ทำไมต้องมีสิกขา 3 (ศีล สมาธิ ปัญญา) ทำไมต้องอาศัยศีล สมาธิ สติ และปัญญาด้วย จึงจะบรรลุธรรมได้
๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
ก็เพราะศีล มันช่วยรักษากาย วาจา ให้ปกติ ในขณะที่เราต้องการจะเจริญธรรม ปฏิบัติธรรม ถ้ากาย วาจา วุ่นวาย สับสน สับส่าย ฟุ้งซ่าน ไม่ผ่อนความหยุดนิ่ง การปฏิบัติธรรมนั้น ก็จะไม่บรรลุผลหรือจะเป็นไปไม่ได้เลย
แล้วกาย วาจาจะสามารถสงบนิ่งเป็นปกติได้ก็จำเป็นจะต้องฝึกรักษาศีล คือ รักษากาย วาจาให้ปกติอยู่ต่อเนื่องเนืองนิตย์ พอถึงเวลาที่เราต้องการจะปฏิบัติธรรม หรือ ต้องการศึกษาค้นหาพระธรรม กายวาจาของเราก็จะได้พร้อมมูลต่อการเข้าถึงธรรมอย่างไม่อยากเย็น
พอพูดถึงเรื่องศีล หลายคนหรือบางคนอาจจะรู้สึกหงุดหงิด สะอิดสะเอียน หวาดสะดุ้งกลัว หรือ ขยะแขยง เบื่อหน่าย เพราะคิดว่า ศีลเป็นข้อจำกัดความอิสระและสิทธิ เป็นความบีบคั้นหรือบังคับ
ซึ่งแท้จริงแล้ว ศีล คือ การทำให้กายปกติ วาจาปกติ พร้อมที่จะเข้าหมู่ เข้าคณะ เป็นที่ยอมรับ อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข โปร่งเบาสบายและร่มเย็นต่างหากเล่า
ส่วนคนที่คิดว่า ศีล เป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย อึดอัด จำกัดสิทธิ์ แล้วก็ขยะแขยง สะดุ้งกลัว นั้นก็เพราะว่าคนผู้นั้นไม่คุ้นเคยต่อการทำชีวิตของตนให้เป็นคนปกติ ให้มีวาจาปกติ แต่กลับคุ้นเคยต้องการใช้กาย ใช้วาจา ทำและพูดแต่ในสิ่งผิดปกติ แล้วก็ไปล่วงเกิน ก้าวก่ายสิทธิ์อันชอบธรรม หรือ ความสงบสุขของสังคม ว่าที่จริงแล้วการปฏิบัติในหลักของศีล ไม่จำเป็นจะต้องมานั่งท่องปาณาติปาตาจนถึงสุราเมระยะ คือข้อ ๑ จนถึงข้อ ๕ แค่เราทำกาย วาจาของเราให้เป็นปกติได้ แม้เราอาจจะไม่รู้เลยว่าศีลข้อ ๑ จนถึงข้อ ๕ มีความหมายอย่างไร แต่กายวาจาของเราสงบ สำรวมเป็นปกติ ก็ชื่อว่ารักษาศีลได้ครบทั้ง ๕ ข้อแล้ว
ส่วนผู้ที่จะปฏิบัติสมาธิ ก็มักจะคิดว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย มีกฎเกณฑ์ ตั้งกติกาบังคับบัญชาให้ต้องอยู่นิ่งๆ นั่งนิ่งๆ อยู่เฉยๆ เพื่อเข้าถึงความสงบที่เรียกว่าสมาธิ หรือความตั้งมั่นที่เรียกว่าสมาธิอันแนวแน่
แต่แท้จริงแล้วการเข้าถึงสมาธิ มันเริ่มมาจากการทำกิจกรรมการงานทุกอย่าง เรื่องที่ทำ คำที่พูด สูตรที่คิด อย่างจดจ่อ จับจ้อง จริงจัง ตั้งใจ ตั้งมั่น แล้วก็แนวแน่ต่อการงานที่เรากำลังทำต่างหากเล่า
เพราะฉะนั้น การงานทุกอย่าง การดำรงชีวิตทุกชนิด ทุกอิริยาบถเราสามารถสร้างให้เกิดสมาธิได้ โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องมานั่งนิ่งๆ ไม่ไหวติง ดุจดังหุ่น
ถ้าถึงขั้นนั้นถามว่าผิดหรือไม่
