(ตอนที่ ๔) เผื่อว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ จะได้หายสงสัย

0
5
เผื่อว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ จะได้หายสงสัย (ตอนที่ ๔)
๑๒ กันยายน ๒๕๖๔
จะพยายาม อธิบายความให้กระจ่างเท่าที่สติปัญญาอันน้อยนิดพอจะทำได้
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต พวกเธอจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าได้ไปทางเดียวกันสองรูป ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ในโลกนี้ สัตว์พวกที่มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์พวกนั้นจึงเสื่อมเสียไป ผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ยังจักมี แม้เราก็จักกระทำ โดยที่ให้พระนครพันธุมดีเป็นสถานที่อันเธอทั้งหลายพึงกลับมาแสดงพระปาติโมกข์โดยหกปีๆ ล่วงไป ดังนี้ ฯ”
อธิบายความคำว่า งามในที่สุด หมายถึง ท่านผู้แสดงธรรมนั้นเป็นผู้เข้าถึงคุณวิเศษอันบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบไปด้วย
– เป็นผู้มีวิชาความรู้อันประเสริฐ
– เป็นสมณะ ผู้สงบ ผู้มีความประพฤติอันประเสริฐ
– เป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากเครื่องผูก เครื่องรัดทั้งปวง
– เป็นผู้รู้แจ้งในสรรพชีวิต สรรพธรรมชาติ และสรรพสิ่งทั้งปวง
– เป็นผู้ปฏิบัติดี และสอนให้ผู้อื่นปฏิบัติตามได้ โดยมีหลักในการปฏิบัติ ดังนี้
๑. ปฏิบัติไปตามวิถีแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
๒. ปฏิบัติไม่ถอยหลัง
๓. ปฏิบัติตามรอยพระบาทของพระบรมศาสดา
– เป็นผู้ปฏิบัติตรง คือ
๑. ปฏิบัติไม่ลวงโลก
๒. ไม่ปฏิบัติเพื่อโอ้อวด
๓. ปฏิบัติตรงต่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และพระพุทธสาวกร่วมศาสนาเดียวกัน
– เป็นผู้ปฏิบัติถูกทางคือ
๑. ปฏิบัติโดยยึดธรรมเป็นใหญ่
๒. ปฏิบัติด้วยความสุจริต
๓. ปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้ง
– เป็นผู้ปฏิบัติสมควรคือ
๑. ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมที่เหมาะสมแก่ตน
๒. ปฏิบัติธรรมอันชอบด้วยความพากเพียร
๓. ปฏิบัติพอดี ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป
เมื่อพระสงฆ์ประกอบด้วยคุณสมบัติดังกล่าวเช่นนี้ จึงได้ชื่อว่า
สุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดีแล้ว
อุชุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติตรงแล้ว
ญายะปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติธรรมแล้ว เพื่อการพ้นทุกข์
สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติพอสมควรแก่ธรรมนั้นๆ
เพราะมีคุณสมบัติดังกล่าว พระสงฆ์จึงเป็นผู้ควรแก่การสักการะบูชา
เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับกราบไหว้
เป็นผู้ควรแก่การรับทักษิณาทาน
เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี
เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญใดจะมาเทียบได้
ทั้งยังเป็นผู้รู้อุปนิสัยของสรรพสัตว์ และชนผู้ฟังธรรมว่าควรที่จะยกหลักธรรมใดมาขัดเกลาสติปัญญาของสัตว์นั้นๆ ให้เฉียบคมจนสามารถก้าวพ้นจากมิจฉาทิฐิ และมีความเจริญในสัมมาทิฐิ เหยียบยืน และดำเนินอยู่ในมรรควิถีอย่างซื่อตรง ถูกต้อง เช่นนี้ คือ ผู้ได้ชื่อว่า งามในที่สุด
พุทธะอิสระ
————————————————
เผื่อว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ จะได้หายสงสัย (ตอนที่ ๑)
เผื่อว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ จะได้หายสงสัย (ตอนที่ ๒)
เผื่อว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ จะได้หายสงสัย (ตอนที่ ๓)
————————————————-