เห็นความพยายามบิดเบือนยุแหย่ของพวกสาวกทำจนกลายแล้วเอือมระอาในสติปัญญาของพวกเขาเสียจริงๆ

0
140

ข่าวบุญใจสว่าง
ถ้ามองในแง่ มาตรา 31 ใน รธน.ใหม่
คำว่า ปฏิปักษ์ต่อรัฐ ไม่จำเป็นต้อง
เป็นวัดในพระพุทธศาสนา แต่หมายรวมได้ทุกศาสนา
ที่อาจเป็นลัทธิ เป็นนิกาย เป็นสำนักใดก็ได้
ที่รัฐมองว่าเป็นปรปักษ์ต่อการปกครองของรัฐ
ก็สามารถจัดการทุบทำลายได้ทันที
สถานการณ์ตอนนี้ที่ประชาชนรับรู้ผ่านสื่อก็คือ
วัดป่าสร้างวัดรุกที่เขตป่าสงวน โดยมีกรมศาสนา
และกรมที่ดินอนุญาตให้ทำได้ ส่วนกรมป่าไม้ไม่รู้เรื่องด้วย
เมื่อประชาชนรับรู้ข่าวสารแบบนี้ก็แปลว่า
วัดกับกรมศาสนาและกรมที่ดินตกเป็นจำเลยร่วมกัน
ในฐานะผู้ทำผิดกฎหมายป่าสงวนของกรมป่าไม้
เราจะเห็นว่า ปัญหาเกิดจากการใช้กฎหมายระหว่าง
กรมศาสนา กรมที่ดิน กรมป่าไม้ขาดการประสานงานกัน
แต่ความเดือดร้อนมาตกแก่พระสงฆ์และประชาชน
รัฐเป็นผู้ออกกฎหมายฉบับใหม่
ถมทับซับซ้อนกับกฎหมายฉบับเก่า
จึงส่งผลให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา
1. กฎหมายของแต่ละกระทรวง
เกิดปัญหาลักลั่นย้อนแย้งกันเอง
2. เจ้าหน้าที่รัฐรู้แต่กฎหมายเฉพาะกรมที่สังกัด
ไม่รู้กฎหมายคาบเกี่ยวระหว่างกระทรวง ทบวง กรม
3. เจ้าหน้าที่รัฐคนละสังกัดต่างใช้กฎหมายขัดแย้งกันเอง
มานานหลายสิบปีโดยไม่มีใครรู้จนกว่าจะเกิดปัญหาคาบเกี่ยวกัน
4. เมื่อเป็นคดีความขึ้นมา
พระสงฆ์กับประชาชนเป็นผู้รับเคราะห์
ทั้งที่เป็นผู้ทำตามระเบียบที่เจ้าหน้าที่รัฐให้คำแนะนำ
5. เมื่อเกิดปัญหาทำถูกระเบียบที่หนึ่ง
แต่ทำผิดระเบียบอีกที่หนึ่ง
ถึงคราวศาลตัดสินลงโทษขึ้นมา
พระกับประชาชนรับเคราะห์ไป
ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐถูกกันไว้เป็นพยาน
6. ไม่มีใครพูดถึงปัญหาเนื้อหากฎหมาย ย้อนแย้งกันเอง
ลองคิดดูว่าขนาดสถานการณ์ปัจจุบัน
ใช้แค่กฎหมายป่าสงวน ยังไม่ใช้มาตรา 31 ใน รธน. ใหม่
วัดป่าต่างๆ ยังเดือดร้อนลำบากขนาดนี้
โดนรื้อโดนทุบโดยปราศจากการปกป้องจากชุมชนรอบวัด
การช่วยเหลือจากกรมศาสนาและกรมที่ดิน
ถ้าหากบังคับใช้ ม.31 ขึ้นมาจริงๆ เมื่อไหร่
อนาคตพระพุทธศาสนาและศาสนาต่างๆ จะเป็นอย่างไร
วัดใดไม่มีชุมชนรอบวัดให้การปกป้อง
ก็ถูกทุบตายสถานเดียว อย่าว่าแต่วัดในป่าไม่ได้รับการปกป้อง
แม้แต่วัดกลางกรุงเทพฯก็ยังโดนทุบศาลาทิ้งมาแล้ว
เหตุการณ์เหล่านี้จึงมีข้อเตือนใจว่า
ในเมื่อรัฐเป็นผู้บัญญัติเนื้อหากฎหมาย
การบังคับใช้ก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง
แต่เมื่อเกิดปัญหากฎหมายย้อนแย้งกันเอง
ทำไมความผิดถึงได้มาตกอยู่ที่พระสงฆ์กับประชาชน
——————————
๕ กันยายน ๒๕๕๙
๑๒.๒๔ น.
Cr.หลวงพี่ตรีเทพ

https://www.facebook.com/jaisawangNews/photos/a.1557286401256221.1073741827.1557276754590519/1670214556630071/?type=3&theater
—————————————————
ตอบข้อ ๑