ก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่สำหรับผู้ฝึก ผู้เข้าถึงองค์คุณแห่งสมาธิ อย่างช่ำชอง เชี่ยวชาญ ยิ่งใหญ่ เขาจะเริ่มต้นจากการมีชีวิต ทำการงาน มีอิริยาบถอยู่กับคำว่าศีลและสมาธิอยู่ตลอดเวลาต่างหากเล่า
นอกจากจะต้องการเข้าถึงองค์ฌานที่เข้มข้น เข้มแข็ง แล้วไปเกิดเป็นพรหมนั้นก็แล้วแต่ความชอบ ความถนัดของแต่ละคน
ยิ่งสติด้วยแล้ว ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความหมายแห่งความเป็นมนุษย์ที่จะต้องสะอาด งดงาม สง่า องอาจได้มากยิ่งขึ้น
มนุษย์คนใดปฏิเสธสติ ก็เท่ากับปฏิเสธการเป็นมนุษย์ ปฏิเสธศักยภาพความพัฒนาที่มนุษย์ควรจักได้ ควรจักเข้าถึง
ด้วยเพราะศีลก็ดี ระเบียบหลักปฏิบัติก็ดี กฎเกณฑ์กติกาและการงานใดๆ ก็ดี หากไม่ใช้สติคอยกระตุ้นเตือน ให้ระลึกรู้อยู่เสมอๆ ทุกสิ่งที่ทำ ในทุกคำที่พูด ในทุกสูตรที่คิด สิ่งที่ทำ พูด คิดนั้นย่อมต้องผิดพลาด บกพร่อง ไม่ถูกต้องตามเป้าประสงค์ที่วางไว้
แม้กิริยา อาการ พฤติกรรมของความเป็นมนุษย์ ถ้าขาดสติคอยกำกับ ควบคุม ชีวิต จิตวิญญาณของบุคคลนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับลมเพลมพัด หาทิศทางที่แน่นอนมิได้
สุดท้ายสิ่งที่ได้ คือ คนบ้า
สติจึงเป็นอุปการคุณของมนุษย์ผู้ปฏิบัติในศีล หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สติ เป็นอุปการคุณของมนุษย์ผู้มีกาย วาจา เป็นปกติก็ได้
และหากยิ่งต้องการให้การงานที่ทำตั้งมั่น แนวแน่ จริงจัง สำเร็จประโยชน์หากขาดสติที่คอยกระตุ้นเตือนให้ระลึกรู้อยู่เสมอว่า การงานที่ทำอยู่นั้น มันยังตั้งมั่นอยู่ในวิถีแห่งความถูกต้อง ตรงแนวอย่างแน่วแน่อยู่หรือเปล่า
หากการงานนั้นๆ ยังไม่ถูกต้อง ไม่ตรงแนว ต่อเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ ก็ต้องเริ่มต้นใหม่หรือหาวิธีแก้ไข ปรับปรุง เหล่านี้เป็นผลจากการมีสติคอยกำกับดูแลทั้งนั้น
เช่นนี้สติจึงได้ชื่อว่า เป็นอุปการคุณต่อความเป็นมนุษย์ เป็นอุปการคุณต่อการมีชีวิตอย่างปกติสุข
เป็นอุปการคุณต่อความมั่นคงของการมีชีวิตและการงานที่เรียกว่า มีสติในการมีชีวิตและการทำงาน
สุดท้าย คือปัญญาหรือสัมปชัญญะ อันได้แก่ ความรู้ตัว ทั่วพร้อม รู้รอบขอบชัดเจน รู้จริงจังแจ่มแจ้ง รู้โดยมิต้องจำ แต่เข้าใจอย่างซาบซึ้งตรึงใจ
หากจะถามว่าแล้วปัญญาจะได้มาอย่างไรจากไหน
ยิ่งปัญญาด้วยแล้ว หลายคนคิดว่า ปัญญา จะต้องได้มาจากการไปนั่งเฝ้าฟัง เรียนรู้ศึกษาจากตำรับตำราหรือคำอบรมสั่งสอนของครูบาอาจารย์ แต่ฝ่ายเดียว แท้ที่จริงแล้ว แค่เรารู้จักตั้งข้อสังเกต ตั้งข้อสงสัย และมีสมมุติฐานที่ได้มาจากการสังเกตและสงสัยของเรา นั้นคือกระบวนการก่อกำเนิดเกิดปัญญาเบื้องต้นแล้ว
แต่ถ้าเมื่อใดที่เราตาเห็น หูฟัง จมูกดม ลิ้นรับ กายสัมผัส แล้วไม่รู้จักสังเกต ไม่รู้จักสงสัย นั้นเป็นการทำงานของศรัทธาหรือความเชื่อโดยที่ไม่ใช้ปัญญาพิจารณา
