เรื่องนี้ต้องขยาย : พระอัญญาโกณฑัญญะ (ตอนที่ 3) 20ก.ค.2565

0
22

เรื่องนี้ต้องขยาย (ตอนที่ ๓)
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อจากบุพกรรมของท่านพระอัญญาโกณฑัญญะที่มีมาแล้วในอดีต จนส่งผลให้ท่านมีความสามารถพิเศษในการทำนายมหาปุริสลักขณะ ๓๒ ประการ

และเป็นผู้ได้ฟังธรรมบรรลุธรรมก่อนใครๆ ในโลก

คุณสมบัติพิเศษดังกล่าวมานี้ ล้วนเกิดมาจากการสั่งสมอบรมมาดีแล้วในอดีต ชื่อว่าเป็นผู้มีปุพเพกตปุญญตา

ประเด็นที่ต้องนำมาวินิจฉัยอีกข้อ คือ อะไรเรียกว่า มหาปุริสลักขณะ ๓๒ ประการ อธิบายได้ดังต่อไปนี้ คือ

1. มีพื้นเท้าสม่ำเสมอ
2. ที่ฝ่าเท้ามีจักรเกิดแล้ว, มีซี่ตั้งพัน พร้อมทั้งกงและดุม
3. มีส้นเท้ายาว
4. มีข้อนิ้วยาว
5. มีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนละมุน
6. มีลายฝ่ามือฝ่าเท้าดุจตาข่าย
7. มีข้อเท้าอยู่สูง
8. มีแข้งดุจแข้งเนื้อทราย
9. ยืนไม่ย่อตัวลง แตะเข่าได้ด้วยมือทั้งสอง
10. มีองคชาตตั้งอยู่ในฝัก
11. มีสีกายดุจทอง คือมีผิวหนังดุจทอง
12. มีผิวละเอียด ละอองจับไม่ได้
13. มีขนขุมละเส้น เส้นหนึ่งๆ อยู่ขุมหนึ่งๆ
14. มีปลายขนช้อนขึ้น สีดุจดอกอัญชัน ขึ้นเวียนขวา
15. มีกายตรงดุจกายพรหม
16. มีเนื้อนูนหน้าในที่ 7 แห่ง (คือหลังมือหลังเท้าคอบ่า)
17. มีกายข้างหน้า ดุจราชสีห์
18. มีหลังเต็ม (ไม่มีร่องหลัง)
19. มีทรวดทรงดุจต้นไทร กายกับวาเท่ากัน
20. มีคอกลมเกลี้ยง
21. มีประสาทรับรสอันเลิศ
22. มีคางดุจราชสีห์
23. มีฟัน 40 ซี่บริบูรณ์
24. มีฟันเรียบเสมอ
25. มีฟันสนิท (ชิดกัน)
26. มีเขี้ยวสีขาวงาม
27. มีลิ้น (ใหญ่และยาว) เพียงพอ
28. มีเสียงดุจเสียงพรหม พูดเหมือนนกการเวก
29. มีตาเขียวสนิท
30. มีตาดุจตาวัว
31. มีอุนาโลมหว่างคิ้ว ขาวอ่อนเหมือนสำลี
32. มีศีรษะระรับกับกรอบหน้า

อีกประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเมื่อปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระบรมศาสดาเสด็จมา จึงต่างพากันตกลงว่า จะไม่ลุกรับกราบไหว้ด้วยเพราะ พระองค์ทรงละความเพียรจากการทรมานตน กลับไปเสพความสุขจากอาหารและการดำรงชีวิต

คงจะไม่สามารถบรรลุธรรมใดๆ ได้

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย คือ อะไรเรียกว่า การทรมานตนให้ลำบาก อธิบายได้ดังต่อไปนี้

– ทรงกระทำตามหลักคำสอนของคณาจารย์ในยุคนั้น ที่คิดค้นวิธีทรมานตนที่เชื่อว่า เป็นวิธีสร้างตบะ อาจจะทำให้บรรลุอมฤตธรรมได้ หลังจากที่ทรงทดลองปฏิบัติมาทุกวิธีถึง ๖ ปีแล้ว ก็ยังมิอาจที่จะบรรลุธรรมใดๆ ได้จึงทรงคิดค้นวิธีทรมานตนขึ้นมาเอง ด้วยทรงมุ่งหวังว่า อาจจะทำให้บรรลุอมฤตธรรมได้ วิธีนั้นก็คือ

– ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ (การกัดฟัน) กดพระตาลุด้วยพระชิวหา (เอาลิ้นดันเพดาน) จนพระเสโท (เหงื่อ) ไหลทางพระกัจฉะ (รักแร้)

– ทรงกลั้นลมอัสสาสะ ปัสสาสะ (กลั้นลมหายใจเข้าออก) จนปวดพระเศียร (ศีรษะ)

– ทรงอดพระกระยาหาร (อาหาร) จนพระวรกาย (ร่างกาย) ซูบผอมและไม่มีเรี่ยวแรง

ในที่สุดพระองค์ทรงทราบว่า วิธีที่ทำอยู่นั้นไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ แม้แต่การหมกมุ่นอยู่ในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็ทรงเคยปฏิบัติมาแล้ว ก็มิอาจบรรลุธรรมใดๆ ได้

จึงทรงหันมาเสวยพระกระยาหาร และบำเพ็ญเพียรทางจิต โดยยึดหลักทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา)

ยังมีหลายประเด็นที่ต้องวินิจฉัย แต่วันนี้พอแค่นี้ก่อนนะจ๊ะ

พุทธะอิสระ

——————————————–