ทันเหตุการณ์กับหลวงปู่พุทธะอิสระ
งัดเดลินิวส์ปี38เคสยันตระ เทียบเคียง’เอาผิดธัมมชโย’ | เดลินิวส์
๑๖ มีนาคม ๒๕๕๙
„งัดเดลินิวส์ปี38เคสยันตระ เทียบเคียง’เอาผิดธัมมชโย’ “ไพบูลย์” งัดหลักฐานเด็ดจากนสพ.เดลินิวส์ปี 38 กรณีพระยันตระ เทียบเคียง “ธัมมชโย” ยันมหาเถรสมาคมมีอำนาจพิจารณาดำเนินการตามพระลิขิตของ “พระสังฆราช” ชี้ถ้าไม่ทำถือว่าละเว้น วันพุธที่ 16 มีนาคม 2559 เวลา 14:48 น. จากกรณีที่มีการยื่นหนังสือคำร้องต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 15 ก.พ. เรื่องขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชและประธานกรรมการมหาเถรสมาคม รวมถึงการยื่นหนังสือคำร้องต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 16 ก.พ. เรื่องขอให้วินิจฉัยการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของมหาเถรสมาคม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในกรณีพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช นั้น ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 16 มี.ค. นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ นพ.ดร.มโน เลาหวณิช อดีตกรรมการฯ ร่วมกันแถลงข่าวว่า กรณีมีพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช ที่ “มหาเถรสมาคม” อ้างว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจจะดำเนินการ ถือเป็นการอ้างที่ไม่ถูกต้อง เพราะจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามหาเถรสมาคมมีอำนาจที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ เนื่องจากตนพบหลักฐานข้อเท็จจริงและแนวทางที่เคยปฏิบัติไว้ในอดีต ดังนี้ 1.สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช ได้ลงพระนามประกาศใช้กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 (พ.ศ.2538) ว่าด้วยการให้พระภิกษุสละสมณเพศ ณ วันที่ 22 มีนาคม 2538 และอีก 5 วันต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม 2538 มหาเถรสมาคมได้มีการประชุมครั้งพิเศษ 3/2538 ที่วัดบวรนิเวศวิหาร (ตามที่ปรากฏเป็นข่าวจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับลงวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2538 หน้าที่ 19) คณะกรรมการของมหาเถรสมาคม ซึ่งประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นองค์ประธาน และกรรมการมส.อีก 11 รูป ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า “พระวินัย อมโร” ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยหลายเรื่อง จึงลงมติให้ “พระวินัย อมโร” สละสมณเพศต้องสึกภายใน 3 วัน นับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบวินิจฉัยนี้ ทั้งนี้ไม่กระทบต่อการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ ให้เลขาธิการมหาเถรสมาคมดำเนินการตามมตินี้ ดังนั้นจึงเห็นว่า มหาเถรสมาคมมีอำนาจในการพิจารณาให้พระวินัย อมโร หรือ “พระยันตระ” สละสมณเพศได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนการลงนิคหกรรม 2.จากการใช้อำนาจของมหาเถรสมาคมตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21(พ.ศ.2538) ลงมติให้พระยันตระสละสมณเพศ ในการกระทำผิดครุกาบัติได้นั้น ย่อมนำมาใช้กับกรณี “พระธัมมชโย” ที่กระทำผิดครุกาบัติได้เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชได้มีพระลิขิต แล้วส่งไปให้มหาเถรสมาคมพิจารณาในวันที่ 10 พฤษภาคม 2542 มหาเถรสมาคมมีอำนาจและหน้าที่ที่จะนำขึ้นมาพิจารณาลงมติให้พระธัมมชโยว่าต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตหรือไม่ แต่การที่บ่ายเบี่ยงว่าไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการตามพระลิขิตนั้น อาจจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือพระธัมมชโยไม่ต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิต “ได้จัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมนี้ไปให้ดีเอสไอและสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อพิจารณาเพิ่มเติมกับคำร้องที่ยื่นไปก่อนหน้านี้แล้ว”นายไพบูลย์กล่าว“
งัดเดลินิวส์ปี38เคสยันตระ เทียบเคียง’เอาผิดธัมมชโย’ | เดลินิวส์
„สำหรับเนื้อหาข่าวจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับลงวันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2538 หน้า 19 มีรายละเอียดตอนหนึ่งว่า… ลงมติให้สละสมณเพศ ด้านวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อเวลา 14.00 น. คณะกรรมการของมหาเถรสมาคม ซึ่งประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นองค์ประธาน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา สมเด็จพระวันรัต วัดโสมนัสวิหาร สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี วัดราชบพิธ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดนรนาถศูนหริการาม พระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทธาวาส พระสมเมธาธิบดี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ พระธรรมสิริสารเวที วัดบวรนิเวศวิหารพระธรรมวโรดม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระวิสุทธาธิบดี วัดสุทัศน์เทพวราราม พระธรรมปัญญาจารย์ วัดมกุฎกษัตริยาราม พระธรรมธีรราชมหามุนี วัดยานนาวา และพระธรรมกิตติวงศ์ วัดราชโอรสราม การประชุมสิ้นสุดลง เมื่อเวลา 19.20 น. เจ้าหน้าที่ของกรมการศาสนาได้นำใบแถลงการณ์ออกมาแจกจ่ายให้สื่อมวลชน โดยแถลงการณ์ดังกล่าวได้ระบุว่า ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งพิเศษ 3/2538 วันที่ 27 มีนาคม 2538 ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า พระวินัย อมโร ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยหลายเรื่อง เช่น นำบัตรเครดิตเข้าไปใช้จ่ายในสถานบริการทางเพศ ที่ประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์หลายครั้งพำนักอยู่ในบ้านหลังเดียวกับนางจันทิมา มายะรังษี ที่ประเทศยูโกสลาเวีย นาน 8 เดือน ทั้งถูกกล่าวหาและถูกฟ้องร้องว่า ได้ประพฤติผิดพระธรรมวินัยถึงขั้น “อันติมวัตถุ” กับ “มาตุคาม” หลายรายทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยอื่นอันเป็น “โลกวัชชะ” อีกหลายเรื่อง ทั้งความประพฤตินั้นเมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ที่ล่วงมาแล้ว หากให้ดำรงเพศบรรพชิตต่อไป จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนา และการปกครองของคณะสงฆ์มหาเถรสมาคมพิจารณาความผิดที่ปรากฏแน่ชัดข้างต้นแล้ว จึงลงมติให้พระวินัย อมโร สละสมณเพศต้องสึกภายใน 3 วัน นับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบวินิจฉัยนี้ ทั้งนี้ไม่กระทบต่อการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ ให้เลขาธิการมหาเถรสมาคมดำเนินการตามมตินี้ ส่ง”พศ.”ร่วมสังเกตการณ์ ดีเอสไอสอบปากคำ “สมเด็จช่วง” วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมขอเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวกับการรับครอบครองรถยนต์โบราณ ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ว่า สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) อาจจะต้องไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย เนื่องจากเป็นฝ่ายเลขาธิการของมหาเถระสมาคม (มส.) “ส่วนเรื่องการให้ปากคำต้องรายงานมายังรัฐบาลด้วยหรือไม่นั้น ผมไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของดีเอสไอ และการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า สถานะยังเหมือนเดิม”นายสุวพันธุ์กล่าว“
ขอขอบคุณ เดลินิวส์