คบคนพาล พาลพาให้หาผิด
๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙
เมื่อฉันเขียนบทความเรื่องโทษแห่งการคบคนพาลส่งให้กองเลขาโพสลงในเฟส
วันนี้เลยนึกขึ้นได้ว่าในพระธรรมวินัยนี้รังเกียจคนพาล จนถึงขนาดแม้มีโอกาสจะได้พรจากองค์อินทร์ กลับไม่ขอลาภ ไม่ขอยศ ไม่ขออำนาจ ไม่ขอความเจริญ
แต่ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เลือกที่จะขอพรให้ตนอย่าได้พบคนพาล ให้ได้พบแต่บัณฑิต
ดังตัวอย่างที่มีมาใน
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
อกิตติชาดก เรื่องอกิตติดาบสขอพรท้าวสักกะ
[๑๘๐๖] ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูต ทรงเห็นอกิตติดาบสผู้ยับยั้งอยู่ จึงได้ตรัส
ถามว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านปรารถนาสมบัติอะไร ถึงยับยั้งอยู่ผู้เดียว ในถิ่นอันแห้งแล้ง?
[๑๘๐๗] ดูกรท้าวสักกะ การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ อนึ่ง ความแตกทำลายแห่ง
ร่างกาย และความตายอย่างหลงใหล ก็เป็นทุกข์ เพราะเหตุนั้นอาตมภาพจึงยับยั้งอยู่ ณ ที่นี้.
[๑๘๐๘] ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้ากล่าวนี้ เป็นถ้อยคำสมควร
เป็นสุภาษิต โยมขอถวายพรแก่ท่านตามที่ท่านมีใจปรารถนา.
[๑๘๐๙] ดาบสเมื่อได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า ดูกรท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง ถ้ามหาบพิตรจะทรงประทานพร
แก่อาตมภาพ ชนทั้งหลายได้บุตร ภรรยา ทรัพย์ ข้าวเปลือก และสิ่งของอันเป็นที่รักทั้งหลาย แล้วยังไม่อิ่มด้วยความโลภใด ความโลภนั้นอย่าพึงมีในอาตมภาพเลย.
[๑๘๑๐] ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้ากล่าวนี้ เป็นถ้อยคำสมควร
เป็นสุภาษิต โยมขอถวายพรแก่ท่านตามที่ท่านมีใจปรารถนา.
[๑๘๑๑] ดาบสนั้นจึงกล่าวว่า ดูกรท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง ถ้ามหาบพิตรจะทรงประทานพร
แก่อาตมภาพ นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส กรรมกร ย่อมเสื่อมสิ้นไปด้วยโทสะใด โทสะนั้นอย่าพึงมีในอาตมภาพเลย.
[๑๘๑๒] ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้ากล่าวนี้ เป็นถ้อยคำสมควร
เป็นสุภาษิต โยมขอถวายพรแก่ท่านตามที่ท่านมีใจปรารถนา.
[๑๘๑๓] ดูกรท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง ถ้ามหาบพิตรจะทรงประทานพร
แก่อาตมภาพ อาตมภาพไม่พึงเห็น ไม่พึงได้ฟังคนพาล ไม่พึงอยู่ร่วมกับคนพาล ไม่ขอกระทำ และไม่ขอชอบใจการเจรจาปราศรัยกับคนพาล.
[๑๘๑๔] ข้าแต่ท่านกัสสปะ คนพาลได้กระทำอะไรให้แก่ท่านหรือ ขอท่านจงบอก
เหตุนั้นแก่โยม เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ปรารถนาเห็นคนพาล?
[๑๘๑๕] คนพาลผู้มีปัญญาทราม ย่อมแนะนำสิ่งที่ไม่ควรจะแนะนำ ย่อมชักชวนใน
สิ่งที่ไม่ใช่ธุระ การแนะนำชั่วเป็นความดีของเขา คนพาลนั้นถึงจะ
พูดดีก็โกรธ เขามิได้รู้วินัย การไม่เห็นคนพาลนั้นเป็นความดี.
สมควรเป็นสุภาษิต โยมขอถวายพรแก่ท่านตามที่ท่านมีใจปรารถนา.
[๑๘๑๗] ดูกรท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง ถ้ามหาบพิตรจะทรงประทานพร
แก่อาตมภาพ อาตมภาพพึงขอเห็น ขอฟังนักปราชญ์ ขออยู่ร่วมกันกับนักปราชญ์ ขอกระทำ และขอชอบใจการเจรจาปราศรัยกับนักปราชญ์.