กฎหมายแต่ละกระทรวงไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่คนพยายามละเมิดกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายตะหากเล่า

ตอบข้อ ๒
เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของตน ที่มีกฎหมายกำหนดเอาไว้เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องไปรู้ข้อกำหนดของทุกกระทรวง ทบวง กรม แต่หากจะสามารถมีความรู้กว้างขวางได้เช่นนั้นก็นับว่าเป็นการดี จักเป็นประโยชน์แก่การให้บริการประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
มูลเหตุของปัญหาคือ แม้ประชาชนไม่รู้กฎหมาย แต่มีอำนาจ มีเงินพร้อมจ่ายไม่อั้น ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐเร่งรีบดำเนินการให้แก่ตน

ตัวอย่างเช่น กรณีอดีตเจ้าพนักงานจังหวัดพังงา ที่ออกโฉนดทับซ้อนในที่ดินสาธารณะโดยมิชอบ

ถามว่า เพราะเขาไม่รู้กฎหมายกระนั้นหรือ

ตอบว่า ไม่ใช่

ถามว่า แล้วคนที่มีชื่ออยู่ในโฉนดปลอมนั้นก็ไม่รู้กฎหมายกระนั้นหรือ

ตอบว่า ไม่ใช่ แต่เขาเชื่อว่าเงินและอำนาจที่เขามีย่อมทำได้ทุกอย่าง แต่พอมีรัฐบาลที่เขายึดถือกฎหมายเป็นหลักในการปกครองประเทศ ไม่ปล่อยให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย พวกกฎหมู่ทั้งหลายจึงรู้สึกเดือดร้อนทุรนทุรายอย่างที่เห็น

ตอบข้อ ๓

เจ้าหน้าที่รัฐหาได้ใช้กฎหมายที่ขัดแย้งกันไม่
———————————————–

เพราะป่าไม้ก็มีพรบ.ป่าไม้
พรบ.ป่าสงวน พ.ศ. ๒๕๐๗

มาตรา ๑๔ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือ ครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพ ป่าสงวนแห่งชาติ เว้นแต่

(๑) ทำไม้หรือเก็บหาของป่าตามมาตรา ๑๕ เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยตามมาตรา ๑๖ มาตรา ๑๖ ทวิ หรือมาตรา ๑๖ ตรี กระทำการ ตามมาตรา ๑๗ ใช้ประโยชน์ตามมาตรา ๑๘ หรือกระทำการตามมาตรา ๑๙หรือมาตรา ๒๐

(๒) ทำไม้หวงห้ามหรือเก็บหาของป่าหวงห้ามตามกฎหมาย ว่าด้วยป่าไม้
———————————————–

กรมที่ดินก็มีกฎหมายของกรมที่ดิน

1. ที่ดินที่จะออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน
คือ โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3, น.ส. 3ก., น.ส. 3ข.)ได้ จะต้องเป็นที่ดินที่มีลักษณะตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ข้อ 14 กล่าวคือ

– จะต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดินได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว

– ไม่เป็นที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบที่ชายตลิ่ง ที่เลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์

– ไม่เป็นที่ดินซึ่งได้หวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ตามพระราชบัญญัติว่า ด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่า อันเป็นสาธารณสมบัติ ของแผ่นดินพุทธศักราช 2478

– ไม่เป็นที่ดินที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติสงวนและพัฒนาที่ดินเพื่อจัดให้แก่ประชาชน

– ไม่เป็นที่ดินของรัฐที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติสงวนหรือหวงห้ามเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน

– ไม่เป็นที่ดินที่คณะรัฐมนตรีสงวนไว้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น

2. ที่ดินที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ จะออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้จะต้องอยู่ในเงื่อนไข ดังนี้

– ที่เขา ที่ภูเขา และพื้นที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศหวงห้ามตาม มาตรา 9 (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ครอบครองที่ดินจะต้องมีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมาย ที่ดิน

– ที่เกาะ จะต้องมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1 ) ใบจอง, ใบเหยียบย่ำ, น.ค. 3, ก.ส.น. 5 หรือเป็นที่ดินที่คณะกรรมการจัดที่ดิน แห่งชาติได้อนุมัติให้จัดแก่ประชาชน หรือเป็นที่ดินซึ่งได้มีการจัดหาผลประโยชน์ตามมาตรา 10 และ 11 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินโดย คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติแล้ว

– เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ พื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่า หรือพื้นที่ที่ได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวร จะต้องมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1 ) หรือได้ออกใบจอง, ใบเหยียบย่ำ, ตราจอง ไว้ก่อนการสงวนหรือ หวงห้ามที่ดิน

– ที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ผู้ครอบครองที่ดินจะต้องมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1), ใบแจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดิน ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน หรือมีใบจอง, ใบเหยียบย่ำ หรือมีหลักฐาน น.ค. 3, ก.ส.น. 5 ก่อนประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน

– พื้นที่ที่มีความลาดชันโดยเฉลี่ยร้อยละ 35 ขึ้นไป ตามที่กำหนดไว้ในนโยบายป่าไม้ แห่งชาติ ผู้ครอบครองที่ดินจะต้องมีสิทธิครอบครองมาก่อน การบังคับใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน (ก่อน 1 ธันวาคม 2497) หรือมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น มีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1)

https://nam.dol.go.th
———————————————–

สปก.ก็มีกฎหมายของสปก.

พรบ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร พ.ศ. ๒๕๑๘

มาตรา ๒๖(๒) เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินใช้บังคับในท้องที่ใดแล้ว

(๑) ถ้าในเขตปฏิรูปที่ดินนั้นมีที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แต่พลเมืองเลิกใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น หรือได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันก็ดี หรือพลเมืองยังใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นอยู่ หรือยังไม่เปลี่ยนสภาพจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เมื่อได้จัดที่ดินแปลงอื่นให้พลเมืองใช้ร่วมกันแทน โดยคณะกรรมการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็ดี ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินนั้นมีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับที่ดินดังกล่าว โดยมิต้องดำเนินการถอนสภาพตามประมวลกฎหมายที่ดิน และให้ ส.ป.ก. มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้

(๒) ถ้าในเขตปฏิรูปที่ดินนั้นมีที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือที่ดินที่ได้สงวนหรือหวงห้ามไว้ตามความต้องการของทางราชการ เมื่อกระทรวงการคลังได้ให้ความยินยอมแล้ว ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินนั้นมีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับที่ดินดังกล่าว โดยมิต้องดำเนินการถอนสภาพตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ และให้ ส.ป.ก. มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้

(๓) ถ้าในเขตปฏิรูปที่ดินนั้นมีที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดินและที่ดินนั้นอยู่นอกเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี ให้ ส.ป.ก. มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้

(๔) ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น และให้ ส.ป.ก. มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม (๔) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ และมีอำนาจในการให้เช่าที่ดินอันเป็นป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวได้ และให้ค่าเช่าที่ได้มาตกเป็นของกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
———————————————–

และกฎหมายการปกครองส่วนท้องถิ่นเรื่องการก่อสร้างอาคารหรือถาวรวัตถุ ต้องอยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร
ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตาม ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร

ในเขตเทศบาลของจังหวัดอื่น ให้เป็นไปตามเทศบัญญัติ ของจังหวัดนั้น หรือในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดในจังหวัดใด ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ องค์การบริหารนั้นๆ

การก่อสร้างอาคารหรือถาวรวัตถุ ที่เป็นวัด ต้องปฏิบัติตาม กฎกระทรวง ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๗)

ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
หมวด ๑ การสร้างวัด

ข้อ ๑ บุคคลในประสงค์จะสร้างวัด ให้ยื่นคำขออนุญาตต่อนายอำเภอท้องที่ที่จะสร้างวัดนั้น

พร้อมด้วยรายการและเอกสาร ดังต่อไปนี้

(๑)หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินที่จะยกให้วัดและที่ดินนั้นต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า ๖ ไร่

(๒) หนังสือสัญญา ซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามกฎหมายทำกับนาอำเภอ แสดงความจำนงจะให้ที่ดินดังกล่าวใน (๑) เพื่อสร้างวัด

(๓) จำนวนเงินและสัมภาระที่จะใช้ในการสร้างวัดในระยะเริ่มแรก และต้องมีราคารวมกันไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาท

(๔) แผนที่แสดงเขตที่ตั้งวัด ประกอบด้วยเขตติดต่อข้างเคียง และระยะทางระหว่างวัดที่จะสร้างขึ้นกับวัดอื่นโดยรอบ และให้แสดงแผนผังสิ่งก่อสร้างของวัดตามความเหมาะสมาของสภาพที่ดินโดยอาศัยแผนผังแบบ ก. แบบ ข. หรือแบบ ค. ท้ายกฎกระทรวงนี้เป็นหลักเท่าที่จะทำได้