ส่วนที่ว่าการเป็นผู้ได้ยินมาก ได้ฟังมาก ได้คิดมาก เป็นต้นทางให้เกิดปัญญา นั้นก็มิใช่เรื่องผิด แต่หากเอาแต่ฟัง เอาแต่คิดโดยไม่ลงมือกระทำ นั้นก็มิใช้ปัญญาของตนอยู่ดี
ฉะนั้นท่านผู้ปรารถนาจะฝึกให้เจริญปัญญา หรือก่อกำเนิดเกิดปัญญา ก็ควรใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน ประจำเวลาหรือประจำชีวิต แม้อิริยาบถทุกชนิด ยิน เดิน นั่ง นอน ขี้ เยี่ยว ตด เราสามารถสร้างให้ก่อกำเนิดเกิดปัญญาขึ้นได้ทั้งหมดด้วยการตั้งข้อสงเกตุ ตั้งข้อสงสัย แล้วสรุปลงตรงสมมุติฐานอยู่ต่อเนื่อง เนืองๆ
เท่านี้ก็ชื่อว่า เป็นผู้เจริญปัญญา โดยที่ไม่ต้องเอาแต่อาศัยปัญญาของผู้อื่น
แต่ปัญญาเหล่านั้นก็ยังจัดว่าเป็น โลกียปัญญา ถ้าจะให้กลายเป็น โลกุตรปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาที่รู้อรรถ รู้ธรรม เข้าใจในหลักแห่งธรรมชาติ ธรรมะ แม้อริยสัจ ๔ อนัตตลักขณสูตร หรือความเป็นจริงเที่ยงแท้ที่ปรากฏอยู่ ทั้งภายในกาย ภายนอกกาย เช่นนี้เรียกว่า โลกุตรปัญญา หรือ ปรมัตถ์ปัญญา
แต่ปัญญาที่เราตั้งข้อสังเกต ตั้งข้อสงสัย แล้วเกิดสมมุติฐานในการดำรงชีวิต ในอิริยาบถทั้ง ๔ นั้นชื่อว่า โลกียปัญญา หรือสมมุติบัญญัติปัญญาเท่านั้น
ฉะนั้น ท่านผู้ปรารถนา เจริญปัญญา สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา แม้ทุกลมหายใจก็สามารถตั้งข้อสังเกต ตั้งข้อสงสัย สร้างสมมุติฐานขึ้นมาได้เหมือนกัน
หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจหลักสิกขา ๓ ที่องค์พระบรมศาสดาทรงสั่งสอน แก่สิ่งมีชีวิต และทำให้สิกขาทั้ง ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา กลายเป็นสิ่งมีชีวิตขึ้นมาได้ ควบคู่กับการดำรงชีวิตของเรา
ปัญญาจึงเป็นเครื่องชำแรก แจกแจง แยกแยะ ถูกผิด ดีชั่ว ชอบธรรม ในหลักธรรมที่เราค้นคว้าวิจัยวิจารณ์นั้นๆ ให้อย่างถูกตรง ถูกต้อง เหมาะสมต่อกระบวนการศึกษาเพื่อจะให้รู้แจ้งในธรรม
สรุปรวมความ
ศีล เป็นการเตรียมพร้อมกาย วาจา ให้เข้าถึงองค์คุณแห่งสมาธิ
สมาธิ คือ ความตั้งมั่นในการงาน แม้ที่สุดในหัวข้อธรรมที่เราต้องการเข้าถึงอย่างตั้งมั่น
สติ คือ คุณธรรมเครื่องช่วย เครื่องสนับสนุน เครื่องอุปการะ ต่อสิ่งทั้งปวงที่เป็นองค์ประกอบของชีวิต
ปัญญา เป็นเครื่องวิจัยแจกแจง วินิจพิจารณา วิเคราะห์ใคร้ครวญต่อการดำเนินชีวิตว่าถูกต้อง ชัดเจน แจ่มชัด ตรงต่อเป้าประสงค์ และสอดคล้องต่อทำนองคลองธรรมที่ทำให้พร้อมที่จะอยู่ร่วมกับมนุษย์และสัตว์บนโลกใบนี้ และหากปัญญากล้าแข็งพอก็จะทำให้หลุดพ้นจากโลกใบนี้ได้
สิกขา 3 และสติ จึงเป็นความจำเป็นสำหรับผู้ที่จะเข้าถึงสาระของการมีชีวิต เข้าถึงธรรมอันพรั่งพร้อมให้รู้แจ้งในความจริงของชีวิต ของธรรมชาติ ดังนี้เอง
เจริญธรรม
พุทธะอิสระ
——————————————–