[๑๘๑๘] ข้าแต่ท่านกัสสปะ นักปราชญ์ได้กระทำอะไรให้แก่ท่านหรือ ขอท่านจง
บอกเหตุนั้นแก่โยม เพราะเหตุไร ท่านจึงปรารถนาเห็นนักปราชญ์?
[๑๘๑๙] นักปราชญ์ย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ ย่อมไม่ชักชวนในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ
การแนะนำดีเป็นความดีของนักปราชญ์นั้น นักปราชญ์นั้น ผู้อื่นกล่าวชอบก็ไม่โกรธ ย่อมรู้จักวินัย การสมาคมคบหากันกับนักปราชญ์นั้นเป็นความดี.
[๑๘๒๐] ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้ากล่าวนี้ เป็นถ้อยคำสมควร
เป็นสุภาษิต โยมขอถวายพรแก่ท่านตามที่ท่านมีใจปรารถนา.
[๑๘๒๑] ดูกรท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง ถ้ามหาบพิตรจะทรงประทานพร
แก่อาตมภาพ เมื่อราตรีสว่างแจ้ง พระอาทิตย์อุทัยขึ้นแล้ว ขออาหารอันเป็นทิพย์ และยาจกผู้มีศีล พึงปรากฏขึ้น เมื่ออาตมภาพให้ทานอยู่ขอให้ศรัทธาของอาตมภาพไม่พึงเสื่อมสิ้นไป ครั้นให้ทานแล้วขอให้อาตมภาพไม่พึงเดือดร้อนในภายหลัง เมื่อกำลังให้อยู่ ก็ขอให้อาตมภาพพึงยังจิตให้เลื่อมใส ดูกรท้าวสักกะ ขอมหาบพิตรทรงประทานพรนี้แก่อาตมภาพเถิด.
[๑๘๒๒] ข้าแต่ท่านกัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้ากล่าวนี้ เป็นถ้อยคำสมควร
เป็นสุภาษิต โยมขอถวายพรแก่ท่านตามที่ท่านมีใจปรารถนา.
[๑๘๒๓] ดูกรท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง ถ้ามหาบพิตรจะทรงประทานพร
แก่อาตมภาพ มหาบพิตรอย่าพึงเข้ามาใกล้อาตมภาพอีกเลย ดูกรท้าวสักกะ ขอมหาบพิตรทรงประทานพรนี้แก่อาตมภาพเถิด.
[๑๘๒๔] ท้าวสักกะเทวะราชาพอได้สดับคำขอเช่นนั้นของดาบสจึงรู้สึกแปลกใจ จึงกล่าวแก่ดาบสว่า นรชาติหญิงชายทั้งหลาย ย่อมปรารถนาจะเห็นโยมด้วยวัตรจริยาเป็น
อันมาก เพราะเหตุไรหนอ การเห็นโยมจึงเป็นภัยแก่ท่าน?
[๑๘๒๕] อาตมภาพเห็นเพศเทวดาเช่นพระองค์ ผู้สำเร็จด้วยสิ่งที่ต้องประสงค์
ทุกอย่างแล้ว ก็จะพึงประมาท ทำความเพียรปรารถนาตำแหน่งท้าวสักกะ การเห็นมหาบพิตรจึงเป็นภัยแก่อาตมภาพ.
จบ อกิตติชาดกที่ ๗.
————————————————
วันพระนี้ที่หยิบยกพระชาดกนี้ขึ้นมาด้วยมุ่งหวังว่าจะสามารถเปลื้องพันธนาการของคนหลง คนที่กำลังจะมืดบอดทั้งหลาย ให้ได้เข้าใจในพระธรรมวินัยขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ถ่องแท้ได้มากขึ้น จักได้ไม่หลงเชื่อคนพาลสันดานหยาบจนพาไปหาผิด
ดังที่เป็นอยู่เช่นทนายประสิทธิ์ สันจิตร นายอัยย์ เพชรทอง นายองอาจ ธรรมนิทา พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และจะตามมาอีกเป็นเข่งที่ต้องคดีความ มีโทษถึงติดคุก
ก็เพราะคบหากับคนพาลเช่นเจ้าลัทธิธัมมชโย
เมื่อเจ้าลัทธิเป็นคนพาลโดยสันดาน ผู้ที่คบหาจึงต้องมัวหมองเสียหาย
โบราณท่านจึงสอนว่า
คบคนพาล พาลพา ไปหาผิด
คบบัณฑิต บัณฑิตพา ไปหาผล
คบคนชั่ว พาตัว อับจน
จักคบคน จึงต้องเลือก ไม่เปลืองตัว
พุทธะอิสระ