธรรมหรืออุปนิสัยเพื่อการพ้นทุกข์นั้นก็คือพละ ๕ หรืออินทรีย์ ๕ อันได้แก่

ศรัทธา ความเชื่อ ความยอมรับ ความนอบน้อมเคารพ

วิริยะ ความมุ่งมั่น ขยัน หมั่นเพียรอย่างต่อเนื่อง

สติ ความระลึกรู้ ระลึกได้อยู่แต่ภายในกาย วาจา ใจ

สมาธิ ความตั้งต้น ตั้งมั่น ในกิจกรรมและการงานที่กำลังทำ ในที่นี้หมายถึง ตั้งต้น ตั้งมั่นอยู่ภายในกายและใจ

ปัญญา หมายถึง ความใคร่ครวญพินิจพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน รอบคอบอยู่ในเรื่องที่กำลังทำ คำที่กำลังพูด สูตรที่กำลังคิด

ด้วยพละ ๕ หรืออินทรีย์ ๕ อย่างนี้แหละชื่อว่าคุณธรรม คุณสมบัติ อุปนิสัยแห่งการพ้นทุกข์

เมื่อหมู่ภิกษุ ๑,๐๐๓ รูป โดยมีท่านอุรุเวลกัสสปะเป็นหัวหน้ามีอุปนิสัยที่จะพ้นทุกข์ได้ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงธรรมเพื่อการพ้นทุกข์คือ อาทิตตปริยายสูตร โดยทรงเปรียบเทียบให้เห็นว่า สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รวมเรียกว่า อายตนะภายในเป็นของร้อน

อีกอย่าง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์ที่เกิดกับใจรวมเรียกว่า อายตนะภายนอกก็เป็นของร้อน

ร้อนเพราะ เมื่อตาเห็นรูป ทำให้เกิดอารมณ์ราคะ เกิดโทสะ เกิดโมหะ

ร้อนเพราะ เมื่อหูฟังเสียง ทำให้เกิดอารมณ์ราคะ เกิดโทสะ เกิดโมหะ

ร้อนเพราะ เมื่อจมูกได้กลิ่น ทำให้เกิดอารมณ์ราคะ เกิดโทสะ เกิดโมหะ

ร้อนเพราะ เมื่อลิ้นรับรส ทำให้เกิดอารมณ์ราคะ เกิดโทสะ เกิดโมหะ

ร้อนเพราะ เมื่อกายสัมผัส ทำให้เกิดอารมณ์ราคะ เกิดโทสะ เกิดโมหะ

ร้อนเพราะ เมื่อใจปรุงแต่ง ทำให้เกิดอารมณ์ราคะ เกิดโทสะ เกิดโมหะ

แล้วอะไรเล่าคือราคะ

ราคะ ได้แก่ ความชื่นชอบ ความถวิลหา ความสิเนหา ความรักใคร่ พึงพอใจ

โทสะ นั้นคือ ความขุ่นเคือง ความไม่พึงพอใจ ความข้องใจ ความฉุนเฉียว ความโกธร ความพยาบาท

โมหะ นั้นคือ ความลุ่มหลง ความงมงาย มัวเมา ความไม่กระจ่างแจ้ง ความไม่เข้าใจจริง และความตกเป็นทาส

ผู้มีสติปัญญารู้เท่าทันมายาการดังกล่าวย่อมเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายจิตก็คลายกำหนัด (ความพึงพอใจ) ความยึดมั่นถือมั่นก็ไม่เกิด

พระพุทธธรรมคำสอนดังกล่าวมานี้รวมเรียกว่า อาทิตตปริยายสูตร

ล้วนมีเหตุผลอันสมบูรณ์โดยมิต้องอธิบายความ

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย คือ ทำไมพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่สอนอริยสัจสี่ ไม่สอนอนัตตลักขณสูตร อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ทรงเลือกที่จะสอนอาทิตตปริยายสูตร ที่ว่าด้วยสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน

อธิบายความว่า ก็เพราะตลอดชีวิตของการบูชาไฟ เพื่อบำเพ็ญพรตของดาบสทั้ง ๑,๐๐๓ คนนั้น

ทำให้ดาบสทั้ง ๑,๐๐๓ คนล้วนคุ้นเคยกับความเร่าร้อน ทุรนทุราย อบอ้าว อบอวลจากความร้อนแห่งไฟ

เมื่อคุ้นเคยกับไฟมาช้านาน พอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปรียบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ที่เกิดกับใจ ล้วนเป็นความเร่าร้อน เสียดแทง บีบคั้น ทำให้ทุรนทุราย ทุกข์ทรมาน

ท่านอุรุเวลกัสสปะและบริวาร เมื่อพิจารณากระแสพระธรรมที่คุ้นเคย จิตจึงเข้าถึงแก่นแท้แห่งพระธรรมได้ง่าย จนหลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง ทุกข์ทั้งปวงก็อันตรธานหายไปสิ้น

วันนี้ขอขยายความกรณีที่เกี่ยวข้องกับท่านอุรุเวลกัสสปะไว้แต่เพียงนี้ วันหน้าจะนำเอาประเด็นสุดท้ายมาอธิบายความต่อไป

พุทธะอิสระ

——————————————–