(๕) การกำหนดเวลาที่จะสร้างวัดให้แล้วเสร็จตามแผนผังนั้น

ข้อ ๒ วัดที่จะสร้างขึ้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้ สมควรเป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์

(๒) เป็นประโยชน์แก่ประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในรัศมี ๒ กิโลเมตร โดยเฉลี่ยวัดละไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ คน เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็น

(๓) มีเหตุผลที่เชื่อได้ว่า เมื่อตั้งขึ้นแล้วจะได้รับการบำรุงส่งเสริมจากประชาชน

(๔) ตั้งอยู่ห่างจากวัดอื่นไม่น้อยกว่า ๒ กิโลเมตร เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็น

ข้อ ๓ เมื่อนายอำเภอได้รับคำขออนุญาตสร้างวัด และพิจารณาเห็นสมควรแล้ว ให้นำปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ แล้วเสนอเรื่องและความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด

เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเห็นสมควรแล้ว ให้นำปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดแล้วส่งเรื่องและความเห็นไปยังกรมการศาสนา
ในการพิจารณาคำขออนุญาตสร้างวัด กรมการศาสนาอาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงแก้ไขแผนผัง หรือระงับเรื่องการขออนุญาตสร้างวัดได้ตามที่เห็นสมควร

เมื่อกรมการศาสนาพิจารณาเห็นสมควรให้สร้างวัดได้แล้ว ให้รายงานกระทรวงศึกษาธิการ

เพื่อขอรับความเห็นชอบ แล้วนำเสนอมหาเถรสมาคม
เมื่อมหาเถรสมาคมพิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว ให้กรมการศาสนาออกหนังสืออนุญาตให้สร้างวัด
———————————————–

ตอบข้อ ๔

เหตุที่เป็นคดีความเกิดขึ้นมาไม่ใช่เพราะทำตามระเบียบ แต่เพราะละเมิดระเบียบ ละเมิดกฎหมาย จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ที่สาธารณะซึ่งเป็นของคนไทยทุกคน ไม่ใช่สมบัติของใครคนใดกลุ่มใด

ตอบข้อ ๕

อย่าพยายามเบี่ยงประเด็น ถามใจตัวเองดูว่า รู้อยู่แล้วแต่แรกใช่ไหมว่าเขาไปบุกรุกที่สาธารณะเพื่อจะยึดครองเป็นสมบัติของตนและพวก

เมื่อรู้ว่าตัวเองไม่มีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของได้ เมื่อเขามาทวงคืนก็ต้องพร้อมที่จะคืนให้ ไม่ใช่หน้าด้านแถกแถ สารพัดอ้างทั้งที่มันผิด

ตอบข้อ ๖

มีกฎหมายข้อไหนฉบับไหนย้อนแยงกันบ้าง จากที่ยกมาเทียบให้ดู มีแต่พวกแถกแถจนสีข้างแดงเถือก หัวถลอกเท่านั้นแหละที่อ้างว่าขัดแย้ง

ส่วนมาตราที่ ๓๑ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ไม่เห็นมีข้อความใดที่แสดงเจตนาทำร้ายวัดป่าที่เรียกว่า อรัญวาสี หรือวัดบ้านที่เรียกคามวาสีเลย

และไอ้ที่ออกมาแถว่ารัฐเข้าไปทุบไปรื้อสิ่งปลูกสร้างของวัด ขอถามว่ามันผิดกฎหมายหรือเปล่าล่ะ หรือไม่สนใจว่ากฎหมายว่าอย่างไร ขอแค่กูและพวกพ้องได้ประโยชน์ก็พอ ไอ้วิธีคิดแบบนี้มันโจรชัดๆ
กฎหมายป่าไม้ กฎหมายที่ดิน เขามีเอาไว้ก็เพื่ออนุรักษ์รักษาทรัพยากรของแผ่นดินเอาไว้ให้เป็นสมบัติของทุกคนที่อยู่อาศัยในแผ่นดินนี้ มิใช่ปล่อยให้กลุ่มใดต้องการจะยึดครองเอาตามอำเภอใจโดยไม่สนว่าคนรุ่นหลังเขาจะคิดอย่างไร

รู้สึกเพจของลัทธิทำจนกลายพวกนี้พยายามปลุกระดมให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ ด้วยการชี้นำ แหกตา มอมเมา ครอบงำคนในสังคมให้เห็นว่ารัฐกำลังกลั่นแกล้งรังแกพระ รังแกวัด กลั่นแกล้งรังแกคนสุจริต สงสัยต้องจัดให้ซักดอกสองดอก ตามมาตรา ๔๔ ที่รัฐบาลประกาศใช้เกี่ยวกับภัยพระศาสนา จะได้รู้สำนึกกันบ้าง

พุทธะอิสระ